ศัลยา ประชาชาติ : “ประยุทธ์” ยึดเวที “อาเซียนซัมมิต” โชว์วิสัยทัศน์ขึ้นชั้นอินเตอร์ ชูภาพ “นายกฯ” จากเลือกตั้ง

การประชุมสุดยอดอาเซียน “ASEAN Summit” ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ภายใต้กรอบแนวคิด “ร่วมแรง ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว

แม้มีหลายประเด็นที่ต้องสานต่อเพื่อผลักดันอาเซียนให้มีบทบาทมากขึ้นในการเป็นแกนกลางในภูมิภาค และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

ก่อนจะถึงไฮไลต์ของงาน การแถลงข่าวผลการประชุมสุดยอดอาเซียนโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในที่ประชุม คือการเปิดเวทีให้ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค โชว์วิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นสำคัญๆ ทั้งที่เกี่ยวกับอาเซียน ประเด็นร้อนในระดับภูมิภาคและระดับโลก

รวมทั้งแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยุคดิจิตอล

 

พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวทีแถลงข่าวผลประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 หลังการประชุมเสร็จสิ้น โดยตอกย้ำถึงความเป็นเอกภาพ และการมีผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกอาเซียน ด้วยการผลักดันประชาคมอาเซียนไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พร้อมสรุปสาระสำคัญของการประชุมทั้งแบบเต็มคณะ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ และการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ฯลฯ

สอดคล้องกับธีมหลักในการประชุม “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย จากสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางการค้า ข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย และเทคโนโลยียุคใหม่ที่ก้าวไปไกล

อย่างน้อยๆ เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ก็มีหลากหลายประเด็นที่คืบหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเช่น การรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังร่วมกันเปิดตัว “ศูนย์เดลซ่า” (DELSA) คลังเก็บสิ่งของเพื่อช่วยเหลือทางไกลระหว่างประเทศอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเผชิญกับภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนให้เป็นองค์กรของอาเซียนอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกตามที่ไทยเสนอ

ขณะเดียวกันข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยเสนอให้อาเซียนเพิ่มบทบาทในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2560 ก็ได้รับการสนับสนุน

โดยการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดนี้ ผู้นำอาเซียนต่างเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียน ในการดำเนินความสัมพันธ์และหารือร่วมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรลุเจตนารมณ์ ภายใต้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และคำมั่นที่ว่าเราจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยจะสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ทุกฝ่าย และครอบคลุมถึงภาคประชาชนอย่างเท่าเทียม

 

อีกหนึ่งผลงานคือ การผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องกับไทย โดยกำหนดไทม์ไลน์ให้สามารถบรรลุการเจรจาภายในปีนี้ หลังจากที่ยืดเยื้อไร้ข้อสรุปมานานถึง 6 ปี นับตั้งแต่เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556

ล่าสุด ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เสนอแนวคิดให้อาเซียนเร่งเดินหน้าเจรจากับประเทศคู่เจรจา 13 ประเทศ จาก RCEP ทั้งหมด 16 ประเทศ หรืออาเซียน+6 ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยยกเว้นการเจรจากับอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพื่อให้ RCEP บรรลุข้อตกลงได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะประธานอาเซียน จะนำผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ไปนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำ G 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการหารือกันเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ การเงิน ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วย เป้าหมายเพื่อสื่อแนวคิดและเจตนารมณ์ของอาเซียน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมท่าทีร่วมกันของอาเซียน หรือ ASEAN Voice ในเวทีโลก

เพราะเห็นร่วมกันว่าอาเซียนต้องสร้างเครื่องมือตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลถึงผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าของอาเซียน

แม้หัวข้อในการเจรจาบางประเด็นอาจยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ แต่ภาพที่มีออกมาชัดเจนในเวทีการประชุม คือการให้การยอมรับนายกรัฐมนตรีของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง สะท้อนจากเสียงตอบรับและการปรบมือให้เกียรติ

ทั้งยังมีเสียงชื่นชมจากผู้นำอาเซียนทั้งไทยและต่างชาติที่เข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิตได้อย่างราบรื่น แม้ภาระหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยังไม่หมดแค่นี้ เพราะปี 2562 ตลอดทั้งปี ประเทศไทยได้รับเกียรติให้จัดประชุมกลุ่มอาเซียนอีกหลากหลายระดับ หลากหลายวาระ

 

นี่ถือเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเหมาะสมกับตำแหน่งประธานอาเซียนอันทรงเกียรติ โดยเฉพาะการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่ค้า ซึ่งกำหนดจะมีการจัดประชุมขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 กำลังถูกหลายฝ่ายจับตา

หากการประชุมนัดสำคัญที่จะมาถึงนี้ นายกฯ ประยุทธ์ ยัง “ท็อปฟอร์ม” โชว์วิสัยทัศน์และผลักดันการเจรจาต่างๆ กับประเทศคู่ค้า คู่เจรจาได้ตามเป้า เตรียมความพร้อมในการจัดงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์ไร้ที่ติเหมือนครั้งนี้ที่นานาประเทศพากันชื่นชม คงพูดได้เต็มปากว่า “เวทีอาเซียนซัมมิต” เป็นเวทีแจ้งเกิดให้ “บิ๊กตู่” อย่างแท้จริง

เพราะนอกจากจะหนุนภาพลักษณ์ชื่อเสียงประเทศไทยไปทั่วโลกแล้ว ยังยกระดับผู้นำทหารมาดเข้ม ก้าวขึ้นมาเทียบชั้นผู้นำอินเตอร์ในเวทีระหว่างประเทศได้ในอีกทางหนึ่งด้วย