ตลอด5ปี ผมเป็นคนมีบุญ ไม่ฝืนดูรายการที่ประชาชนบ่นรำคาญกันทั้งประเทศ | มนัส สัตยารักษ์

วัฒนธรรมลอยนวล

ผมไม่ได้ติดตามดูรายการทีวีของ คสช. หรือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น “เดินหน้าประเทศไทย” หรือ “คืนความสุขให้คนในชาติ” หรือแม้แต่ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เกือบไม่เคยดู โดยเฉพาะรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทุกวันศุกร์ ซึ่งพูดโดยตัวนายกรัฐมนตรีเองตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้นผมไม่เคยดูเลย!

ผมนับว่าตัวเองเป็นคนมีบุญอย่างหนึ่ง ที่ตลอด 5 ปีไม่เคยและไม่จำใจต้องฝืนดูรายการที่ประชาชนบ่นรำคาญกันทั้งประเทศ

มิใช่ผมรังเกียจหัวหน้าคณะ คสช. หรือผู้ดำเนินรายการหรือพิธีกรมากมาย เพียงแต่ว่าที่บ้านผมไม่มีมื้อเย็น นั่นคือต่างคนต่างกินมื้อเย็นนอกบ้าน มีซื้อมากินบ้างก็ในบางวันเท่านั้น

และถึงจะอยู่บ้านแต่เราก็ไม่ค่อยดูทีวีกันอยู่แล้ว วันๆ เอาแต่อ่านหนังสือหรือไม่ก็ก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือหรือเล่นไอแพด

วันและเวลาหลังการรัฐประหารผ่านไประยะหนึ่ง ผมคิดว่าควรดูและฟังนายกรัฐมนตรีพูดบ้างเพื่อความเป็นธรรม พอถึงวันศุกร์ลองเปิดทีวี-ซึ่งหนีรายการ “คืนความสุข” ไปไม่พ้น- ทำให้รู้สึกฉุนกึกขึ้นมาตามประสาคนถูกบังคับ

ประกอบกับกาลเวลาหลังทำรัฐประหารผ่านไประยะหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยน “ภาพลักษณ์” นายทหารบุคลิกยอดเยี่ยม กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองที่เป็น “ภาพลบ” ด้วยพฤติกรรมยอดแย่ แสดงความไม่เหมาะสมของผู้นำประเทศหลายต่อหลายประการ

มันทำให้ผมต้องปิดทีวีทันที!

พูดกันอย่างเป็นธรรม ภาพลบที่เกาะติดตัว พล.อ.ประยุทธ์นั้น อันที่จริงท่านก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาเองด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่หรือต้นเหตุอันเป็นประหนึ่งสารตั้งต้นนั้นมาจากคนใกล้ชิดและคนรอบข้างพวกหนึ่ง กับคนที่เสนอหน้าเข้ามาชเลียร์เพื่อหวังผลประโยชน์อีกพวกหนึ่ง

คนใกล้ชิดรอบข้างมีทั้งเพื่อนนายทหารร่วมงาน บ้างก็เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาที่มีบุญคุณท่วมหัวกันอยู่ อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ร่วมงานกันมา ฯลฯ วัฒนธรรมของคนในเครื่องแบบที่จะ “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นั้นฝังลึก คนจะมี “บารมี” ได้ต้องเปี่ยมด้วยวัฒนธรรมนี้ และเมื่ออยากจะเป็นนักการเมืองระดับผู้นำก็จำเป็นต้องมีบารมี

ดังนั้น แม้ว่าในบางกรณีมันอาจจะเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมก็ต้องยอม

อีกพวกหนึ่งเป็นญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดวัฒนธรรมไทยโบราณตามแบบฉบับนิยายของหลวงวิจิตรวาทการ ก็คือ “เราจะไม่ทรยศต่อสวรรค์” คือต้องดูแลช่วยเหลือกันแม้จะรู้ว่าผิดก็ต้องยอม

ดังนั้น แม้ว่าพี่ น้อง หรือลูก หลาน หรือเขย สะใภ้ ฯลฯ จะทำทุจริตคิดมิชอบจนถูกประณามไปทั่วเมือง เขาก็ต้องยอมแสร้งทำเมินเฉยหรือทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย

อีกพวกหนึ่งที่กำหนด “สารพัดกติกา” ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้อำนาจ กกต. วาง “สูตร” คำนวณคะแนนเลือกตั้งแนวใหม่ที่เปิดโอกาสให้พลิกแพลงได้อย่างด้านๆ เพื่อให้การสืบทอดอำนาจได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์

โดยอ้างความชอบธรรมในการ “รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” โดยโมเมว่าประชาชนต้องการแบบนี้ ประชาชนต้องการให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้

คนจำพวกนี้ก็ได้รับการแสดง “ความกตัญญู” ตอบแทนบุญคุณด้วยเงินเดือนจากภาษีของประชาชนคนละกว่า 1.2 แสน เป็นเวลา 5 ปี (เป็นอย่างน้อย) ในขณะที่ประเทศมีหนี้สาธารณะมหาศาล

ย้อนหลังไปตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งหลายแหล่ของความบิดเบี้ยวจนพิกลพิการข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ “คนอื่น” ทำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องของเรือเหาะ เครื่องตรวจจับระเบิด จีที 200 ค่าโง่ทางด่วน สัมปทานต่างๆ นาฬิกายืมเพื่อน การเปิดบริษัทก่อสร้างในค่ายทหาร ตลอดจนการให้เครดิตผู้บริหารระดับสูงไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ฯลฯ

แต่ดูเหมือนความเกลียดชังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องรับไปเพียงลำพังคนเดียว

เขียนบทนี้เมื่อวันที่ พล.อ.ประยุทธ์รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดูจากคลิปแล้วเห็นว่าบรรยากาศออกไปทางเคร่งเครียดมากกว่าแจ่มใส

อาจจะเพราะในขณะนั้นเงื่อนไขข้อตกลงในการร่วมรัฐบาลยังไม่ยุติ ซ้ำยังมีท่าทีถึงความขัดข้องอีกมหาศาลตามประสาการเมืองแบบไทย-ไทย รวมทั้ง ม.44 อันเป็นดาบกายสิทธิ์จะหายไปพร้อมกับคำว่า “คสช.” และคำสั่งมากมายของ คสช.

แต่ขณะเดียวกัน ความผิดและความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีหาได้หายไปด้วยไม่ มันยังคงอยู่พร้อมกับเริ่มมีการ “ตรวจสอบ” ของพรรคฝ่ายค้านที่เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพ!

พล.อ.ประยุทธ์อาจจะตระหนักดีว่า การได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 (ที่แม้จะต่อเนื่อง) แต่ก็เป็น “ทุกขลาภ” ชัดเจนกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบแรก

ห้าปีที่ผ่านไปโดยปราศจากการตรวจสอบ ทำให้สื่อต่างประเทศนิยามว่า ไทยได้สร้างลักษณะประเทศเป็น impunity ซึ่งแปลว่า “การได้รับการยกเว้นจากการถูกลงโทษ” และนักวิชาการไทยใช้คำว่า “วัฒนธรรมแห่งการลอยนวล”

วัฒนธรรมแห่งการลอยนวลทำให้สังคมไทยกลายเป็นเมืองคอร์รัปชั่น คอร์รัปชั่นทำให้รายได้ของรัฐลดลง คอร์รัปชั่นทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐไม่มีวินัยและขาดประสิทธิภาพ สุดท้ายคอร์รัปชั่นเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพราะบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุน จนในที่สุดไทยอาจกลายเป็นประเทศล้มเหลวได้

แต่คงไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าวัฒนธรรมลอยนวลนี้จะยังคงอยู่เป็นวัฒนธรรมของปัจจุบันตามรัฐบาล (ที่ต่อเนื่องอย่างแทบไม่มีรอยต่อ) หรือเปล่า?

กำลังจะจบ “กาแฟโบราณ” พบข่าวพิกลในสื่อโซเชียลว่า นายเทพไท เสนพงศ์ ซึ่งอยู่ฝั่งรัฐบาลใหม่ออกมา “จี้ประยุทธ์เร่งล้างโกง” อย่าซ้ำรอยรัฐบาล คสช.1 (!!)

ข่าวพิกล (จาก ส.ส.ต่างพรรคในฝั่งเดียวกัน) ก็เท่ากับยืนยันให้เห็นว่า ความผิดและความชั่วร้าย (ที่ คสช.1 นึกว่าจบไปพร้อมกับคำว่า คสช.นั้น) ยังอยู่!!