อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นักถ่ายทอดความจริงแท้แห่ง “เนื้อหนัง”

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ด้วยความที่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนเกิดของศิลปินคนโปรดตลอดกาลอีกคนของผม เลยขอหยิบยกเอาเรื่องราวของเขามาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกัน ศิลปินคนนั้นมีชื่อว่า

ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucian Freud)

เกิดที่กรุงเบอร์ลินในวันที่ 8 ธันวาคม 1922 มีบิดาเป็นสถาปนิกยิวเชื้อสายออสเตรเลียน มารดาเป็นชาวเยอรมัน ถ้าใครรู้สึกคุ้นๆ กับนามสกุลของเขาล่ะก็ นั่นเป็นเพราะเขาเป็นหลานของนายแพทย์ จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เป็นผู้ที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันลือลั่นอย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นั่นเอง

ในปี 1933 เขาและครอบครัวได้อพยพไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อลี้ภัยสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงนาซีเรืองอำนาจ

ที่นั่นเขาได้เข้าเรียนในช่วงสั้นๆ ที่ Central School of Art ในลอนดอน และ Cedric Morris’ East Anglian School of Painting and Drawing ในเด็ดแฮม และสถาบัน Goldsmiths ในลอนดอนและเริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือบทกวี และมีนิทรรศการแสดงภาพประกอบเป็นครั้งแรกในปี 1944

ในช่วงฤดูร้อนปี 1946 เขาเดินทางท่องเที่ยวไปยังปารีส ฝรั่งเศส และต่อด้วยกรีซ และเปลี่ยนสถานที่ทำงานในที่ต่างๆ ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาหลายเดือน

แต่ท้ายที่สุด เขาก็ได้หวนกลับมาพำนักและทำงานอย่างถาวรที่กรุงลอนดอนจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

ซึ่ง ณ ที่นี้นี่เอง ที่เขาได้กลายเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

ผู้ที่นักวิจารณ์ศิลปะและนักเขียนชื่อดังอย่าง โรเบิร์ต ฮิวจ์ส ถึงกับขนานนามเขาว่าเป็น

“จิตรกรภาพเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่”

ฟรอยด์เป็นที่รู้จักจากผลงานจิตรกรรมภาพเหมือนและภาพเปลือยอันแปลกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเปลือยของนายและนางแบบร่างกายใหญ่โตมหึมา ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับภาพเปลือยแบบตามแบบแผนทั่วๆ ไปเลยแม้แต่นิดเดียวของเขานั้น ส่งผลให้ผลงานของเขาเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวอย่างยากที่จะหาใครมาเสมอเหมือน ในหมู่จิตรกรที่เขียนภาพร่างกายมนุษย์ (Figurative Painter) ด้วยกัน

ภาพเหมือนที่ซื่อตรง จริงใจ ไร้การจัดวาง ที่แสดงออกถึงภาพของเนื้อหนังอย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมา ถึงแม้จะเป็นภาพเหมือนของตัวเขาเองก็ตาม และมันได้สร้างมิติใหม่ในการทำงานจิตรกรรมขึ้นมา ซึ่งเป็นงานศิลปะที่แนบสนิทชิดเชื้อกับปุถุชน คนจริงๆ ที่ไม่ใช่นายหรือนางแบบที่มีร่างกายงดงามตามค่านิยม หากแต่เป็นการแสดงออกถึงแก่นแท้ตัวตนจริงของมนุษย์ด้วยการใช้สื่อศิลปะ

ภาพเหมือนบุคคลที่ฟรอยด์วาดออกมาจึงเป็นเสมือนหนึ่งการแสดงออกถึงพรสวรรค์ในการจับสังเกตธรรมชาติที่แท้จริงของแบบที่จะวาด ซึ่งก็คือ “มนุษย์” ออกมาโดยไม่มีการเสแสร้งบังคับหรือฝืนดัด ด้วยเหตุที่ฟรอยด์ไม่เคยบังคับให้นายแบบโพสท่าอย่างที่เขาต้องการ

หากแต่ปล่อยให้นายแบบปล่อยตัวตามสบายและถ่ายทอดห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าระหว่างศิลปินกับนายแบบนั้นลงบนผืนผ้าใบ

จะว่าไป การแสดงออกอันเปล่าเปลือยและโจ่งแจ่ง (บางคนอาจบอกว่าโจ๋งครึ่ม) ของนายและนางแบบในภาพเขียนของเขาหาใช่การแสดงออกเพื่อยั่วยุหรือเย้ายวนทางเพศแต่อย่างใด (หรือใครจะว่าใช่ ก็ช่วยไม่ได้) หากแต่เป็นการแสดงออกถึงกายภาพทางเพศอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ซื่อบริสุทธิ์ ไร้จริตมารยา ไร้การเสแสร้ง หรือแม้แต่ความเหนียมอายใดๆ ทั้งสิ้น

ภาพจาก http://www.widewalls.ch/contemporary-figurative-painting/lucian-freud/
ภาพจาก http://www.widewalls.ch/contemporary-figurative-painting/lucian-freud/

การถ่ายทอดภาพของเนื้อหนังอันล้นหลามและล้นเกินกว่าคำว่าอุดมสมบูรณ์ออกมาอย่างจะแจ้ง ผนวกกับการใช้เนื้อสีและทีแปรงที่แสดงออกซึ่งผิวหนังอันขาวซีดหยำเหยอะและหยาบกระด้าง ด้วยเทคนิค Impasto ซึ่งก็คือ การใช้สีหนาๆ ป้ายลงไปบนผืนผ้าใบจนเห็นเป็นรอยทีแปรงหรือรอยเกรียงปาดสีทิ้งเอาไว้ อันเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นในภาพเขียนของฟรอยด์

จนสามารถกล่าวได้ว่า เขาเป็นคนที่ถ่ายทอดภาพลักษณ์อันจริงแท้ของเนื้อหนังที่ไร้การปรุงแต่งได้อย่างชัดแจ้งมากที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะ

เป้าประสงค์ในการถ่ายทอดภาพเหมือนและภาพเปลือยของเขาเปรียบเสมือนการสร้างความเป็นจริงบางอย่างที่ภาพถ่ายไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้

ฟรอยด์เชื่อว่า การถ่ายภาพลดทอนมนต์ขลังบางประการระหว่างผู้สร้างงานกับผู้แสดงแบบ ความแตกต่างอันชัดเจนระหว่างภาพถ่ายกับภาพเขียนก็คือ ความเข้มข้นอันไร้ขีดจำกัดในการส่งผ่านความรู้สึกและห้วงเวลาแห่งความผูกพันอันล้ำลึกระหว่างผู้เขียนภาพและผู้แสดงแบบ ที่กล้องถ่ายภาพไม่อาจสื่อสารออกมาได้

“เมื่อผมวาดภาพคน ผมไม่ได้สนใจว่าพวกเขาจะหน้าตาเป็นอย่างไร หรือผมจะวาดได้เหมือนพวกเขาแค่ไหน หากแต่ผมวาดในสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ”

โดยส่วนใหญ่นายแบบและนางแบบของฟรอยด์มักจะเป็นบุคคลใกล้ชิดในชีวิต อาทิ คนรักครอบครัว เพื่อนสนิท และเหล่าเพื่อนศิลปินของเขา

“ภาพเขียน มันก็เหมือนกับอัตชีวประวัติของศิลปิน มันประกอบขึ้นจากความผูกพันทรงจำ ความรู้สึก ความรัก และความหวังของคุณและคนรอบๆ ตัวอย่างแท้จริง”

ดังในช่วงปี 1970 ที่เขาใช้เวลากว่า 4,000 ชั่วโมง วาดภาพเหมือนในซีรี่ส์ต่างๆ ของแม่ของเขาขึ้นมา

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87

ด้วยความที่เขาเป็นจิตรกรภาพเหมือนที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังสุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย จึงมีทั้งอภิมหาเศรษฐีมีทรัพย์ ดารานักร้องซูเปอร์สตาร์ และบุคคลมีชื่อเสียงต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เหล่าบุคคลสำคัญระดับประเทศเหล่าราชวงศ์และราชนิกุล ที่อยากมานั่งเป็นแบบให้หรือต้องการตัวเขาให้มาเขาวาดภาพให้จนตัวสั่น

ถ้าไม่นับกรณีที่โดนบังคับหักคอหรือปฏิเสธไม่ได้จริงๆ เขาเองก็มักจะปฏิเสธความต้องการและไม่แยแสสนใจอามิสสินจ้างของคนเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง

ถึงขนาดที่ว่าเขาเคยปฏิเสธที่จะวาดภาพเหมือนให้เจ้าหญิงไดอาน่า และพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ด้วยซ้ำ!

ว่ากันว่า มีครั้งหนึ่งฟรอยด์ปฏิเสธคอมโพเซอร์ชื่อดังก้องโลกอย่าง แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ (ผู้แต่งเพลงให้ละครเพลง The Phantom of the Opera และ Evita อันโด่งดัง) ที่มาขอให้เขาวาดภาพเหมือนให้

ด้วยเหตุผลที่ว่า อีตาแอนดรูว์แกดันขอจ่ายค่าจ้างวาดภาพเป็นตั๋วฟรีคอนเสิร์ตของตัวเอง (ช่างกล้า!!!)

ถึงแม้จะถือว่าเป็นศิลปินที่หาตัวจับ (มาวาดรูปให้) ยาก และค่อนข้างหมางเมินชื่อเสียง และไม่แยแสคนดัง แต่ก็ใช่ว่าเขาจะไม่เคยวาดรูปให้เซเลบคนไหนเลย

เพราะซูเปอร์โมเดลชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง เคต มอส เองก็เคยแบบเป็นให้ฟรอยด์วาดภาพนู้ดในช่วงที่เธอตั้งครรภ์มาแล้ว

นอกจากเธอจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดที่เขาเคยวาดภาพให้ (ยกเว้นสมเด็จพระราชินีของอังกฤษ) แล้ว เธอก็ยังเป็นหนึ่งใน “Muse” หรือนางแบบคนโปรดผู้เปรียบเสมือนเทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจคนโปรดของฟรอยด์อีกด้วย

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-2

นอกจากจะเป็นคนที่ชืดชาต่อชื่อเสียง เขายังเป็นศิลปินที่ค่อนข้างขี้อายและเก็บตัว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์หรือปรากฏตัวออกสื่อนัก

แต่ก็ยังถือว่าโชคดี ที่เขาเคยอนุญาตให้นักทำสารคดีศิลปะอย่าง ทิม มีอาร่า (Tim Meara) ให้เข้ามาเก็บภาพและถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาในภาพยนตร์สั้นเรื่อง Small Gestures in Bare Rooms (2010) ที่ถ่ายทอดภาพในสตูดิโอ Holland Park ของเขา ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เข้าไปข้างใน

มีอาร่าใช้เวลากว่า 6 เดือน สัมภาษณ์บุคคลผู้ใกล้ชิดวงในของฟรอยด์ และนำมันมาร้อยเรียงเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยตั้งชื่อมันว่า “Silent Portraits”

ซึ่งในระหว่างการถ่ายทำก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อฟรอยด์ตกลงที่จะปรากฏตัวหน้ากล้อง โดยเขาอนุญาตให้มีอาร่าถ่ายทำภาพเขาเดินไปพร้อมกับเจ้าเหยี่ยว สัตว์เลี้ยงคู่ใจที่เกาะอยู่บนแขน ไปตามทางเดินในลิตเติลเวนิส ลอนดอน เป็นเวลาถึงครึ่งชั่วโมง

หนังบันทึกความมีชีวิตชีวา ร่าเริง อัจฉริยภาพในการทำงานของจิตรกรภาพเหมือนที่โดดเด่นที่สุดในยุคสมัยของเรา รวมถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์ของเขาที่ยังคงแฝงตัวอยู่ในร่องรอยของหยดสีซึ่งหลงเหลืออยู่บนพื้นสตูดิโอเก่าแก่ แม้มันจะถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่ามานานแค่ไหนแล้วก็ตาม

อีกไม่นานหลังจากที่สารคดีออกฉาย ลูเซียน ฟรอยด์ ก็เสียชีวิตลงอย่างสงบ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2011 ที่บ้านของเขาในลอนดอน ด้วยวัย 88 ปี

เป็นการปิดฉากชีวิตของจิตรกรแนวเหมือนจริงและศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเราอีกผู้หนึ่งลงในที่สุด