รายงานพิเศษ : คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา ยูเครนกับวิถีทางการทูต (2)

ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์กับยูเครนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1992 หลังจากที่ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1991

และไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก มีเขตอาณาดูแลยูเครน โดยปัจจุบัน นายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งมีพื้นที่ในความรับผิดชอบคือ ยูเครน (Ukraine) อาร์เมเนีย (Armenia) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) เบลารุส (Belarus) และมอลโดวา (Moldova)

ส่วนยูเครนได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.2002 และปัจจุบัน นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เมื่อต้นปี ค.ศ.2016 มีพื้นที่ในความรับผิดชอบคือ สปป.ลาว (Lao People”s Democratic Republic-LPDR) และพม่า (Myanmar-Burma)

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (Chakrabongse Bhuvanath, Prince of Phitsanulok) ต้นราชสกุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Rama V of Siam) และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง (Queen Regent of Siam) ได้ทรงเสกสมรสกับ นางสาวเอกาเทรินา เดนิตสกายา (Ekaterina Desnitsky) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “Katya” จากเมืองโวลีน (Volyn) ประเทศยูเครน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวสยามและชาวยูเครนเริ่มรู้จักกัน

ประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน นับว่ามีส่วนในการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อันนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในเวลาต่อมา

 

ท่านทูตเบชตา เล่าประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ของไทยและยูเครน เป็นสังเขปว่า

“เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมต้องกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า อย่างน้อยในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ของเราทั้งสองประเทศกว่าร้อยปีที่แล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ทรงเสกสมรสกับหญิงสาวชาวยูเครนชื่อ แคทยา (Katya) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1906”

“ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (King Rama VI of Siam) ได้พระราชทานนามสกุล ณ พิศณุโลก อันเป็นนามสกุลพิเศษเนื่องจากไม่มีเลขลำดับที่พระราชทาน และมีผู้ใช้เพียงท่านเดียว คือ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก หรือ หม่อมคัทริน จักรพงษ์ ณ อยุธยา หรือ คัทริน เดสนิตสกี ทั้งสองมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์จุล เกิดเมื่อ 28 มีนาคม ค.ศ.1908 และในปี ค.ศ.1911 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และคัทริน (Katya) เดสนิตสกี จึงได้ไปเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน”

“พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงรับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 พรรษา เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนแฮร์โรว์ และเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโทในเวลาต่อมา ทรงนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญที่สุดคือ เกิดวังปารุสก์ เจ้าชีวิต ดาราทอง ไทยชนะ และทรงสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา (Elisabeth Hunter)เมื่อ ค.ศ.1941 มีธิดาคือ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ (Mom Rajawongse Narisa Chakrabongse or M. R. Narisa Chakrabongse)”

“แคทยาและเจ้าชายแห่งสยาม (Katya & the Prince of Siam) คือผลงานการประพันธ์ของ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ได้รับการตีพิมพ์ เมื่อปี ค.ศ.1994 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่แท้จริงของสาวงามจากยูเครนและเจ้าชายไทยซึ่งเป็นปู่และย่าของเธอ ปัจจุบัน ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ”

 

“ปีค.ศ.2017 เป็นปีแห่งการครบรอบ 25 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและยูเครน แม้ว่าความสัมพันธ์ของเรายังอยู่ในขั้นเยาว์วัย แต่เราได้พัฒนาความสัมพันธ์และมีความร่วมมือที่สำคัญกันอย่างมากมายภายในระยะเวลาที่ไม่นานนัก”

“การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของ นายลีโอนิด คุชมา ประธานาธิบดียูเครน และ นางลุดมีลา คุชมา ภริยา ในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม ค.ศ.2004 นับตั้งแต่ยูเครนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปี ค.ศ.1992 ในโอกาสการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดียูเครนและภริยาได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.2004 เป็นการเปิดบทใหม่ในประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา”

“นับแต่นั้นมา ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในหลายระดับระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการลงนามในบันทึกความเข้าใจและความตกลงทวิภาคีที่สำคัญเกือบ 20 ฉบับ”

“ผมสามารถกล่าวได้ว่า เป็นผลงานของเอกอัครราชทูตยูเครนที่มาประจำประเทศไทยในอดีตที่ได้วางรากฐานที่ดีไว้ ก่อนหน้าที่ผมจะมารับหน้าที่สานต่อความร่วมมือทวิภาคีของเราต่อไป”

“ความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยกับยูเครนดำเนินไปอย่างราบรื่น บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยปราศจากปัญหาที่ซับซ้อนใดๆ”

“เราตระหนักดีว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปและประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ดังนั้น ยูเครนจึงสามารถเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเรามีศักยภาพทั้งทางด้านอุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีทรัพยากรมนุษย์และเกษตรกรรม”

“และในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูต ผมจะไม่ละความพยายาม และตั้งใจทำงานให้ดีเพื่อให้ได้ผลงานที่โดดเด่น”

 

ท่านทูตเบชตา กล่าวถึงการประชุมระหว่างไทยและยูเครนที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในปี ค.ศ.2017 ที่สำคัญได้แก่

“การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและยูเครนในเวทีพหุภาคีเน้นด้านความมั่นคงในเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia-CICA) ที่ปักกิ่ง ประเทศจีนในเดือนเมษายน ค.ศ.2016 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาทางการเมืองและหารือในประเด็นต่างๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ยูเครน (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JC) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ จะมีขึ้นในปี ค.ศ.2017 เช่นเดียวกับการปรึกษาหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในรอบที่สอง”

ตั้งแต่นี้ต่อไป ภายใต้การดำเนินงานของเอกอัครราชทูต อันดรีย์ เบชตา คนไทยคงจะได้ได้ยินข่าวการร่วมมือระหว่างไทยกับยูเครนด้วยมิตรภาพที่แน่นแฟ้น

มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และติดต่อกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน มากขึ้นกว่าเดิม

เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าต่อไปในอีกหลายมิติ