E-DUANG : กรณี 70 ส.ส.ถือหุ้น “สื่อ” เผือกร้อน ศาลรัฐธรรมนูญ

เหมือนกับกรณีการขุดคุ้ยการถือครองหุ้น วี-ลัค มีเดีย ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นหมัดเด็ด ไม่เพียงแต่สยบ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เท่านั้นหากเท่ากับดึงแข้งดึงขาพรรคอนาคตใหม่

อย่างน้อยพรรคอนาคตใหม่และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เสียเวลาไปอย่างมากกับกรณี วี-ลัค มีเดีย

เห็นได้จากการแถลงข่าวของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

เห็นได้จากชะตากรรมของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มิอาจได้แสดงบทบาทของส.ส.ในที่ประชุมได้ ไม่ว่าประชุมรัฐสภา ไม่ว่าประชุมสภาผู้แทนราษฎร

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจและพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่

ตรงกันข้าม สถานการณ์กลับ”บานปลาย”

 

เหมือนกับว่าที่บานปลายเพราะพรรคอนาคตใหม่ได้เปิดปฏิบัติ

การ “เอาคืน” ด้วยการส่งรายชื่อ 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ดูเผินๆเหมือนกับการเอาคืนก่อให้เกิดการเอาคืนจากพรรค พลังประชารัฐ

เห็นได้จากการยื่นรายชื่อ ส.ส.ที่ครองหุ้นกว่า 30 คน

เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่อยู่ที่ ส.ส.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ พรรคประ ชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

ขณะที่เป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐเน้นไปยังพรรคเพื่อไทยอันเป็นพันธมิตรพรรคอนาคตใหม่

ล้วนเป็นการร้องเพื่อไปรวมอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”ทั้งสิ้น

สายตาทุกสายตาจึงมองผ่านว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะยึดถือเอากระบวนการเดียวกันกับที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่

นี่เท่ากับเป็น”เผือกร้อน”ในมือ”ศาลรัฐธรรมนูญ”

 

เผือกร้อนในที่นี้เหมือนกับจะวางน้ำหนักอยู่ที่เมื่อทำกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะทำกับกรณี 70 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นอย่างไร

จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.หรือไม่

เวลาและบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปอย่างไร รวดเร็วหรือว่าล่าช้า เพราะมีทั้งกรณี นายดอน ปรมัตถ์วินัย กรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นตัวอย่าง

      ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของมาตรฐาน เป็นเรื่องของบรรทัดฐาน