คุยกับทูต ‘อีวา ฮาแกร์’ 150 ปี สัมพันธไมตรีไทย-ออสเตรีย

คุยกับทูต อีวา ฮาแกร์ ปีแห่งการเฉลิมฉลอง 150 ปี สัมพันธไมตรีไทย-ออสเตรีย (จบ)

ไทยกับออสเตรียมีความสัมพันธ์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กงสุลออสเตรียประจำประเทศไทยคนแรกคือ นาย Alexius Redilch ออสเตรียนับเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทยก่อนหน้าประเทศตะวันตกอื่นๆ

ในปี ค.ศ.1867 จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย (Franz Joseph Karl von Habsburg-Lorraine) แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ได้ส่งคณะทูตมาไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1869

ต่อมา ปี ค.ศ.1878 ออสเตรียได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยและออสเตรียจึงตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1953

และได้ยกสถานะเป็นระดับเอกอัครราชทูตในปี ค.ศ.1963 โดยมี พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำกรุงเวียนนา

อนึ่ง เมื่อปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนออสเตรีย ในสมัยทรงเป็นสยามกุฎราชกุมาร ในปี ค.ศ.1902

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 5 ธันวาคม ค.ศ.1964 และระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม ค.ศ.1966

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยฝ่ายออสเตรียนั้น ประธานาธิบดีฟรานซ์ โยนาส (Franz Jonas) มาเยือนประเทศไทย ปี ค.ศ.1967 และประธานาธิบดีโธมัส คเลสทีล (Thomas Klestil) เยือนไทยเมื่อปี ค.ศ.1995

ทั้งนี้ พลตรีหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เมื่อครั้งที่ทรงดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของราชอาณาจักรไทย ประจำสาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่าง 4 กันยายน ค.ศ.2012 – 1 ตุลาคม ค.ศ.2014

ดร.อีวา ฮาแกร์ (Her Excellency Dr. Eva Hager) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย เล่าถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้าว่า

“ปัจจุบันเรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดีและแข็งแกร่งกับประเทศไทย ปริมาณการแลกเปลี่ยนการค้าของเราเป็นพันล้านยูโร แต่แน่นอนว่าประเทศไทยคือผู้ส่งออกหลัก สินค้าที่ไทยส่งออกได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ เครื่องสำอาง ยานพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถุงมือยาง ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จ อาหารทะเลกระป๋อง-แปรรูป”

“สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ กระจก แก้วและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เพชรพลอยและอัญมณี เป็นต้น”

การลงทุนของออสเตรียในไทยมีหลายโครงการ และมีการขยายโครงการมาโดยตลอด

“เรามีบริษัทออสเตรียประมาณ 110 บริษัทมาเปิดโรงงานที่นี่ รวมทั้งโรงงานสวารอฟสกี้ (Swarovski) 7 แห่ง ซึ่งมีการจ้างงานหลายพันคน มีโรงงานอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ สร้างพลังงานหมุนเวียน สร้างก๊าซจากการเกษตรและของเสียจากป่าไม้ ผลิตกระแสไฟฟ้า ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตชุดชั้นในเด็ก และมีบริษัทด้านเทคโนโลยีการรถไฟ จะเห็นว่าการผลิตที่หลากหลายกำลังทำอยู่ที่นี่ อีกทั้งการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์ เช่น ถุงลมนิรภัย”

“และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการลงทุนขนาดใหญ่ประมาณ 350 ล้านยูโรในอุตสาหกรรมสิ่งทอเส้นใย ดังนั้น ความหลากหลายที่ดีทั้งหมดนี้เป็นบริษัทของออสเตรีย ซึ่งบริษัทบางส่วนเหล่านี้ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม 150 ปีของเราด้วย”

ท่านทูตชี้แจง

หลังจาก EU ได้ปรับแนวทางการดําเนินความสัมพันธ์กับประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ไทยและออสเตรียได้ริเริ่มสาขาความร่วมมือในเรื่อง Smart City และ Digital โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทํา Joint Working Group on Trade และ Joint Working Group on Digital

ความร่วมมือทางด้านวิชาการ ในระดับพหุภาคี ไทยและออสเตรียเป็นสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออสเตรียกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ASIA-UNINET) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1994 โดยมีสมาชิกจัดตั้งฝ่ายเอเชียได้แก่ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทรัพยากร ความช่วยเหลือ และความร่วมมือทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวาง มีความร่วมมือมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-ออสเตรีย

ดังเช่น โรงเรียนเทคนิคสัตหีบ (Thai-Austrian Technical School) ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรีย ต่อมายกระดับเป็นวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (Technical College Sattahip Chonburi) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 มีการลงนามในบันทึกช่วยจำ ระหว่าง Mr. Hoch Lenitner ผู้แทนรัฐบาลออสเตรีย กับนายบุญเทียม เจริญยิ่ง อธิบดีกรมอาชีวศึกษา ผู้แทนรัฐบาลไทย โดยมี H.E. Dr. Alois Mock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของออสเตรียเป็นสักขีพยาน

“จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบพัฒนาจากสถานศึกษาขนาดเล็ก จนปัจจุบันเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ มีนักเรียนมากกว่า 6,000 คน อันเป็นความสำเร็จของระบบอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี (dual education/apprentice system) ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัติในสถานประกอบการโดยได้รับค่าจ้างด้วย”

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรีย แสดงโดย Ms.Megumi Otsuka จาก University of Music and Performing Arts, Vienna ร่วมกับนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการฝึกอบรม Master Class and Lecture in Voice and Piano Accompaniment 2019

ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรียด้านดุริยางคศิลป์ (คลาสสิค) ประจำปี ค.ศ.2019

“พูดถึงความสัมพันธ์ทางด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจากออสเตรียเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 105,000 คนในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากเดินทางไปออสเตรียเช่นกันโดยพิจารณาจากวีซ่าที่สถานกงสุลของเราราว 40,000 คน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวออสเตรีย และออสเตรียก็เป็นประเทศเป้าหมายแรกๆ ในสหภาพยุโรปของนักท่องเที่ยวไทย”

นักท่องเที่ยวหลายคนมีวีซ่าเชงเก้น ซึ่งสามารถเดินทางได้โดยเสรีไปยัง 26 ประเทศเชงเก้นในยุโรป โดยไม่ต้องขอตรวจวีซ่าที่ชายแดนของแต่ละประเทศอีก เพราะมีนโยบายด้านวีซ่าร่วมกัน

“คนถือวีซ่าเชงเก้นมีมาจากหลายประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนประเทศเยอรมนีแล้ว หลายคนมักข้ามแดนไปเยือนเมืองฮัลล์สตัตต์ (Hallstatt) ด้วย เมืองฮัลล์สตัตต์อยู่ในออสเตรีย เป็นเมืองเล็กๆ เก่าแก่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น เราจึงคาดว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปเยือนออสเตรียประมาณ 100,000 คนทุกปี”

“ในขณะที่ Hallstatt นั้นแปลกใหม่มากสำหรับชาวเอเชีย แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างเรา ประเทศไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีศิลปะ-วัฒนธรรมหลากหลายให้เราได้ชื่นชม มีความงดงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม พระพุทธรูปสีทองเปล่งประกาย ตึกโบราณ พิพิธภัณฑ์ รวมทั้งรสชาติและกลิ่นหอมอันเย้ายวนของอาหารไทย ที่สำคัญคือ มีชายหาดที่สวยที่สุดในโลก ซึ่งยังมีอีกหลายแห่งที่เราจะต้องไปสำรวจ”

“อย่างไรก็ตาม ออสเตรียเป็นเมืองหลวงด้านการทำอาหารและอาหารออสเตรียจัดอยู่ในประเภทศูนย์กลางของอาหารยุโรป เพราะเราเคยเป็นอาณาจักรแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เรื่องอาหารออสเตรีย”

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หรือในนามออสเตรีย-ฮังการี เป็นจักรวรรดิที่มีระบอบการปกครองแบบควบคู่ เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ปี ค.ศ.1867 จนถึง ค.ศ.1918 หลังจากนั้นจักรวรรดินี้ถูกล้มล้างหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อาหารออสเตรียพื้นเมืองดั้งเดิมในภูมิภาคนั้นจึงได้รับอิทธิพลจากสาธารณรัฐเช็ก ยิว อิตาลี และฮังการี

ตัวอย่างที่ดีคือ สตูว์เนื้อวัว (Goulash)

ท่านทูตอีวา ฮาแกร์ เสริมว่า “สำหรับอาคารสถานทูตออสเตรียแห่งนี้ เป็นอาคารสถานทูตที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณเดิม แทนที่อาคารเก่าที่ทรุดโทรมเมื่อปี ค.ศ.2013 โดยนักออกแบบและสถาปนิกชั้นนำของออสเตรีย เป็นระบบนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2017 เราจึงย้ายเข้ามาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน”

“ทั้งนี้ ด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมของไทยและเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของออสเตรีย มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพิ่มแสงธรรมชาติภายในที่ทำงาน มีการไหลเวียนของอากาศช่วยให้เกิดความเย็นตามธรรมชาติ ณ อาคารแห่งนี้จึงมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย รวมไปถึงเรื่องการเก็บรักษาต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ไว้ถึงเจ็ดต้นในพื้นที่โครงการ จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน (Holistic and Sustainable Architecture)”

“อาคารสถานทูตออสเตรียแห่งนี้ ได้รับรางวัลระดับโลกถึง 3 รางวัล นั่นคือ รางวัลอาคารสีเขียวแห่งชาติออสเตรีย ส่งเสริมอาคารที่โดดเด่นเพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Austrian National Green Planet Building Award), รางวัลมอบให้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบหรือมีเทคโนโลยีเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Good Design Award 2018) และรางวัลจากนิตยสารสถาปัตยกรรมในอิตาลีด้วย”

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและออสเตรียที่มีมาอย่างยาวนาน

เริ่มต้นจากการปฏิสัมพันธ์ในระดับราชวงศ์และการแลกเปลี่ยนด้านศิลปะและดนตรี ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรอันทรงเกียรติยิ่ง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข 23 ของสถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1964

เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อันนำไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ตราบทุกวันนี้

ประวัติเอกอัครราชทูต ดร.อีวา ฮาแกร์

Born : 7th March, 1957

10 Dec 2017- Present : Austrian Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary to the Kingdom of Thailand, Myanmar, Cambodia and Laos

3rd Dec. 2013 – 19th Sept.2017 : Austrian Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary to the United Mexican States (Mexico City; jurisdiction : Mexico, Belize, Costa Rica, El Salvador, Guatemala, Honduras, Nicaragua, and until 1st November, 2016 Panama)

Nov. 2009 – Dec. 2013 : Head of Department for International Energy Affairs, Austrian Federal, Ministry for Foreign Affairs

April 2005 – Aug. 2009 : Austrian Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary to Cyprus (Nicosia; jurisdiction: Cyprus)

Sep. 2000 – April 2005 : Austrian Consul General in Strasbourg, and Deputy Permanent Representative to the Council of Europe

1997 – Sep. 2000 : Head of Division II.9.a (Latin America and the Caribbean), Austrian Federal Ministry for Foreign Affairs

2nd semester 1998 : Chairmanship of the Brussels Council working group COLAT (Latin America), leading role in the preparation process of the EU-Latin America Summit (Rio de Janeiro 1999)

May 1993 – March 1997 : Deputy Head of Mission, Austrian Embassy Mexico City (Mexico)

1990-1993 : Deputy Head of Mission, Austrian Embassy Tunis (Tunisia)

March – Sep. 1992 : Resident Charg? d”affaires ad interim to Algeria (Algiers)

1988-1990 : Division II.4 (Middle East and Maghreb), Austrian Federal Ministry for Foreign Affairs

Jan. – June 1988 : Attach? for Political Affairs, Austrian Embassy Damascus (Syria)

1986 : Entry into the diplomatic service of the Austrian Federal Ministry for Foreign Affairs and assignments to various departments

Education and further assignments

1975 : High School graduation, High School for Modern Languages G?nserndorf, Austria

1985 : PhD (Dr Phil.) in Arabic & Islamic Studies and Political Science, University of Vienna, Austria

1987-1990 : Lecturer on contemporary Islamic and Social Science topics in the Arab world, Institute for Oriental Studies, University of Vienna

Foreign languages : fluent in Arabic, English, French and Spanish. Basic knowledge in Modern Greek (triennial elementary course)

Distinction : Grand Cross of the Order of Merit of the Republic of Cyprus Mexico”s Order of the Aztec Eagle Award in Band Grade