หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘มืออาชีพ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกชนหิน - เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ บินได้ไกล พวกมันทำหน้าที่ปลูกป่าอย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘มืออาชีพ’

 

“ในฐานะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองธรรมดาๆ ผจญภัยอยู่กับการจราจรอันติดขัดวุ่นวาย ออกจากที่พักตั้งแต่เช้ามืด กลับถึงบ้านหรือห้องพักอีกทีก็ดึกดื่น แบบนี้ถ้าอยากช่วยสัตว์ป่า จะทำอย่างไร”

ทุกครั้งที่มีคำถามเช่นนี้ ผมจะตอบสั้นๆ ว่า

“ช่วยพวกมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในป่า ให้ได้ทำงานต่อสิครับ”

มีโครงการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า ที่ทำอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน เช่น โครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง และโครงการศึกษานิเวศของนกเงือก

โครงการศึกษาชีวิตสัตว์ป่า เจตนาเพื่อศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิตของเหล่า “มืออาชีพ” ตัวจริง ที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงป่าให้อุดมสมบูรณ์

วันที่สภาพแวดล้อมของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง “หายนะ” เพราะเราทำลายโลกที่เราอาศัยอยู่ เริ่มต้นขึ้นแล้ว

การทำความรู้จักกับชีวิตอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับคน แต่พวกมันมีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ด้วย คือสิ่งจำเป็น

มีกลุ่มคนที่ทำงานหนักเพื่อปกป้องดูแลให้เหล่า “มืออาชีพ” ตัวจริง ได้ใช้ชีวิตและทำงานไปตามวิถี

เราช่วยมืออาชีพเหล่านั้นโดยผ่านกลุ่มคนที่ทำงานให้พวกมันได้

 

“เจ้านี่เป็นเด็กลากไม้ ปีนต้นไม้ คล่องเหมือนลิง ช่วยเอาไปทำงานนกเงือกหน่อย”

เป็นประโยคที่ดาโอ๊ะ สามะ ผู้ใหญ่บ้านตะโหนด พูดกับปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าทีมโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้ วันที่เขาพาชายหนุ่มอายุ 17 ปี ผิวคล้ำจัด ร่างล่ำสันมาพบ

ผมเขียนถึงชายหนุ่มผู้นี้บ่อย

และมักเริ่มต้นกล่าวถึงชายหนุ่มผู้นี้ด้วยประโยคของผู้ใหญ่ ดาโอ๊ะ

ชายหนุ่มผู้นี้มีชื่อว่า มัสบูด หะแว

 

มัสบูด ชายหนุ่มพูดน้อย ขี้อาย รูปร่างล่ำสัน แข็งแรงของเขา ได้มาจากการทำงานหนัก รับจ้างลากไม้ที่แปรรูปแล้ว ลงจากภูเขา

เขาเกิดในหมู่บ้านตะโหนด เชิงเขาบูโด

เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด เช่นเดียวกับพ่อคือ มาฮะมะ หะแว

ในวันที่มัสบูดเป็นเด็ก ทุกคนในหมู่บ้านเชื่อว่า ภูเขาคือสวนหลังบ้าน เป็นที่พึ่งพา เก็บเกี่ยวพืชผล และสิ่งต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีพ

มาฮะมะ หะแว ยึดการเลื่อยไม้บนภูเขาเป็นอาชีพ ไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะไม้ตะเคียนมีมูลค่าสูง คุ้มค่าแรงกายที่ทุ่มเท

การโค่นล้มไม้ใหญ่รวมทั้งแปรรูปในป่าทึบ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ดูเหมือนการลากไม้เหล่านั้นลงจากภูเขา จะยากยิ่งกว่า

มัสบูดเริ่มงานลากไม้ตั้งแต่ 10 ขวบ

วิธีการคือ ใช้โซ่มอเตอร์ไซค์เก่าๆ คล้องหัวไม้ ต่อด้วยยางจักรยาน คล้องกับบ่า ดึงไม้กระดานกว้าง 8 นิ้ว ยาว 4 เมตร ครั้งละ 2-3 แผ่นลงมาตามทางเล็กๆ

นี่คล้ายจะไม่ใช่งานอันง่ายดายของเด็กวัย 10 กว่าขวบเลย

 

ป่าทิวเขาบูโด มีพื้นที่ติดต่อระหว่างจังหวัดยะลาและนราธิวาส มีสภาพเป็นป่าดิบฝนอันสมบูรณ์ และที่นี่คือแหล่งอาศัยของนกเงือก นกขนาดใหญ่ รวม 6 ชนิด จากจำนวน 13 ชนิดที่มีในประเทศไทย

นอกจากงานเลื่อยไม้ งานอีกอย่างของมาฮะมะ คือ ปีนต้นไม้เพื่อล้วงเอาลูกนกเงือกในโพรงไปขาย

 

“ไม่ยากหรอก ถ้าจะล้วงเอาลูกนก” มัสบูดเล่าความหลัง

เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพ่อ

การทำรังออกไข่เลี้ยงลูกของเหล่านกเงือก เป็นการทำในโพรง ที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่และขังตัวเองไว้ข้างใน นกตัวผู้ทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยง

นกตัวเมียเริ่มเข้าโพรงราวๆ เดือนมีนาคม

“สักเดือนมิถุนายน ลูกนกโตพอที่จะเลี้ยงได้รอด เราจะขึ้นไปล้วงตอนช่วงนี้แหละ” มัสบูดเล่า

คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งมีอาชีพนี้ นอกเหนือจากทำสวนผลไม้และยางพารา

ลูกนกขายได้ราคา จนกระทั่งเสียงร้อง เพราะหัวใจสลายจากพ่อแม่นกเมื่อกลับมาเห็นโพรงอันว่างเปล่า

ไร้คนใส่ใจฟัง

 

ทรรศนะรวมทั้งความเชื่อของมาฮะมะและเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน เปลี่ยนไปเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาถึงทิวเขาบูโดในปี พ.ศ 2537

ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เริ่มโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกส่วนภาคใต้ของเธอในปีนั้น

อ.พิไลไม่ได้มาเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตคนในหมู่บ้าน

แต่ให้คนที่พบโพรงนก จะได้ค่าตอบแทนเมื่อมาแจ้งการพบรัง และจะเป็นผู้ดูแลรังนกรังนั้น จนกระทั่งนกออกมาโบยบิน

หลายคนเข้าร่วมโครงการ พวกเขาเรียนรู้ ทำความรู้จักนกเงือก รับรู้ความมีประโยชน์ และหน้าที่ของพวกมัน

ยอมรับว่า “อาชีพ” ของเหล่านกเงือก คือปลูกป่า

มาฮะมะ หะแว พร้อมกับลูกชาย เข้าร่วมโครงการด้วย

และชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยนไป…

 

ด้วยทักษะการปีนต้นไม้ ซึ่งคล่องเหมือนลิง เมื่อมาใช้อุปกรณ์ปีนต้นไม้ด้วยเชือก จึงไม่ต่างกับการพบเครื่องเล่นชิ้นโปรด

มัสบูดได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถมาก

เพื่อนร่วมงานเรียกเขาว่า “น้า” ในความหมาย ยกย่องชื่นชม

 

คนจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมโครงการ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อย ยังยึดอาชีพเลื่อยไม้

ต้นไม้ที่มีโพรงอันเหมาะสมลดจำนวนลง

นกชนหิน ซึ่งเป็นนกเงือกตัวโต ต่างจากนกเงือกตัวอื่น ซึ่งสามารถเกาะขนานกับลำต้นไม้ ใช้หางช่วยประคองขณะเข้าป้อนเมียและลูกในโพรง

นกชนหินทำไม่ได้ เช่นนั้นพวกมันต้องหาโพรงที่เหมาะ มีปุ่มไม้อยู่เหนือโพรง เพื่อที่มันจะเกาะได้

ส่วนใหญ่ต้นไม้ที่มีลักษณะนี้คือ ต้นตะเคียน

 

วันหนึ่ง มัสบูดเดินมาหาปรีดา

“เราเสียใจที่ป้องกันต้นตะเคียนไว้ไม่ได้” มัสบูดน้ำตาคลอ เขาแจ้งข่าวต้นตะเคียน ที่นกชนหินครอบครัวหนึ่งใช้เป็นโพรงรัง ถูกโค่นล้ม

วันนั้นผมเห็นชายหนุ่มผิวคล้ำพูดน้อย ขี้อาย

ผู้ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนเพียงวิถีชีวิต

แต่หัวใจเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว

 

ผมใช้เวลาที่เชิงเขาบูโดนาน

และจากมานานแล้วเช่นกัน แต่กับมัสบูด ซึ่งตอนนี้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเราไม่ได้จากไปไหน

“เมื่อไหร่จะลงมา” มัสบูดถามทุกครั้งเมื่อมีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์

ถึงวันนี้ สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

เสียงปืน เสียงระเบิดยังไม่ยุติ ชีวิตสูญเสีย

เสียงเลื่อยยนต์ดังก้องภูเขา ต้นไม้ล้ม

ความไม่สงบ คล้ายจะยังอยู่ห่างไกล

แต่เหล่า “มืออาชีพ” ที่นั่น

ไม่เคยหยุดทำงานของพวกเขา…