ในประเทศ / Future is now

ในประเทศ

 

Future is now

 

อนาคต คือ ตอนนี้

ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติของคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ที่กระหายอยากให้ความฝัน อุดมการณ์ของตนเป็นจริงโดยเร็วที่สุด

บ่อยครั้งไฟอันร้อนแรง ทำให้อยากดึง “อนาคต” มาเป็น “ตอนนี้” เสียเลย

ทั้งที่เงื่อนไขยังเป็นไปไม่ได้ หรือยังไม่เป็นจริง จึงเกิดจุดอ่อน เกิดแรงเสียดทาน ตอบโต้ ต่อต้าน และหลายครั้งนำไปสู่ความรุนแรง แบบหักโค่น

ซึ่งสังคมไทยเราเคยมีบทเรียนใหญ่มาหลายครั้ง

 

อีกไม่กี่วัน จะถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งบทเรียน Future is now

หมุนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย”

เนื่องจากวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560

 

นายไชยันต์ รัชชกูล จากคณะรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า จะเห็นว่า นายปรีดีถูกโจมตีมากกว่าใครในคณะราษฎร

และเป็นการโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

สะท้อนความสำคัญของนายปรีดี

ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นายปรีดีจะไม่ถูกโจมตีนานเท่านี้

แต่เพราะโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยยังเป็นเหมือนเดิม

ขณะที่ยุทธวิธีในการทำลายผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็ยังเป็นเหมือนเดิม นายปรีดีจึงถูกโจมตีหลายเรื่อง

เช่น เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ชิงสุกก่อนห่าม ตัดหน้าเอาเครดิตเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเป็นคอมมิวนิสต์

วิธีการทำลายพลังประชาธิปไตย ก็ยังเป็นแท็กติกเดิมๆ

เหมือนกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2490 พรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นพรรคเดียวกันกับที่เคยล้มประชาธิปไตยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำการอภิปรายในสภาเป็นเวลา 8 วัน 8 คืน จนรัฐบาลซวนเซ เสียเครดิตเพื่อปูทางให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2557 เพียงแต่ว่า ไม่ได้มีแต่ในรัฐสภาเท่านั้น เพราะสภาพทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็นการเมืองมวลชน จึงใช้มวลชนบั่นทอนทำลายรัฐบาล และเชื่อว่า แท็กติกนี้จะถูกใช้ต่อไป

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 อาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่า จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ เมื่อมองย้อนกลับไป ข้อความนี้สำคัญมาก หมายถึงเมื่อชนะแล้วต้องพิทักษ์ไว้ เพราะคณะราษฎรชนะแต่เขี่ยลูกไปให้พระยามโนปกรณ์ มาเป็นนายกฯ ส่วนเจตนารมณ์คือความมุ่งมั่นในความปรารถนาประชาธิปไตยมันอยู่กับเรา วันหนึ่งเราจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ตราบใดที่ยังมีความพยายามนั้น” นายไชยันต์กล่าว

 

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพราะในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ที่นายปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้นมาใช้เป็นฉบับถาวร

แต่ ร.7 เห็นว่า ควรเป็นฉบับชั่วคราวก่อน โดยเฉพาะคำปรารภ เพราะมันเป็นรอยต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตย

คณะราษฎรขอร้องให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อการพัฒนาของชาติ และทรงยอมรับตามคำร้อง เป็นที่มาของมาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหลักการที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ โดยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนประเด็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่นายปรีดีพูดถึงไม่ใช่คอมมิวนิสต์

เพราะแนวคิดทางเศรษฐกิจของลัทธิมาร์กซ์กับปรีดีต่างกัน คือ ความเสมอภาคของระบอบประชาธิปไตยของนายปรีดี คือโอกาส คนทำมากได้มาก คนทำน้อยได้น้อย เป้าหมายของปรีดีมุ่งไปที่โอกาส

“แต่น่าเสียดายที่ปรีดีก้าวหน้าเกินไปในตอนนั้น …ผมชื่นชมนายปรีดีมาก ที่เคยยอมรับว่า ตัวเองผิดพลาด ที่พูดว่าตอนที่ข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์แล้ว ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ” นายปริญญากล่าว

 

คําอภิปรายของนักวิชาการ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะคำกล่าวของนายปรีดีข้างต้น นั่นคือ

“จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ”

และ

“ตอนที่ข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์แล้ว ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ”

เพราะการที่หนุ่มสาว และคนรุ่นใหม่ ไม่อาจพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ เอาไว้ได้

พร้อมกับความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็ว ทันใจ ด้วยการ “ปฏิวัติหักโค่นสิ่งเก่า” ลงเสียโดยไว

จึง “หันเห” ไปสู่แนวทางสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์

ทำให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงกับกลุ่มอำนาจดั้งเดิม

นำไปสู่การสังหารโหดการเมือง 6 ตุลาคม 2519

มีนิสิตนักศึกษาหลายพันคนแห่เข้าป่า ทำสงครามประชาชนกับรัฐบาล

สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถหักโค่นกันลงได้

จนต้องมีการเปลี่ยนแนวใช้การเมืองนำการทหาร เกิดนโยบาย 66/2523 ประกอบกับกระแสความขัดแย้งในพรรคคอมมิวนิสต์เอง

ทำให้สามารถยุติสงครามประชาชนลงได้

และเริ่มหวนคืนกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย

 

แต่ก็เป็นประชาธิปไตยที่ลุ่มๆ ดอนๆ

ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ เราก็ยังไม่สถาปนาประชาธิปไตยอันแท้จริงขึ้นได้ แม้กระทั่งปัจจุบัน

นำไปสู่วิกฤตรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 สังคมไทยได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่า ระบอบ “ทักษิณ” ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในระยะแรกอย่างรวดเร็ว

แต่ที่สุดก็ต้องเผชิญกับแนวคิดอนุรักษ์ แนวชาตินิยม ต่อต้าน

ทำให้ระบอบทักษิณถูกหักโค่นลง แม้จะไม่ราบคาบ ยังมีฤทธิ์เดชอยู่ ก็ไม่แรงพอที่จะคัดง้างการรัฐประหารที่ต่อเนื่อง 2 ครั้งได้

จึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยหวังว่าจะทำให้ระบอบทักษิณหายสาบสูญไป

แต่อย่างที่เห็น นั่นคือไม่สามารถหักโค่นระบอบทักษิณได้

ยิ่งกว่านั้น ได้ทำให้เกิดพรรคคนหนุ่ม-คนสาว พรรคของคนรุ่นใหม่อย่าง “อนาคตใหม่” ขึ้นมา

แม้จะไม่สามารถเอาชนะในสนามการเลือกตั้งที่มีการดีไซน์เพื่อการสืบทอดอำนาจได้

แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ได้รับ ส.ส.มากเหนือความคาดหมาย จนก่อให้เกิดการสั่นไหวทางการเมืองอีกครั้ง

แน่นอนย่อมถูกจับตาจากฝ่ายครองอำนาจปัจจุบัน ว่า นี่จะเป็นหน่อเนื้อความคิดที่เป็นอันตราย

จำเป็นที่จะต้องควบคุม ขจัด ให้พ้นไปหรือไม่

ซึ่งที่สุดแล้วก็มีการลงมือ

 

แน่นอน นอกจากประเด็นทางกฎหมายต่างๆ ที่พุ่งเป้าเข้าใส่พรรคอนาคตใหม่ ทั้งต่อบุคคลและองค์กร เพื่อควบคุมการเติบโตแล้ว

สิ่งที่บังเกิดในอดีต ทั้งต่อนายปรีดี ทั้งต่อนายทักษิณ ก็ย้อนรอยกลับมาสู่พรรคอนาคตใหม่ให้เรียนรู้ด้วย

เมื่อมีการหยิบเอาปูมหลังของคนในอนาคตใหม่ ทั้งเมื่อเป็นนักศึกษา อาจารย์ มาเล่นงาน ในฐานะผู้ที่มีทัศนะอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ถูกดำเนินการดังกล่าว

และที่สุดตอนนี้ ลามมาสู่พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกพรรค ที่กำลังมีบทบาทโดดเด่นอย่างสูงในสภาขณะนี้

ภาพและข้อมูลเก่าๆ ในเฟซบุ๊กของ น.ส.พรรณิการ์ สมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ ถูกขุดคุ้ยออกมาใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงการมีแนวคิดและทัศนะคดี “อันตราย” ต่อสถาบันหลักของชาติ

โดยเฉพาะภาพปี 2553 ที่สวมครุยถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีกิริยาที่ถูกมองว่า ไม่เหมาะสมกับสถาบันหลักของชาติอย่างยิ่ง

แม้ น.ส.พรรณิการ์จะออกมาชี้แจงพร้อมขออภัยอย่างสูงต่อประชาชนที่เห็นภาพนี้แล้วเกิดความไม่สบายใจแล้วก็ตาม

แต่กระแส #อีช่อหนักแผ่นดิน ก็ขยายไปสู่วงกว้าง

 

ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ก็ยื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยสั่งการไปยัง 3 หน่วยงานให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว

ประกอบด้วย 1. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ตรวจสอบเฟชบุ๊ก อินสตาแกรมของ น.ส.พรรณิการ์ ว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

  1. ให้กองกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบในกรณีดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดอาญาหรือไม่

และ 3. มอบหมายให้ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) ดำเนินการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือไม่อย่างไร

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ชี้ว่า ภาพของ น.ส.พรรณิการ์ น่าจะเข้าข่ายความผิดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งก็คือหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย (1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สอบสวนกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ต้องหยุดทำหน้าที่ และเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 10 ปี

กรณีนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงสงครามในโลกโซเชียลเท่านั้น

หากแต่ก้าวไปสู่การเล่นงานทางกฎหมายและทางการเมือง

เป็นภาวะอัน “สาหัส” ที่ น.ส.พรรณิการ์คงคาดไม่ถึงว่าจะถูกอดีตไล่ล่าเช่นนี้

จากนี้คงเป็นภาวะที่ต้องตั้งรับ และสรุปบทเรียนอย่างจริงจัง ว่าจะมีทางออกอย่างไร

ซึ่งนี่จะเป็นบทพิสูจน์อันสำคัญ ว่า คนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยไฟแห่งความหวังตามความเชื่อศรัทธา จะยืนหยัดอย่างไรในภาวะอันแหลมคมนี้

จะสร้างหรือมีแนวร่วมอย่างมั่นคงจากไหน

มิใช่เพียงช่อ หรือ น.ส.พรรณิการ์เท่านั้น ที่ต้องคิด

หากแต่หมายถึงทุกคนในพรรคอนาคตใหม่ และคนรุ่นใหม่ด้วย