ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข : ปี 2019 แล้ว ทำไม ส.ส.ยังต้องไปงานศพ?

เป็นประเด็นถกเถียง และก่นด่ากันอย่างใหญ่โตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากที่นักการเมืองฝั่งพรรคอนาคตใหม่ และผู้มีอุดมการณ์หัวก้าวหน้าหลายๆ กลุ่ม ว่าประเทศไทยได้ก้าวมาถึงปี 2019 แล้ว ทำไมถึงยังมี ส.ส. หรือนักการเมืองหลายๆ คนยังนิยมไปงานศพ

บ้างก็ตั้งข้อสังเกตกันว่าการไปเยือนงานศพ หรือพิธีศพของราษฎรทั้งหลายในชุมชนนั้นมิใช่หน้าที่และภารกิจสำคัญของ ส.ส. หรือผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ร่างกฎหมาย เป็นปากเสียงแทนประชาชนและชุมชนที่ตนเองเป็นผู้แทนฯ

ดังนั้น ส.ส.จึงมีหน้าที่ทำงานในสภา ไม่ใช่ออกมาวิ่งเต้นตามงานศพ [เพื่อเอาหน้า]

บางท่านก็ถึงกับตีตรากลุ่ม ส.ส.ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวในต่างจังหวัดว่าเป็น “ส.ส.ตลาดล่าง” หรือ ส.ส.บ้านนอก

จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันจากในหลายๆ ฝ่าย

มากไปกว่านั้นคือมีการเรียกร้อง รณรงค์กันให้ ส.ส.เลิกไปงานศพ เลิกไปงานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานชุมชนต่างๆ นานาไปโดยปริยายด้วยเลย เพื่อตัดปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล และการหาเสียง (หรือซื้อเสียงทางอ้อมจากระบบการ “ใส่ซอง”) ในชุมชนระดับท้องถิ่น และภูมิภาค

เพราะกิจกรรมดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ถูกวิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล้าสมัย

และไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

 

ในทางทฤษฎีและในทางคำพูดแล้วมันอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวจากฝั่งผู้รักในแนวคิดเสรีนิยมและหัวก้าวหน้าทั้งหลายนี้มันมีความเป็นไปได้หรือสามารถเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน

คงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องนำมาพิจารณากันให้ถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สังคมไทยโดยเฉพาะในสังคมของคนต่างจังหวัด ไม่ว่าจะในแถบชนบทและแถบชุมชนเมืองทั้งหลายนั้นยังคงเป็นสังคมประเภทชุมชนแบบรวมกลุ่ม

การที่ชาวบ้าน ลูกบ้าน และสมาชิกภายในชุมชน หมู่บ้าน สังคมนั้นๆ จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน หรือมีงานรวมพลของชุมชนอยู่บ่อยๆ

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือผิดปกติใดๆ และภายในความปกติของกิจกรรมเหล่านั้น ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ ส.ส. หรือผู้แทนฯ ของชุมชนและท้องถิ่นนั้นๆ จะสอดแทรกตัวเองเข้าไปร่วมกิจกรรม/งานรวมพลเหล่านั้นเพื่อดูแล เอาใจใส่ลูกบ้านของตนเอง (ที่เลือกตนเองเข้ามา)

การที่ ส.ส.จะเสนอหน้าไปร่วมงานศพ งานบวช งานทำบุญ งานขึ้นบ้านใหม่และงานสำคัญประจำชุมชนครั้งต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความห่วงใย เอาใจใส่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือผิดปกติใดๆ เช่นกัน

นอกจากนี้การไปร่วมงานชุมชน งานพิธีกรรมภายในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และลูกบ้านของตนเองในท้องถิ่นนั้น ยังเป็นโอกาสดีเพียงไม่กี่โอกาสที่ ส.ส.จะสามารถเข้าถึงชุมชนและลูกบ้านได้ในเวลาเดียวกันโดยไม่ต้องมีการเรียกประชุมลูกบ้านให้ซ้ำซ้อนอย่างเป็นทางการเหมือนการตรวจเยี่ยมลูกบ้าน

หรือตรวจเยี่ยมครอบครัวของหน่วยงานอื่นๆ ที่อาจต้องรอโอกาสและเงื่อนไขด้านเวลาที่ซ้ำซ้อน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้มีเวลาว่างที่แน่นอน หรืออยู่ในโอกาสที่จะว่างตรงกันอีกด้วย

 

การไปร่วมงาน ร่วมกิจกรรมระดับชุมชนกับลูกบ้าน และราษฎรภายใต้ความดูแลของตนเอง แม้จะไม่ใช่งานหลัก หรือหน้าที่หลักของผู้ที่ดำรงตนเป็น ส.ส. แต่ก็เป็นหน้าที่ที่จะละเลยมิได้ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้แทนฯ ของประชาชน

การเข้าไปรับฟัง พูดคุย ถามไถ่ถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้ชีวิตของลูกบ้าน และชุมชนที่อยู่ในความดูแลของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ ส.ส.พึงทำเป็นอย่างยิ่ง

การไปเสนอหน้าในงานศพจึงไม่ใช่การกระทำในฐานะของเทคนิคในการหาเสียงมิติหนึ่งเสียทีเดียว

แต่ในทางกลับกันแล้วมันเป็นการกระทำในฐานะของเทคนิคการเข้าถึงปัญหา และความทุกข์ยากของประชาชนที่ ส.ส.จำเป็นต้องทำต้องปฏิบัติ

ในจักรวาลของผู้คนต่างจังหวัด หรือสังคม ชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายนั้น ส.ส.ไม่สามารถทำงานอยู่แต่ในสภา เรียกร้องหรือร่างกฎหมายอยู่แต่ในห้องแอร์ ห้องประชุมเพียงอย่างเดียวได้ หากแต่ต้องออกมาคลุกคลี ตรวจสอบ ดูแล รับฟังปัญหา และแสดงออกถึงความห่วงใยประชาชนฐานเสียง และลูกบ้านของตนเองอย่างทั่วถึงอีกด้วย

เพราะนอกจากจะส่งผลด้านบวกต่อนโยบายและกฎหมายที่จะออกมาอย่างสอดคล้องกับปัญหาของลูกบ้านตนเองได้แล้ว

ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในมิติด้านของความเข้าถึงได้ ความเรียบง่าย ความจริงใจของตัวนักการเมือง และความรู้สึกไว้ใจที่ชาวบ้านในชุมชนจะมีให้ต่อผู้แทนฯ ของตนเองด้วย

ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญอย่างมากประการหนึ่งในการรักษารูปแบบสัมพันธ์ชุดนี้เอาไว้

 

ผมเข้าใจสิ่งที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และผู้มีอุดมการณ์หัวก้าวหน้าต้องการจะเสนอเป็นอย่างดี ถึงประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ นั้นควรมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย

แต่สิ่งที่หนึ่งที่อยากจะย้ำเตือน และชวนกันให้มาขบคิดให้ลึกลงมาอีกขั้นหนึ่ง คือประเด็นเรื่อง “รากวัฒนธรรม” ที่มีฐานอยู่บนกรอบวิธีคิด วิธีปฏิบัติแบบระบบเจ้านายอุปถัมภ์ (patron-clientelism) ของสังคมไทย

เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินผ่านหู ผ่านตากันมาบ้างเกี่ยวกับคำว่า “ระบบอุปถัมภ์” นี้ ว่ามันฝังรากลึกอยู่ภายในระบบชุมชน สังคมและวัฒนธรรมไทยเรามากเพียงใด

การส่งพวงหรีด การใส่ซอง หรือแม้แต่การเทียวเสนอหน้าไปงานศพ งานบวช งานเกิด งานป่วย หรืองานสังคมของชุมชนอาจถูกมองผ่านกรอบเสรีนิยมว่าเป็นการซื้อเสียงรูปแบบหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันคือการทำงานชุดหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากสำคัญรากหนึ่งของสังคมไทย

ส.ส./นักการเมือง จะไม่เข้าถึงงานศพ งานบวช งานบุญเหล่านั้นไม่ได้ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการให้เกียรติ แสดงออกถึงน้ำใจ ความนับถือ

และที่สำคัญที่สุด “ดูแลลูกบ้านตนเอง” ให้ดี

การจะรณรงค์หรือเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างวัฒนธรรมการเมืองลักษณะดังกล่าวนี้อาจมีเหตุผลในแง่ของการพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองให้มีรูปแบบที่ก้าวหน้า พัฒนามากยิ่งขึ้น

แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงนี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่?

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ปลายเหตุของปัญหามากกว่าตัวปัญหาเชิงโครงสร้าง

การออกมาวิ่งรณรงค์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างประเพณีการปฏิบัติดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรต่อตัวโครงสร้าง [ที่เป็นปัญหา] ในปัจจุบันเลย

เพราะต่อให้สามารถเรียกร้องล้มเลิกให้ ส.ส. หรือนักการเมืองไม่ต้องไปงานศพได้จริง

ระบบเจ้านายอุปถัมภ์ที่เป็นแกนกลาง หรือตัวเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนสังคม วัฒนธรรม และจุดสำคัญที่สุด “ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน/ลูกบ้านที่มีต่อนักการเมือง” ก็ยังคงขับเคลื่อน และทำงานของมันเองได้ต่อไปในแนวปฏิบัติกรอบเดิมๆ

เพียงแค่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบหรือแบบแผนไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งเพียงเท่านั้น

 

ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศเครือข่ายของ Global South (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา) ที่ยังคงตกอยู่ในวังวนของกรอบวิถีการปฏิบัติและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในหลายๆ ประเทศแม้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีวัฒนธรรมการเมืองแบบเสรีนิยมที่ค่อนข้างแข็งแรงแล้ว

ก็ยังมีปรากฏการณ์นักการเมืองเยี่ยมงานศพ [เพื่อตอกย้ำถึงวิธีคิดแบบระบบอุปถัมภ์] ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

หนึ่งในนั้นคือ ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่แม้ว่าอาจจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเสียงรูปแบบหนึ่ง แต่ด้วยสภาพสังคม และเงื่อนไขการปฏิบัติในระดับชุมชนแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร

เพราะมันมีนัยและมิติของการดูแลเครือข่าย การพบปะ เข้าถึงประชาชนลูกบ้านเข้ามาเป็นเหตุผลหลักสำคัญแทนประเด็นเรื่องการซื้อเสียง หรือการสร้างเครือข่ายอิทธิพลแบบเจ้านายอุปถัมภ์ไป

หากจะมีใครต้องการลุกขึ้นมาแก้ไข แน่นอนการแก้ไข ปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเหล่านั้นควรตั้งอยู่บนแบบแผนในการแก้ไขจากต้นเหตุของปัญหา

มิใช่ปลายเหตุของปัญหา โดยเฉพาะกับการพยายามแก้ปัญหาด้วยการหักดิบ หรือหักล้างกับความเชื่ออย่างประเด็นในเรื่องของวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติในระดับชุมชนท้องถิ่นที่อาจจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง