เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (8)

เกษียร เตชะพีระ

(บทสนทนาระหว่างชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับโรสแมรี่ เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข)


โรสแมรี่ เบคเลอร์ : …แต่ฉันอดสนเท่ห์ใจไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อมูลหนึ่งซึ่งดูจะขาดหายไป เธอพูดไว้มากทีเดียวเรื่องความสำคัญสำหรับพวกประชานิยมฝ่ายซ้ายของการสร้างลัทธิรักชาติฝ่ายซ้ายขึ้นมาเพื่อต่อต้านลัทธิรักชาติปีกขวา ในประเทศที่มีรากเหง้าลัทธิเคมาลอย่างตุรกี (หมายถึงมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก จอมพลทหาร รัฐบุรุษนักปฏิวัติ นักเขียนและผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี รวมทั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกจากปี ค.ศ.1923 จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ.1938 – ผู้เขียน) ที่ซึ่งพรรคที่กุมอำนาจกำลังทำให้อุดมการณ์ครอบงำหันไปในทิศทางที่กดขี่และชาตินิยมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั้น มันยากที่จะมองออกว่าพรรคประชาธิปไตยประชาชนจะลั่นกลองลัทธิรักชาติที่ว่านี้ไปกับเขาด้วยได้อย่างไร?

ชองตาล มูฟ : ฉันวางใจเพื่อนชาวตุรกีของฉันนะคะ เมื่อพวกเขาบอกฉันว่าพรรคประชาธิปไตยประชาชนเป็นความพยายามในแนวทางประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องลัทธิรักชาติน่ะ พรรคประชาธิปไตยประชาชนก็กำลังพยายามนิยามเอกลักษณ์ตุรกีเสียใหม่ไปในทางที่พหุนิยมกว่าเดิมมากไม่ใช่หรือคะ? ฉะนั้นก็ใช่ว่ามิติด้านลัทธิรักชาติจะหายไปไม่ เพียงแต่มันให้ความหมายใหม่ว่าอะไรคือความเป็นตุรกีเท่านั้นเอง

การที่ฉันยืนกรานเรื่องปัญหาชาตินิยมกับลัทธิรักชาตินั้นก็เป็นผลมาจากการที่ฉันสนใจวิชาจิตวิเคราะห์เสียเป็นส่วนใหญ่ ฉันคิดว่าเราต้องตระหนักรับสิ่งที่ฟรอยด์ (หมายถึง Sigmund Freud, ค.ศ.1856-1939, ชาวออสเตรียผู้คิดค้นวิธีจิตวิเคราะห์เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต – ผู้แปล) เรียกว่าการทุ่มเทเชิงลิบิโดอย่างแรงกล้าให้แก่การสำนึกสำเหนียกหมายกับชาติ (หมายถึงการให้ความสำคัญทางจิตใจแก่ชาติโดยเชื่อมโยงกับสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตหรือความรักใคร่ – ผู้แปล) ฉันไม่เห็นด้วยกับความคิดของฮาเบอร์มาสเรื่องเอกลักษณ์หลังชาติ (หมายถึง J?rgen Habermas, ค.ศ.1929-ปัจจุบัน, นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันร่วมสมัยชื่อดังผู้สังกัดสำนักทฤษฎีวิพากษ์ – ผู้แปล) เราต้องมองดูว่าเราจะดำเนินงานกับรูปแบบการกำหนดเอกลักษณ์แห่งชาติต่างๆ และสร้างมันออกมาในลักษณะที่เปิดกว้างและพหุนิยมจริงๆ ได้อย่างไร

แน่ละค่ะว่าสิ่งที่ฉันว่านั้นก็คงจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปลิบลับในประเทศต่างๆ ในบางประเทศมันจะทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ ฉันคิดว่าในฝรั่งเศส ลัทธิรักชาติฝ่ายซ้ายทำได้ง่ายกว่าที่อื่นมากเนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เธอก่อตั้งมันขึ้นได้จริงๆ บนพื้นฐานคุณค่าที่เป็นสากล ทว่ามันทำได้ยากกว่ามากในเยอรมนีและออสเตรียที่ซึ่งฉันมีโอกาสได้อภิปรายกับเพื่อนฝูงอย่างน่าสนใจมากทีเดียวช่วงที่ไฮเดอร์ผงาดขึ้นมามีอำนาจ (หมายถึง J?rg Haider, ค.ศ.1950-2008, นักการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาดาวรุ่งชาวออสเตรีย – ผู้แปล) ฉันว่าฉันไม่เคยเห็นประเทศไหนที่ฝ่ายซ้ายต่อต้านลัทธิรักชาติมากเท่านี้ ชาวออสเตรียต่อต้านชาติออสเตรียแรงมากอย่างเหลือเชื่อ ฉันเคยบอกพวกเขาว่า

“พวกคุณจะลดทอนประวัติศาสตร์ทั้งหมดทั้งมวลของออสเตรียลงมาเหลือแค่ช่วงเวลาเจ็ดแปดปีที่ชาวออสเตรียบางคนหันไปอ้าขาผวาปีกต้อนรับการที่นาซีเยอรมันผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนไม่ได้หรอกนะ มันยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกตั้งเยอะแยะ อย่างเช่น เรื่องนครเวียนนาแดงเอย พวกออสโตร-มาร์กซิสต์เอย” มิหนำซ้ำเวียนนาก็ยังปกครองโดยรัฐบาลสังคมประชาธิปไตยมาตลอดนับแต่นั้นด้วย ฉันย้ำว่า “พวกคุณสามารถสร้างเรื่องเล่าที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับคุณค่าแห่งชาติของพวกคุณได้!”

ฉันจินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่ามันจะมีสังคมไหนที่ไม่เคยปรากฏเชื้อมูลและฉากตอนที่ก้าวหน้าทำนองนี้ขึ้นบ้างเลยแม้แต่น้อย ในกรณีฝรั่งเศส มันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ขบวนการฝรั่งเศสกบฏ (La France Insoumise) เก่งมากเรื่องนั้น พวกเขาตระหนักว่ามิอาจปล่อยสนามลัทธิรักชาติให้ตกไปอยู่ในกำมือของมารีน เลอเปน ทั้งหมดได้ พลันที่เลอเปนเอ่ยอ้างถึงฌอง ดาร์ก (Jeanne D”Arc, ค.ศ.1412-1431, วีรสตรีลูกชาวนาผู้กอบกู้ชาติฝรั่งเศสจากการครอบงำของอังกฤษในสงครามร้อยปีของยุคกลางในยุโรปเพื่อแย่งกันปกครองดินแดนฝรั่งเศส – ผู้แปล) เอาเข้าจริงเลอเปนก็กำลังอยู่ในกระบวนการสร้างเรื่องเล่าว่าด้วยประวัติศาสตร์และความหมายของฝรั่งเศสล้อมรอบคุณค่าปีกขวาของเธอขึ้นมาทั้งเรื่อง หากเจอเข้าอย่างนั้น เธอก็ต้องมีเรื่องเล่าทวนกระแสของตัวเองบ้าง ในบริเตน ฉันรู้ว่าประเด็นนี้เป็นที่สนใจของแอนโธนี บาร์เน็ตต์ (Anthony Barnett, ค.ศ.1942-ปัจจุบัน, นักเขียนและนักรณรงค์เคลื่อนไหวชาวอังกฤษชื่อดัง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ openDemocracy ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 – ผู้แปล)

แต่ฉันไม่บังอาจแสดงความเห็นว่าพวกเธอทำเรื่องนี้กันอย่างไรหรอกนะ

ทั้งหมดที่ฉันรู้ก็คือว่า ถ้าหากเธอพยายามวาดหวังว่าจะปฏิบัติการทางการเมืองและนิยามโครงการปลดปล่อยอย่างไรในอนาคตละก็ เธอต้องเริ่มจากความเข้าใจมานุษยวิทยาทางการเมืองที่ดีพอ มันเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว ฉันมักถูกวิจารณ์บ่อยๆ ที่ยืนกรานเรื่องมิติแห่งชาติ แต่ฉันปักใจเชื่อว่าเธอต้องเริ่มจากการต่อสู้ภายในประเทศของเธอเองเสมอ แล้วจากที่นั่น เธอถึงจะสามารถเริ่มต้นสถาปนาพันธมิตรกับขบวนการทำนองเดียวกันในประเทศอื่นๆ ได้

ตัวอย่างเช่น เพื่อนๆ ของฉันในขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์บอกฉันว่าปัญหาที่เกิดกับขบวนการก็คือมันไม่ได้มาจากการสนับสนุนของประชาชนในแต่ละประเทศอย่างแท้จริง เอ็นจีโอจำนวนมากมาประชุมกันในเวทีสังคมโลก (World Social Forum) ที่เมืองปอร์โต อาเลเกร ในบราซิลแล้วก็อภิปรายกันที่นั่นอย่างวิเศษสุด แต่พอพวกเขากลับไปยังประเทศของตนก็พบว่าไม่มีฐานสนับสนุนสิ่งที่พวกเขากำลังทำอย่างแท้จริงแต่ประการใด ฉันคิดว่าเธอต้องเริ่มจากรากเหง้า จากท้องถิ่น แล้วค่อยเคลื่อนตัวออกไปจากที่นั่น กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ประชานิยมฝ่ายซ้ายจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถดำรงอยู่ในระดับทั่วทวีปยุโรปเท่านั้น ป่วยการคิดเป็นอย่างอื่น และมันก็มีการต่อสู้ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องไปจัดตั้งมันขึ้นในระดับทั่วทวีปยุโรป อาทิ การต่อต้าน TTIP เป็นต้น

(หมายถึง Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกากำลังเจรจากันอยู่ – ผู้แปล)

ส่วนเรื่องชาตินิยมนั้น ประเด็นหัวใจที่ฉันอยากหยิบยกขึ้นมาคือสิ่งนี้ ความพะวงสนใจที่ทำให้ฉันเขียนหนังสือแด่ประชานิยมฝ่ายซ้ายนั้นมาจากคำถามใจกลางข้อหนึ่ง นั่นคือควรจะกระทำการทางการเมืองอย่างไรในจังหวะสถานการณ์ปัจจุบัน? ฉันปักใจเชื่อว่าเราอยู่ในจังหวะคับขันเพราะมันเกิดวิกฤตของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ และตรงนี้เธอต้องเข้าใจว่าฉันหมายถึงอะไร เราต้องจำแนกระหว่างนโยบายเสรีนิยมใหม่ทั้งหลายแหล่กับอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ แน่ละว่านโยบายเสรีนิยมใหม่เหล่านั้นยังคงทรงพลังอยู่ แต่สิ่งที่ตกอยู่ในวิกฤตได้แก่อำนาจนำของมัน

เป็นเวลานานหลายปีที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ตามตัวแบบแองโกล-แซ็กซอนถูกมองว่าเป็นยาสารพัดนึกและเป็นทางออกเดียวเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่ทำไมพรรคสังคมประชาธิปไตยทั้งหมดแปรพักตร์ไปรับภารกิจนั้น ทว่านับแต่วิกฤตการเงินปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา เราได้เห็นรอยปริแยกปรากฏขึ้น และสำหรับฉันแล้วปี ค.ศ.2011 ก็เป็นจังหวะสำคัญอีกวาระหนึ่งเมื่อขบวนการผู้โกรธแค้น (Indignados ขบวนการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจในสเปน – ผู้แปล) และ “ขบวนการแห่งจัตุรัส” อื่นๆ ทั้งมวลผงาดขึ้นมา เมื่อการต่อต้านเริ่มมาจากพวกฝ่ายซ้ายบ้างและมิใช่ว่าจะมาจากขบวนการประชานิยมปีกขวาเท่านั้น นั่นแหละที่เราเริ่มเข้าสู่สิ่งที่ฉันเรียกว่า “จังหวะประชานิยม” (a populist moment) แน่นอนค่ะว่าผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับว่าในสองฝ่ายนี้ ฝ่ายไหนจะได้ขึ้นครอบงำ ฝ่ายใดจะครองอำนาจนำเหนือขบวนการต่อต้านเหล่านั้นอย่างได้ผลกว่ากัน

ถ้าฝ่ายซ้ายไม่สามารถเข้าใจโอกาสที่ถูกหยิบยื่นมาให้และไม่อาจฉวยเป็นฝ่ายกระทำได้แล้ว พวกประชานิยมฝ่ายขวานั่นแหละที่จะขึ้นครอบงำและนำมาซึ่งระบอบปกครองอำนาจนิยม-ชาตินิยม ในนามของการกู้ประชาธิปไตยกลับคืนมา พวกประชานิยมฝ่ายขวาจะจำกัดจำเขี่ยประชาธิปไตยลงไป

ฉะนั้น สิ่งที่ฉันกำลังบอกก็คือ มันจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจะต่อสู้กับประชานิยมปีกขวาอย่างไร และเพื่อจะต่อสู้กับประชานิยมปีกขวา เธอต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ฉันเห็นดกดื่นเหลือเกินในหมู่ฝ่ายซ้าย นั่นก็คือการพึ่งพาอาศัยแต่การก่นด่าประณามทางศีลธรรม เอาแต่ร้องแรกแหกกระเชอว่า “มันเป็นพวกฟาสซิสต์!” ขอถามหน่อยเถอะว่า พอเธอป่าวร้องอย่างนั้นแล้ว เธอจะต่อสู้กับพวกมันต่อไปอย่างไร? ตัวอย่างเช่น ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในฝรั่งเศส สิ่งพิมพ์มากหลายพรั่งพรูกันออกมาเพื่อเถียงว่า “มารีน เลอเปน ไม่ใช่พวกมหาชนรัฐ!” สิ่งพิมพ์พวกนั้นปักใจเชื่อว่าลำพังพูดแค่นั้นก็จะสามารถสกัดขัดขวางคนที่ไปโหวตให้มารีน เลอเปนได้ ส่วนฉันเถียงว่า ถ้าจริงอย่างนั้นแล้ว พรรคของมารีน เลอเปน ก็ไม่ควรได้เงินอุดหนุนจากรัฐเพื่อให้สามารถลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งได้ มันจริงไปทั้งคู่ไม่ได้หรอก ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง

(ต่อสัปดาห์หน้า)