บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /เมื่อนายกฯ ‘หนุ่มสุดในโลก’ ‘ตกเก้าอี้’ อย่างไว

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อนายกฯ ‘หนุ่มสุดในโลก’

‘ตกเก้าอี้’ อย่างไว

 

การเลือกตั้งในซีกยุโรปเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา เกิดกระแสใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นกันไม่น้อย เมื่อปรากฏว่า “คนหนุ่ม” ได้รับเลือกเป็นผู้นำ เริ่มจากเอ็มมานูเอล มาครง ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส กลายเป็นผู้นำแดนน้ำหอม อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ด้วยวัย 39 ปี

ถัดมาไม่กี่เดือน ออสเตรียทำสถิติน่าตื่นเต้นกว่า เมื่อเซบาสเตียน เคิร์ซ หัวหน้าพรรคประชาชนออสเตรีย (OVP) ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของออสเตรียและน้อยที่สุดของโลกอีกด้วย ในวัยแค่ 31 ปีเท่านั้น

เซบาสเตียนเนื้อหอมอยู่พักใหญ่ เขาถูกเรียกว่า “ร็อกสตาร์” ทางการเมือง ได้รับเชิญไปพูดในงานใหญ่หลายงานของยุโรป ออกงานถ่ายภาพกับคนดังเยอะแยะมากมาย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เซบาสเตียนก็ทำสถิติใหม่อีกด้าน ด้วยการกลายเป็นนายกฯ ออสเตรียคนแรกนับจากยุคหลังสงครามโลกที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะแพ้มติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หลังจากเขาและคณะรัฐมนตรีถูกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPO) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจในข้อหาคอร์รัปชั่น

และในที่สุดรัฐสภาลงมติถอดถอนเขาและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ

 

สาเหตุการยื่นไม่ไว้วางใจมาจากคลิปฉาวที่ถูกสื่อเปิดโปง

โดยคลิปนี้เผยให้เห็นว่า นายไฮน์ซ คริสเตียน ชตราเคอ หัวหน้าพรรคอิสรภาพ (FPO) กำลังดื่มเหล้าอยู่ที่บ้านหรูหลังหนึ่งในสเปน พร้อมกับนายโยฮานน์ กูเดนัส รองหัวหน้าพรรค

แต่ปัญหาอยู่ที่ไม่ใช่การดื่มเหล้าธรรมดา เพราะในนั้นปรากฏภาพของหญิงสาวที่เป็นทายาทมหาเศรษฐีรัสเซียร่วมวงอยู่ด้วย

ทั้งสองคนพูดคุยกับหญิงสาวรัสเซียในลักษณะที่สัญญาว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะมอบสัญญางานจากรัฐเป็นการตอบแทน

แต่มีข้อแลกเปลี่ยนคือหญิงรัสเซียต้องซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของออสเตรีย เพื่อทำให้หนังสือพิมพ์นี้กลายมาเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนพรรค FPO

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ หัวหน้าพรรคอิสรภาพ สัญญาว่าเขาจะไล่นักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งออกไปให้พ้นทางด้วย

การเจรจาเสนอผลประโยชน์ดังกล่าว มีขึ้นก่อนการเลือกตั้งออสเตรียเมื่อปี 2560 และในเวลาต่อมาหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป พรรค FPO ได้เข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค OVP ของนายเซบาสเตียน เคิร์ซ

โดยนายชตราเคอได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อคลิปดังกล่าวถูกแฉออกมา ทำให้ชาวออสเตรียโกรธแค้นมาก ออกมาขับไล่พร้อมกับประณามว่าทำในสิ่งที่น่าละอาย

ทำให้ในที่สุดนายชตราเคอต้องลาออก แต่ไม่วายแก้ตัวว่าเป็นเพราะฤทธิ์เหล้าพาไป

ทว่าการลาออกของนายชตราเคอก็ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบของฝ่ายค้าน เพราะถือว่าพรรคของนายเคิร์ซจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านได้รับเสียงสนับสนุนในการเข้าชื่อจากสมาชิกพรรค FPO ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

หลังจากนี้ ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ แวน เดอ เบลเลน จะเป็นผู้เลือกนายกฯ คนใหม่มาทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกันยายน ในขณะที่นายเคิร์ซโพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเล่นเกมแก้แค้นเขา

พร้อมกับประกาศว่าเดือนกันยายนนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

 

อดีตนายกฯ หนุ่มสุดของออสเตรียผู้นี้ ชนะเลือกตั้งด้วยแนวคิดอนุรักษนิยม ที่ถือว่าถูกใจชาวออสเตรียเพราะเขาให้สัญญาว่าจะเข้มงวดและทำทุกทางเพื่อสกัดผู้อพยพซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวออสเตรียกังวล

นอกจากนี้เขายังประกาศจะพลิกโฉมภาพลักษณ์ของออสเตรียใหม่ เพื่อให้ออสเตรียกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม เป็นการเดินตามรอยสโลแกนหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่า จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (ซึ่งถูกแซวว่าอเมริกายิ่งใหญ่อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องให้ใครมาทำให้ยิ่งใหญ่) ซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นหนุ่มสาวออสเตรียจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดของนายเคิร์ซ

บางคนบอกว่า เคิร์ซเป็นพวกหัวเสรีนิยมใหม่ที่กระหายอำนาจ เขาแสร้งสร้างภาพพจน์เสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นพวกที่อยู่นอกวงการเมือง ทั้งที่ตัวเขาเองเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาแล้ว 4 ปี

นัยยะของผู้ที่วิจารณ์เขาก็คือ เขาเอาแต่ด่าคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง แล้วก็ยกตัวเองว่าผุดผ่อง เป็นของใหม่ ทั้งที่ตัวเองก็เล่นการเมืองมาแล้วหลายปี

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของผู้นำหนุ่มในยุโรป ไม่ได้ราบเรียบ แต่ดูเหมือนสะดุดหัวทิ่มเร็วกว่าผู้นำอายุมากเสียอีก เช่น กรณีเอ็มมานูเอล มาครง เรตติ้งตกต่ำตั้งแต่ 3 เดือนแรก ทำสถิติเลวร้ายกว่าฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขาเสียอีก ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีใครใส่ร้าย แต่เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของเขาเอง

ส่วนจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่สร้างความฮือฮาด้านความหนุ่มมาก่อนใครในซีกตะวันตก ตอนนี้ส่อเค้าร่อแร่ เรตติ้งร่วง เหลือแค่ 40% ต่ำกว่านายกรัฐมนตรีแคนาดาคนก่อนหน้า (สตีเฟ่น ฮาร์เปอร์-ที่ไม่ใช่คนหนุ่ม) และแย่กว่านั้นก็คือต่ำกว่าประธานาธิบดีทรัมป์เสียอีก

ความตกต่ำของทรูโดมาจากเรื่องอื้อฉาวที่ถูกแฉว่า เขาใช้อำนาจกดดันอดีตรัฐมนตรียุติธรรมให้ยกเลิกข้อหาคอร์รัปชั่น อันเป็นข้อหาอาญาแก่บริษัท SNC-Lavalin ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมในแคว้นควิเบกของแคนาดา แล้วให้ลงโทษเพียงปรับเงิน เพื่อไม่ให้บริษัทดังกล่าวถูกแบนจากการเข้าประมูลงานรัฐ เพราะหากมีความผิดฐานคอร์รัปชั่น บริษัทดังกล่าวจะถูกแบนจากการประมูลงานรัฐ 10 ปี

ที่แย่กว่านั้น บริษัทดังกล่าวต้องสงสัยด้วยว่าติดสินบนรัฐบาลลิเบีย ในช่วงที่โมอัมมาร์ กัดดาฟี ครองอำนาจอีกด้วย

หากจำกันได้ จุดขายสำคัญของทรูโดที่ทำให้เขาชนะเลือกตั้งก็คือ การให้คำมั่นสัญญาอย่างแรงกล้าเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผย เปิดกว้างและเทิดทูนประชาธิปไตยอย่างเต็มกำลัง

เรื่องราวของผู้นำหนุ่มเหล่านี้ บางทีสอนให้รู้ว่า อายุเป็นแค่ภาพลวงตา ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับประสิทธิภาพหรือมาตรฐานการทำงานในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ได้ยกระดับการเมืองให้ดีขึ้น

ประเทศไทยเราก็กำลังอยู่ในช่วงเห่อคนหนุ่ม ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ “พ่อของฟ้า” หัวหน้าพรรคใหม่หมาด คนหนุ่มรวยหมื่นล้าน ที่ประกาศจะ “เปลี่ยนแปลง” ประเทศไทย จนชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

แต่มาสะดุดตรงที่ชี้แจงการถือครองหุ้นสื่อได้อย่างน่าสับสน น่าสงสัย ทำให้อนาคตเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที