หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘สิ่งที่คิดถึง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้าง - การพบเจอช้างบนเส้นทางในป่า ในบ้านของพวกมัน คือเรื่องธรรมดา

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สิ่งที่คิดถึง’

 

เส้นทางในป่า

ไม่ว่าจะเป็นป่าผืนใดในป่า ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

มักจะมีสภาพคล้ายๆ กันคือทุรกันดาร

ในฤดูแล้งและฤดูฝน สภาพจะต่างกันราวกับหน้ามือและหลังมือ

ฤดูฝน นอกจากความลื่นไถล หล่มลึก ต้นไม้ใหญ่น้อยล้มขวางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะพบเหมือนๆ กันคือ เหล่าสัตว์ป่า

โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่า ผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร

อย่างเสือโคร่ง และเสือดาว

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า เสือพวกมันค่อนข้าง “สำอาง” เสือเลือกเดินไปตามเส้นทางที่เดินสะดวก หลีกเลี่ยงโคลนแฉะ หรือทางรกๆ ทึบๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่คนจะพบเจอเสือบนเส้นทางที่ใช้ร่วมกัน

 

ที่จริงแม้ว่าเส้นทางที่คนใช้ คนจะแผ้วถาง หรือใช้รถแทร็กเตอร์ไถขึ้นมาเอง

แต่ส่วนใหญ่ทางก็ทำโดยอาศัยด่าน หรือทางเดินของสัตว์ป่าที่มีอยู่ก่อนแล้ว

แม้แต่การเดินด้วยเท้า คนมีเครื่องมือนำทางอย่างจีพีเอส เดินสู่จุดหมายง่ายขึ้น ไม่หลง แต่การใช้ด่านสัตว์ป่าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ยิ่งป่าใดมีช้างอาศัยอยู่ ด่านจะกว้าง เดินสบาย

สัตว์ป่าเดินทางตลอด พวกมันเคลื่อนย้ายเสมอ เหตุผลหลักคือ มุ่งสู่แหล่งอาหาร และเป็นไปตามฤดูกาล

ด่านหรือเส้นทาง จะเชื่อมต่อระหว่างแหล่งอาหารที่เป็นตัวกำหนด

บางตัวเดินทางใกล้ๆ บางตัวไปไกล

และมีมากมายที่เดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลก

ในฤดูหนาว เหล่านักเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังที่อบอุ่นกว่า ความหนาวเย็นไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ความขาดแคลนอาหารทำให้พวกมันออกเดินทาง

เมื่อถึงเวลา สัตว์ป่าจะเริ่มต้นเดินทางไปตามเส้นทางที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

พวกมันออกเดินทางโดยมีความหวัง มีทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม หรือแหล่งอาหารสมบูรณ์ เป็นจุดหมาย

หลายตัวเป็นการเดินทางครั้งแรก

หลายตัวรู้ว่า นี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย

และไม่ว่าจะเดินทางไปไกลแสนไกลเพียงไร

เมื่อถึงเวลา พวกมันจะเดินทางกลับถิ่นกำเนิด

 

การเดินทางของสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือนั้น เป็นการเดินที่ค่อนข้างมีระบบ

นักวิจัยพบว่า เสือตัวผู้จะเดินเป็นวงรอบอาณาเขตของมัน

จุดประสงค์เพื่อตรวจพื้นที่ รวมทั้งแวะเยี่ยมตัวเมียภายในอาณาเขตด้วย

ส่วนเสือตัวเมีย การเดินมักมีจุดประสงค์เพื่อหาอาหาร

 

ในป่า

คนกับสัตว์ป่าพบเจอกันบนเส้นทางไม่ใช่เรื่องแปลก

แม้ไม่พบตัว เราก็มักพบร่องรอย หรือรอยตีน หลายครั้งในขากลับ เราพบว่ารอยตีนเราโดนรอยตีนเสือย่ำทับด้วยซ้ำ

รอยตีนเสือที่พบ ประทับชัดเจนบนพื้น แสดงให้เห็นว่า เจ้าของรอยเดินอย่างมั่นคง

เดินไปตามจังหวะก้าวเท้าของตัวเอง คือสิ่งจำเป็น

สถานะของตนจะเด่นชัด

 

ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก

ผมเดินทางกับอดิเทพคู่หู จากบ้านช่องสามัคคี ที่อยู่เลยหมู่บ้านจะแกไม่ไกล บ่อยๆ

เขาเป็นชายวัยใกล้เกษียณ มีความเชื่อเดิมๆ หลายอย่าง และบอกให้ผมปฏิบัติ

อย่างหนึ่งที่เขาถือมาก และเราปฏิบัติจนเป็นนิสัยคือ ไม่ทำอะไรอันจะนำมาสู่คำที่พูดว่า “กำล่ะ”

“กำล่ะ” ในความหมายของคนแถบบ้านจะแกคือ “เป็นลาง”

“อย่าทำแบบนั้นนะ มันจะกำล่ะ” อดิเทพเตือนผมเสมอ

 

เช้าวันหนึ่ง เราต้องออกไปที่สำนักงานเขต ผมจะออกไปส่งงาน ส่วนคนอื่นจะออกไปประชุม

ฝนตกมา 3-4 วันแล้ว นั่นทำให้เรารู้ว่า จะพบกับสภาพเส้นทางอย่างไร

“กินข้าวเช้าแล้ว ห่อไปแต่ข้าวกลางวันนะ ข้าวเย็นไม่ต้อง เดี๋ยวจะกำล่ะ” อดิเทพบอกทุกคน

การเดินทางบนทางเส้นนี้ ควรใช้สุภาษิตที่ว่า “คนเดียวหัวหาย-สองคนเพื่อนตาย” ยิ่งหลายคนยิ่งดี

ตั้งแต่เช้ามืด ผ่องไม้โพ่ ในฐานะช่างตรวจสอบความเรียบร้อยของรถ ตัวมอมแมม เขามุดใต้ท้องรถ ดูว่าส่วนใดหลวม น้ำมันเยิ้ม ขันน็อตให้เข้าที่ ส่วนใดชำรุดมาก เอายางในรถตัดเป็นเส้นเล็กๆ มัดไว้ก่อน

“ข้าวเย็นไปกินที่เขตนะครับ” ลุงนมยืนส่ง

อดิเทพหัวเราะ ท่าทางฮึกเหิมราวกับจะออกรบ ทั้งๆ ที่เป็นการเดินทางแค่ 30 กิโลเมตรเท่านั้น

ออกจากหน่วยมาได้ราว  6 กิโลเมตร ขณะพุ่งขึ้นเนินที่เป็นร่องลึกและลื่น รถผมก็ติดอยู่กลางเนิน

ผมเปิดประตูออกมายืน ค่อนข้างหนักใจ เพราะอาการของรถ เพลาหน้าใช้ไม่ได้ เพลาขับขาด น้ำและโคลนเข้าได้ ลูกปืนแตก

ผลคือ จากนั้นรถใช้งานได้เพียงสองล้อหลัง

บนเส้นทางที่ขับเคลื่อนสี่ล้อยังยาก

ดูเหมือนการไม่ห่อข้าวเย็น เพราะกลัวกำล่ะ จะเป็นการคิดผิดเสียแล้ว…

 

เรามาได้อย่างช้า เพราะต้องขุด และบางช่วงต้องขุดทางให้เป็นบั้งๆ

วินซ์ใช้ไม่ได้ หลายหล่มเราต้องกระดี่ คือ การใช้ไม้งัดล้อให้ลอย และเอาหินมาหนุนล้อ เพื่อให้รถผ่านพ้นไปให้ได้

กระทั่งมืด

“นอนตรงนี้แหละ พรุ่งนี้วิทยุบอกผ่องไม้โพ่มาช่วย” อดิเทพแนะนำ

เราใช้น้ำข้างทางล้างตัวและหน้าที่มีแต่โคลน

“นี่ข้าวเย็น เราไม่กินตอนกลางวัน เห็นไหม กลายเป็นข้าวเย็น มันเลยกำล่ะ”

ผมอดขำในเหตุผลของเขาไม่ได้

 

ผมผูกเปลปลายข้างหนึ่งกับต้นไม้ อีกข้างผูกไว้กับรถ

ไม่มีฝน ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆดำ คืนขึ้น 10 ค่ำ มองไม่เห็นความสว่างนวลของดวงจันทร์

มองไม่เห็น แต่จำเป็นต้องเชื่อว่ามีดวงจันทร์อยู่หลังเมฆดำนั่น

ก่อนฟ้ามืด ผมเห็นรอยตีนเสือโคร่งเดินเลาะไปข้างๆ ทาง หลบหล่มโคลน

เราเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

แต่ก็เถอะ คล้ายจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ในเรื่องของการเดินทาง ระหว่างสัตว์กับคน

เมื่อสัตว์ป่าเดินทาง พวกมันมีจุดมุ่งหมาย มีความหวังเด่นชัดรออยู่เบื้องหน้า

ส่วนคน เมื่อเดินทาง

“สิ่งที่คิดถึง” คือ ที่ที่จากมา