นักวิชาการมอง ใครได้รับเลือก “นายกรัฐมนตรี” ขึ้นอยู่กับเวลาพิจารณา

วันที่ 1 มิ.ย. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเปิดเป็นสาธารณะ ใครจะได้เป็น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

คอการเมืองคงทราบแล้วว่า ผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรับการโหวตจาก ส.ส. (500) และ สว. (250) จะมีเพียง 7 คน จากพรรคที่ได้ ส.ส.อย่างน้อย 5% หรือ 25 คน

ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

รายชื่ออื่นๆที่พรรคอื่นๆ เสนอในการเลือกตั้ง ไม่เข้าเกณฑ์มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป วันที่ 5 มิถุนายน เราอาจได้เห็นการปะทะกันระหว่าง 2 ชื่อ จาก 2 ค่าย หรือ 3 ชื่อ หากประชาธิปัตย์ตัดสินใจส่งคุณอภิสิทธิ์ลงแข่งขัน โดยที่ภูมิใจไทยน่าจะเลือกไม่เสนอชื่อคุณอนุทิน

คำถามคือ ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องปรากฏตัวในสภาไหม…โดยกติกาแล้วไม่ได้กำหนดไว้ แต่โดยความเหมาะสมตามกระบวนการทางการเมือง ผู้ได้รับการเสนอชื่อควรอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงตัว การเข้าร่วมประชุมรัฐสภา เป็นการให้เกียรติผู้แทนปวงชนชาวไทยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เป็นปฐมบทของการแสดงความรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติ ที่แม้สมาชิกส่วนหนึ่งท่านจะแต่งตั้งมาเอง แต่โดยหลักการของระบบรัฐสภา สภานิติบัญญัติจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ คานอำนาจ และทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร จะดียิ่ง หากมีการแสดงวิสัยทัศน์ ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใด

ความแตกต่างอย่างสำคัญจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ นอกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และ ให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (ตามบทเฉพาะกาล) แล้ว คือ ระยะเวลาในการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก โดยต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด

หากเลย 30 วัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนําความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี (แม้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง-คือรัฐบาลเสียงข้างน้อย) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาใดๆ ไว้

ม. 272 (2) ระบุไว้เพียงว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ให้ 2 สภา ร่วมกันเสนอปลดล็อคด้วยเสียงครึ่งหนึ่ง (375) ต่อด้วยการลงมติปลดล็อกด้วยเสียง 2 ใน 3 (500) เพื่อยกเว้นให้คนนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ ได้รับการพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ 5 มิถุนายน หากพลเอกประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงเกิน 375 ไม่ว่าจะมี ส.ส. ลงคะแนนให้เกิน 250 เสียงหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ แต่หากไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกิน 375 ก็ไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาว่าการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเสร็จสิ้นลงเมื่อใด

การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปโดยเปิดเผย เราจะได้เห็นว่าใครโหวตให้ใคร ใครงดออกเสียง