ปชป.วงแตก-ฉุน ‘บิ๊กตู่’ ขอคัดรมต.เอง-พลิ้วแก้รธน. อัดผิดมารยาทการเมือง

ประชุมกก.บห.ปชป.วงแตก หลัง ‘บิ๊กตู่’ขอคัดตัว รมต.-พลิ้วแก้รธน. อัดผิดมารยาทการเมือง สั่งเลื่อนประชุมร่วมส.ส. ไม่มีกำหนด เหตุปัญหาใน พปชร.

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเวลานัดหมายประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) แต่ปรากฏว่าทาง กก.บห.และแกนนำพรรคได้ติดตามการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการประชุมครม. โดยเฉพาะในประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าเงื่อนไขการขอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เงื่อนไขกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าจะขอเป็นคนตรวจรายชื่อครม.ที่จะร่วมรัฐบาลในอนาคตด้วยตนเอง จึงทำให้คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว จนเป็นเหตุให้การประชุมล่าช้ากว่า 1 ชั่วโมง จนเริ่มประชุมได้เมื่อเวลา 18.10 น.โดย น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรค ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า “กลับบ้านไปก่อนเลยครับ เพราะทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่ายังไม่เรียบร้อย จึงขอเลื่อนประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหากจะมีการประชุมเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบ”

จากนั้นนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา กล่าวว่า แม้ พปชร.จะจัดการปัญหาตัวเองไม่เรียบร้อย พรรคของเราก็น่าจะหารือเรื่องของเราเองได้ แต่ปรากฏว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับ ขณะที่กก.บห.แต่ละคนก็ทยอยเดินทางออกจากพรรค

ขณะที่กลุ่มกก.บห.พรรคที่รู้สาเหตุถึงการผิดเงื่อนไขต่างตั้งวงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ โดยกก.บห.และส.ส.หลายคนต่างเห็นพ้องว่า หากพรรคพลังประชารัฐไม่มีเอกภาพและไม่รักษาคำพูด บิดพลิ้วข้อตกลงโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นหลักและเป็นมติของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะร่วมงานกันไม่ได้ เช่นเดียวกับการเสียมารยาททางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ที่ถือวิสาสะทุบโต๊ะจะขอตรวจรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน แต่มาจากการยึดอำนาจ และทำทุกวิถีทางเพื่อสืบสานอำนาจ หากเป็นเช่นนี้ส.ส.ส่วนใหญ่ที่คิดว่าจะโหวตร่วมรัฐบาลก็จะทบทวนท่าทีที่จะร่วมรัฐบาลต่อไป

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีความชัดเจนในตัวเอง ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไม่สามารถให้คำตอบกับเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอได้ แต่ที่ตนไม่สบายใจที่สุดคือท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า จะมีส่วนร่วมในการคัดตัวรัฐมนตรีจากพรรคต่าง ๆ ซึ่งตนคิดว่าเป็นก้าวก่าย ครอบงำ ชี้นำพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ รวมถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล

“จากที่เรามีมติให้เลขาธิการพรรคไปประสานงานพูดคุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่า หากจะให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย จะให้พวกผมเข้าใจว่าอย่างไร แสดงว่าเขากำลังปฏิเสธข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดใช่หรือไม่ จึงอยากให้ประชาชนจับตามองว่าเกมต่อไปของการจัดตั้งรัฐบาลขั้วพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรต่อไป ความผิดทั้งหมดไม่ใช่ของประชาธิปัตย์ แต่เป็นของแกนนำตั้งรัฐบาลที่มีปัญหาภายในพรรคตัวเอง” นายเทพไทกล่าว

ต่อมาเวลา 18.30 น.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมีคำสั่งให้การนัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) และประชุมร่วม ส.ส. นั้น ขอเลื่อนออกไป เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ พรรคพปชร. ขอเชิญ ปชป. ร่วมทำงานและมีการคุยหลักการทำงานร่วมกันไว้หลายประเด็น คือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการนำนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติ ซึ่งพรรคมีแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ และพปชร. จะให้ข้อมูลกลับมาภายใน 17.00 น. วันนี้(28 พ.ค.) แต่ พปชร. ยังไม่ได้ให้คำตอบมาภายในเวลาที่กำหนดว่าจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร เราจึงต้องเลื่อนการประชุมออกไป


นายราเมศ กล่าวต่อว่า การพูดคุยไม่ได้มีการพูดถึงโควต้ารัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตร ที่ตกลงกันไม่ลงตัว และหากจะเลือกนายกรัฐมนตรีล่าช้าก็คงต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติของรัฐธรรมนูญ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจาก ปชป. ทั้งนี้พรรคได้แจ้งรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการแจ้งกลับมาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ถ้า พปชร.ติดต่อกลับมาก็ค่อยว่ากันอีกครั้งพรุ่งนี้ (29 พ.ค.)ซึ่งพรรคได้แจ้งให้ กก.บห. และ ส.ส.ทุกคนเตรียมความพร้อมรอกอยู่กทม. หากมีการเรียกประชุม ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรให้พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายพูด รวมทั้งเสถียรภาพในการตั้งรัฐบาลด้วย

เมื่อถามว่า หาก พปชร. ยังไม่มีการติดต่อกลับมาก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี ปชป.พร้อมเป็นฝ่ายค้านอิสระหรือไม่ และพรรคไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เองโดยไม่รอพรรค พปชร. หรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน และพรรคได้เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่ทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว

เมื่อถามว่าปชป.จะเปลี่ยนใจไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า ยังไกลเกินไป อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายมา และทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนได้

 

มติชนออนไลน์