สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (14) เมื่อกระแสขวาร้อนแรง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO

“เหนือสิ่งใดในมนุษย์สุดสูงส่ง คือธำรงสิทธิ์และศักดิ์รักษามั่น
สู้เถิดสู้! สู้ด้วยแรงแกร่งกล้านั้น จงร่วมมานสมานฉันท์ต่อสู้ไป”
-ทวีปวร-

 

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ก็อาจจะต้องยอมรับว่าความพลิกผันของการเมืองไทยและความผันผวนของการเมืองในภูมิภาคตลอดปี 2518 เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทัศนคติ (perception) และการตัดสินใจของบรรดาชนชั้นนำ ผู้นำทหาร

อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวทางการเมืองอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง ตลอดรวมถึงบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมต่างๆ

พวกเขากลัวอย่างมากว่าอีกไม่นานนัก “โดมิโนตัวที่ 4” จะล้มลงที่ไทย

อาจกล่าวได้ว่า “ความกลัวทางการเมือง” เช่นนี้ ได้กลายเป็น “โมเมนตัม” ที่มีพลังในการขับเคลื่อนกระแสขวาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมาก

และขณะเดียวกันก็ดูจะเป็นแรงผลักดันที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรง ภายใต้วาทกรรม “ขวาพิฆาตซ้าย” เพราะเชื่อว่าถ้าจะทำให้ประเทศปลอดภัยจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ และโดมิโนไม่ล้มที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็อาจจะต้อง “จัดการ” กับพวกฝ่ายซ้ายด้วยมาตรการเด็ดขาด

ความเชื่อเช่นนี้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ซึ่งในปี 2518 ในบริบทของปัญหาต่างประเทศที่มีฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเป็นประเด็นหลัก

ซึ่งบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวาทั้งหลายมองว่าประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้โดยปราศจากฐานทัพสหรัฐในบ้าน

กระแสขวาทะยานขึ้นสูง!

ดังนั้น การปะทะของพลังฝ่ายซ้ายและพลังฝ่ายขวาในปี 2518 จึงมีผลกระทบอย่างสำคัญต่ออนาคตของการเมืองไทย และขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนของฝ่ายขวาที่กำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการพ่ายแพ้ของสหรัฐในอินโดจีน ได้ก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มขวาในรูปแบบต่างๆ

ได้แก่

-กลุ่มกระทิงแดง

ในการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516 นั้น นักเรียนอาชีวะได้มีบทบาทอย่างสำคัญร่วมกับนิสิตนักศึกษาในการต่อสู้กับระบบการปกครองของทหารในขณะนั้น

แต่ต่อมาได้มีการแยกสลายพลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาให้แตกออกจากกัน จนทำให้ในที่สุดแล้ว นักเรียนอาชีวะได้แปรเปลี่ยนกลายไปเป็น “พลังขวา” และแสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษา

ซึ่งในความเห็นต่างที่ชัดเจนก็คือกรณีฐานทัพสหรัฐในไทย เมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพ

กลุ่มนักเรียนอาชีวะก็แสดงออกด้วยการเดินขบวนไปยังสถานทูตอเมริกัน และมอบช่อดอกไม้ให้แก่อุปทูตสหรัฐ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 เป็นต้น

การขยับตัวของนักเรียนอาชีวะไปเป็นกลุ่มขวานั้น เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่ามีการสนับสนุนจากกลุ่มทหารบางส่วนที่อยู่ใน “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ซึ่งแต่เดิมก่อน 14 ตุลาคม 2516 หน่วยงานนี้ชื่อ “กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) และหลังเหตุการณ์ในปี 2516 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กอ.รมน. แต่ก็ยังคงมีภารกิจตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

กล่าวคือ เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ แต่ยังคงภารกิจเดิมในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ไว้เป็นหลัก

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่นายทหารระดับสูงใน กอ.รมน. จะหันไปจัดตั้งนักเรียนอาชีวะให้เป็นพลังในการต่อต้านการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา

และที่สำคัญที่สุด นักเรียนฝ่ายขวากลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งและติดอาวุธเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในปฏิบัติการต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้ายด้วย

จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของกลุ่มกระทิงแดงในฐานะของการเป็น “ผู้ใช้ความรุนแรง” ในการเมืองไทยในช่วงปี 2518 ต่อปี 2519 และที่สำคัญ การใช้ความรุนแรงของกลุ่มนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวานี้หาได้เคยถูกจับกุมหรือถูกจัดการโดยฝ่ายรัฐแต่อย่างใด

กลุ่มกระทิงแดงจึงกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขวาในเมืองที่เห็นได้อย่างชัดเจน และกลุ่มนี้จึงถูกใช้เหมือนกับปฏิบัติการ “สงครามกองโจร” ต่อขบวนการนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการก่อกวน การคุกคาม ตลอดรวมถึงการเข้าตีแบบโฉบฉวยเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น เป็นต้น

ซึ่งปฏิบัติการเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานของ “สงครามกองโจรในเมือง” ในรูปแบบง่ายๆ โดยให้เด็กวัยรุ่นที่เป็นนักเรียนอาชีวะถูกปลุกระดม จนพวกเขากลายเป็น “พลังขวาจัด” ในการเมืองไทย

และต้องยอมรับว่าหลังเหตุการณ์ 2516 แล้ว พันเอกสุตสาย หัสดิน ผู้นำทหารที่เข้ามาจัดตั้งนักเรียนอาชีวะกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการแยกสลายพลังนักเรียนนักศึกษา

ต่อมาก็ยังมีกลุ่มต่างๆ อีก เช่น สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย สหพันธ์ครูอาชีวะ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มในลักษณะเช่นนี้ที่เป็นกลุ่มเล็กๆ และเคลื่อนไหวแบบขวาจัด เช่น กลุ่มช้างดำ กลุ่มค้างคาวไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า กลุ่มพิทักษ์ไทย กลุ่มกล้วยไม้ไทย กลุ่มแนวร่วมรักชาติ เป็นต้น

กลุ่มเหล่านี้คือภาพสะท้อนความสำเร็จของการจัดตั้งฝ่ายขวาของผู้นำทหารและกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ก็กลายเป็นการสร้าง “ขั้วทางการเมือง” (polarization) ในยุคก่อนปี 2519 ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

จนอดคิดเปรียบเทียบถึงความเป็นขั้วเช่นนี้กับการเมืองไทยปัจจุบันไม่ได้ จากรัฐประหาร 2549 จนล่วงเข้าปี 2559 ขั้วนี้ก็ไม่ถูกสลาย และดูจะอยู่อย่างหนาแน่นกับการเมืองชุดปัจจุบันจนกลายเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของการเมืองไทยร่วมสมัยไปเสียแล้ว

-กลุ่มนวพล

ถ้ากลุ่มกระทิงแดงโยงกับกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งใน กอ.รมน. กลุ่มนวพลก็โยงกับทหารอีกกลุ่มหนึ่งใน กอ.รมน. เช่นเดียวกัน

แต่การเคลื่อนไหวในเวทีสาธารณะนั้นใช้ปัญญาชนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา คือ นายวัฒนา เขียววิมล มาเป็นนักเคลื่อนไหว

ต้องถือว่าก่อนเหตุการณ์ในปี 2519 นั้น นายวัฒนาได้เดินสายปราศรัยในหลายเวที โดยมีประเด็นหลักอยู่กับการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เกิดความรักชาติ จนกลายเป็นการสร้าง “ทัศนะอย่างสุดโต่ง” ในเวลาต่อมา

เช่น มองการเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีนของรัฐบาลคึกฤทธิ์ด้วยสายตาเชิงลบอย่างยิ่ง ถึงขนาดมีการออกแถลงการณ์ต่อต้านนโยบายดังกล่าวด้วยการกล่าวหา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนวพลด้วยเป้าหมายมุ่งหาสมาชิกนั้น ทำให้กลุ่มถึงกับประกาศว่ามีสมาชิกมากกว่าหนึ่งล้านคน

ตัวเลขจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะในหมู่นักธุรกิจและข้าราชการนั้น ทำให้กลุ่มมีอิทธิพลอย่างมากในการขยายอุดมการณ์ฝ่ายขวาในช่วงปี 2518-2519

-กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน

กลุ่มการเมืองปีกขวาที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งได้แก่กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนี้ก่อตั้งก่อนเหตุการณ์ 2516 เพื่อสร้างความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประชาชนกับข้าราชการ

แต่ต่อมาภารกิจของกลุ่มได้กลายเป็นการรวบรวมข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ส่งให้แก่ทางราชการ

ดังนั้น เมื่อกลุ่มถูกปรับเปลี่ยนภารกิจให้ถือเอาการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นหลัก จึงสอดรับกับการเผชิญปัญหาภัยคุกคามของรัฐไทยที่มีคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลางของรัฐบาล

กิจกรรมของกลุ่มที่เดิมเน้นอยู่กับชาวบ้านในชนบทจึงขยายตัวเข้าสู่พื้นที่ของเมือง ตลอดรวมถึงในกรุงเทพฯ เองด้วย

กิจกรรมลูกเสือชาวบ้านขยายไปในทุกจังหวัดและในกรุงเทพฯ จนอาจจะต้องถือว่ากลุ่มลูกเสือชาวบ้านกลายเป็น “กองกำลังของรัฐ” ในระดับที่เป็นชาวบ้าน

ซึ่งในทางทหารนั้น หากติดอาวุธแล้ว คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็น “ทหารบ้าน” (militia) ไปโดยทันที

เพราะมีการจัดตั้งและปลุกระดมด้วยอุดมการณ์ขวาจนเกิดความพร้อมในการรวมตัวและก็พร้อมเป็นฝ่ายต่อต้านนักศึกษาไปโดยทันที


-ชมรมวิทยุเสรีและสื่อกระแสขวา

ในท่ามกลางการขยายตัวของกระแสขวานั้น บทบาทของสื่อมวลชนอีกส่วนที่น่าสนใจได้แก่ การรวมตัวของเครือข่ายวิทยุทหาร

ซึ่งในระบบเครือข่ายวิทยุนั้น มีสถานีวิทยุทหารอยู่เป็นจำนวนมาก

และในการนี้มี “สถานีวิทยุยานเกราะ” เป็นศูนย์กลาง

ในภาวะที่กระแสซ้ายขยับตัวสูงขึ้นหลังจากการล้มของโดมิโนในอินโดจีนแล้ว กระแสขวาในไทยก็ขยับตัวสูงขึ้นตามกันไปในปี 2518

รายการ “เพื่อแผ่นดินไทย” จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อออกอากาศทุกวัน โดยมีเนื้อหาหลักในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ซึ่งการออกอากาศเช่นนี้มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้ฟังอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ “นักพูดฝีปากคม” ไม่ว่าจะเป็น อาคม มกรานนท์ อุทิศ นาคสวัสดิ์ และ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

อันทำให้รายการนี้มีผู้ติดตามฟังเป็นจำนวนมาก

และถือว่าเป็นสื่อฝ่ายขวาที่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวในยุคนั้น

ซึ่งในบริบทของสื่อแล้วก็ยังรวมไปถึงหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา อย่างเช่น ดาวสยาม ตลอดรวมถึงรายการสนทนาทางการเมืองในโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ของ ดุสิต ศิริวรรณ เป็นต้น

ฉะนั้น จากปี 2518-2519 จะพบว่าสื่อฝ่ายขวาได้เปิดการปลุกระดมต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่าหนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีทางการเมืองก็คือขบวนนักศึกษา

-ชมรมแม่บ้าน

การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาอีกส่วนมุ่งเป้ากับกลุ่มที่ในทางการเมืองแล้วเราอาจจะนึกไม่ถึงว่าจะมีใครเข้าไปจัดตั้ง เช่น ชมรมแม่บ้าน

โดยการดึงเอาแม่บ้านให้ออกมาเป็นพลังในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ซึ่งตัวแบบนี้เคยใช้มาก่อนแล้วในละตินอเมริกา เช่น การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านให้ต่อต้านรัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดีอัลเยนเดแห่งชิลีในช่วงปี 2516 เป็นต้น

กลุ่มนี้ในไทยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในกรณีฐานทัพสหรัฐในไทย

และพยายามปกป้องการคงฐานทัพไว้ในไทยให้ได้ ซึ่งกลุ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างมากในช่วงปี 2519

-กลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวา

การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาอยู่ในพรรคการเมืองและในสภาเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ บทบาทของนักการเมืองฝ่ายขวา โดยเฉพาะปีกขวาของพรรคประชาธิปัตย์เป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ตัวละครที่สำคัญ เช่น สมัคร สุนทรเวช สมบุญ ศิริธร ส่งสุข ภัคเกษม และ ธรรมนูญ เทียนเงิน

ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักการเมืองก็มีทิศทางที่ชัดเจนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขณะเดียวกันก็เริ่มส่งสัญญาณถึงการปฏิเสธการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

และมีทัศนะว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็น “รัฐบาลอ่อนแอ” ซึ่งส่วนหนึ่งก็ดูจะสอดรับกับแนวคิดของยุคสงครามเย็นที่เชื่อว่าระบบการเลือกตั้งจะทำให้เกิดรัฐบาลที่อ่อนแอในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

ทัศนะเช่นนี้มักจะนำไปสู่แนวคิดที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลทหาร โดยเชื่อว่ารัฐบาลทหารแม้จะเป็นระบบอำนาจนิยม แต่ก็มีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

จนทัศนะดังกล่าวกลายเป็นวาทกรรมที่คอยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารในไทยและในประเทศโลกที่สามอื่นๆ มาแล้ว

-กอ.รมน.

หากพิจารณาถึงแกนกลางของการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาต่างๆ ในข้างต้น จะพบว่ามีความเชื่อมโยงอย่างมากกับบทบาทของผู้นำทหารบางส่วนในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เกือบทั้งสิ้น

หรือแม้กระทั่งบทบาทปัญญาชนต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่าง สมชัย รักวิจิตร ที่มีผลงานเป็นหนังสือออกมาหลายเล่ม ก็มีส่วนเชื่อมกับนายทหารระดับสูงใน กอ. รมน. ด้วยเช่นกัน

ฉะนั้น หากมองย้อนกลับไป ก็อาจจะต้องยอมรับถึงความสำเร็จของผู้นำทหารในการจัดตั้งกลุ่มพลังฝ่ายขวา และยกระดับด้วยการปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง

จนหลายครั้งจะพบว่ากลุ่มเหล่านี้มีความพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด

ในนามของ “ขวาพิฆาตซ้าย”

พลังจัดตั้งขวา

ความสำเร็จของการจัดตั้งของกลุ่มขวาต่างๆ ล้วนอิงอยู่กับการโหมโฆษณาทางการเมืองอย่างหนักที่เน้นในเรื่องของการปกป้อง 3 สถาบันหลักของไทย

ซึ่งก็คือการเน้นเรื่อง “ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์” ในฐานะของความเป็น “องค์สาม” ของอุดมการณ์อนุรักษนิยมไทยนั้น

การขับเคลื่อนอุดมการณ์นี้ในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน จึงกลายเป็นความสำเร็จของ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (PSYOP) ชุดใหญ่ของกองทัพไทย…

ผู้คนในสังคมไทยกลัวอย่างมากว่าไทยอาจจะรับมือกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ไม่ไหว

และขณะเดียวกัน สหรัฐก็มีท่าทีว่าอาจจะถอนตัวออกจากไทย ชนชั้นกลางไทยจึงกลัวอย่างมากว่าเขาอาจจะเป็น “มนุษย์เรือ” ในเวลาอีกไม่นานนัก

ในท่ามกลางความกลัวทางการเมืองที่กำลังแพร่กระจายในสังคมไทย ขบวนนักศึกษาในปี 2518 มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องปัญหาฐานทัพอเมริกาในไทย ภายใต้คำขวัญ “ฐานทัพต้องออกไป อธิปไตยจึงสมบูรณ์”

การเคลื่อนไหวของพวกเราในขณะนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

พลังขวาต้องการเอาฐานทัพอเมริกาไว้ เรากลับต้องการเอาฐานทัพออก

แรงปะทะของสองทัศนะเช่นนี้จะมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตของการเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้!