อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (ที่เล็กที่สุดและไม่มีภูเขา) แต่เก่าก่อนไม่ได้ชื่อนี้ แต่มีชื่อ ‘ยางเนิ้ง’ เพราะ….

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ยางเนิ้ง”

ยางเนิ้ง เป็นชื่อเดิมของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่เล็กที่สุดและเป็นเพียงอำเภอเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่ไม่มีภูเขา

จุดเด่นของที่นี่คือ ถนนสายต้นยางซึ่งมีอายุกว่าร้อยปีเรียงรายตลอดสองข้างทาง

มีความยาวเริ่มตั้งแต่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปจรดเขตอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งอำเภอสารภีมีคำขวัญว่า “ต้นยางใหญ่ ลำไยหวาน เมืองโบราณเวียงกุมกาม พระนอนบวรงาม เชิดชูนามสารภี” อันแสดงถึงความสำคัญของต้นยางในพื้นที่

คำว่ายางเนิ้ง สันนิษฐานว่ามาจากต้นยางที่มีลักษณะ “เนิ้ง” หรือ “โน้มเอน” เข้าหากันจากสองข้างริมถนน

แต่ที่มาของการเปลี่ยนชื่ออำเภอ คือราว พ.ศ.2472 ท้าวพระยาขุน พร้อมด้วยราษฎรได้เสนอต่ออำมาตย์ตรีพันธุราษฎร นายอำเภอในสมัยนั้น ขอเปลี่ยนชื่ออำเภอเสียใหม่เนื่องจากชื่อ “ยางเนิ้ง” ฟังดูไม่ไพเราะ และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอสารภี”

โดยตั้งตามชื่อของดอกสารภี ซึ่งเป็นดอกไม้ไทยสีเหลือง มีกลิ่นหอม ต้นมีอายุยืน นิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วไปในเขตอำเภอ

สําหรับประวัติของการปลูกต้นยางบนถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่-สารภีนั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2442 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาปกครองเชียงใหม่

เวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 รัฐบาลได้ให้ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง และให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง “เจ้าหลวง” เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่จึงอยู่ในความดูแลของข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คนแรกคือเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบายที่เรียกว่า “น้ำต้อง กองต๋ำ” อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไป-มา

จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว

ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน

ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่

ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก

ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก

สำหรับการปลูกต้นยางที่อำเภอสารภีนั้น เริ่มต้นปลูกอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยจะเกณฑ์ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐ รวมถึงชาวบ้านที่ไม่อยากจะเป็นทหาร ให้มาปลูกต้นยางตั้งแต่บ้านหนองหอยจนมาถึงแดนเมือง โดยจะให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางคนละประมาณ 4-5 ต้น

ถ้าหากพบว่าต้นยางที่ตนรับผิดชอบตายก็จะต้องนำต้นยางมาปลูกใหม่

ต้นยางที่ปลูกบนถนนสายเชียงใหม่-สารภีนั้นคือ “ต้นยางนา” อันเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และเป็นไม้สงวนประเภท ข ด

การได้ทราบที่มาของการปลูกต้นยางจากผู้คนในอดีต การดูแลรักษาให้ต้นยางได้เติบโตสูงใหญ่ จะทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความรักความเอาใจใส่ของคนในชุมชนกับต้นไม้

แล้วทำไมคนรุ่นปัจจุบันถึงได้คิดตัดต้นยางนา จะไม่คิดส่งไม้ต่อให้เป็นมรดกกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปเลยละหรือ