สุรชาติ บำรุงสุข | วันวานที่ไคโร… วันนี้ที่กรุงเทพฯ! คนใหม่-สื่อใหม่-พื้นที่ใหม่-การต่อสู้ใหม่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การปฏิวัติ [อียิปต์] วางแผนบนเฟซบุ๊ก จัดตั้งในทวิตเตอร์ และกระจายเสียงสู่โลกผ่านยูทูบ สำนักข่าวของโลกกลายเป็นลำโพงขนาดใหญ่สำหรับนักข่าวสมัครเล่น และขยายผลของการปฏิวัติออกไปทั่วโลก”

Paul Mason (2012)

หลังจากเห็นผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว ก็อดที่จะนึกเปรียบ “กระแสการเมืองใหม่” ที่ขับเคลื่อนโดย “คนรุ่นใหม่” จนนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของโลกใน “อาหรับสปริง” ที่ไคโรไม่ได้

แม้เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ จะเป็นเพียงการเลือกตั้ง แต่ก็เห็นถึงปัจจัยร่วมบางประการ

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าอียิปต์และไทยมีความเหมือนกันทุกอย่าง

แต่อยากจะทดลองนำเสนอภาพเชื่อมโยงทางการเมืองในบางมุม ดังนี้

1) ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคมในประเทศไทย ได้บ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญว่า การเมืองไทยกำลังก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

จนสภาวะเช่นนี้อาจนำไปสู่การกำเนิดของ “ภูมิทัศน์การเมืองใหม่” (new political landscape)

ซึ่งภูมิทัศน์นี้ทำให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ เครื่องมือทางการเมืองใหม่ ที่มาพร้อมกับพื้นที่ทางการเมืองใหม่และมีรูปแบบการต่อสู้แบบใหม่

ซึ่งทั้งสี่ส่วนนี้ในภาพรวมมีความหมายถึง การมาของการเมืองชุดใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “กระแสการเมืองใหม่” ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก

ผู้ที่เข้าใจและสามารถขับเคลื่อนกระแสเช่นนี้นี้ได้ก่อน ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะจะเป็นผู้กุมทิศทางการเมืองในอนาคต

2) ภูมิทัศน์ใหม่นี้เป็นผลมาจากการกำเนิดของปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่

เช่น ขีดความสามารถในการรวบรวมและประเมินผลข้อมูล จนนำไปสู่การเกิดของ “big data” ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นต้น

การกำเนิดของระบบสารสนเทศใหม่ยังมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร

และการเกิดของคนรุ่นใหม่ เช่น Generation X, Y, Z

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จะสามารถใช้สื่อใหม่อย่างเป็นฝ่ายได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง

จนทำให้การชิงพื้นที่ทางการเมืองของผู้แข่งขันในแบบ

“คนรุ่นเก่า” กลายเป็นสิ่งที่ไม่ตามสมัยกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ข้อคิดจากอาหรับสปริง

3)คนรุ่นใหม่เติบโตกับสื่อใหม่ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter YouTube และ Line สิ่งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่านั้น

หากแต่เมื่อคนรุ่นนี้ตัดสินใจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว

เทคโนโลยีเช่นนี้ได้กลายเครื่องมือของการขับเคลื่อนทางการเมืองที่ชัดเจน

ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้กับระบอบเผด็จการในโลกอาหรับ หรือ “อาหรับสปริง” การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซียหรือในอียิปต์ ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่ดีถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยที่มี “สื่อใหม่” เป็นเครื่องมือกับ “รัฐเผด็จการ” ในโลกอาหรับ

จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การปฏิวัติอียิปต์ในปี 2554 (ค.ศ.2011) เริ่มต้นบนหน้า Facebook

ข้อสังเกตเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสื่อใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในทางการเมือง

4) หลักการสำคัญของการต่อสู้ในบริบทเช่นนี้ก็คือ สื่อใหม่ทำหน้าที่เป็น “ผู้จุดกระแส” การเมือง และดังที่นักเคลื่อนไหวทุกคนทราบดี

ขอเพียงให้กระแสจุดติด ที่เหลือทุกอย่างของการเคลื่อนไหวจะเดินไปสู่จุดสุดท้ายด้วยแรงดันของกระแสดังกล่าว

ดังนั้น ในการเปิดการเคลื่อนไหว สิ่งที่ต้องการในเบื้องต้นก็คือ ต้องทำให้ “กระแสจุดติด” เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนของการต่อต้านรัฐบาล

และกระแสที่จุดติดเช่นนี้จะทำให้การต่อต้านรัฐบาลขยายตัว และพร้อมที่จะพาคนเป็นจำนวนมากออกมาบนถนน เงื่อนไขเช่นนี้จะเป็นสัญญาณของการหมดความชอบธรรมของรัฐบาลอีกด้วย

5) การนัดชุมนุมในวันที่ 25 มกราคม 2554 ที่จัตุรัสกลางกรุงไคโร ได้อาศัย Facebook เป็นเครื่องมือของการกระจายข่าวการชุมนุม

การโพสต์ข้อความชวนคนมาชุมนุมในวันดังกล่าว ได้รับการตอบรับอย่างชัดเจน และมีการส่งต่อกันอย่างไม่หยุดยั้ง มีผู้ติดตามข้อความเชิญชวนเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนหลายพันเข้ามาในแต่ละวินาที

จนกลายเป็น “กระแสโชเซียล” พวกเขายังได้โพสต์เพื่อแชร์ความรู้สึกร่วมกันว่า “พวกเราคือคาลิด ซาอิด” (We are all Khaled Said) เพื่อร่วมอุทิศให้แก่เด็กหนุ่มที่ชื่อซาอิดที่เปิดการประท้วงและถูกตำรวจตีจนเสียชีวิตที่เมืองอเล็กซานเดรีย

การเปิดการเคลื่อนไหวผ่านสื่อใหม่เช่นนี้ ทำให้เห็นสัญญาณจากหน้าจอ Facebook ว่าผู้เข้าร่วมประท้วงรัฐบาลในวันนัดน่าจะมีเป็นจำนวนมาก

แต่ใครเล่าจะกล้ามั่นใจว่า เสียงตอบรับในพื้นที่ที่เป็นไซเบอร์นั้น จะเป็นจริงเพียงใด

6) แม้ว่าเสียงตอบรับในโลกโซเชียลอาจจะไม่ใช่คำตอบจริงว่า คนเหล่านั้นจะออกมาร่วมการประท้วงบนถนน

แต่หลักประกันที่สำคัญก็คือ อารมณ์และความรู้สึกร่วมของผู้คนเป็นจำนวนมากที่ก่อตัวขึ้นในโซเชียลนั้น แสดงออกถึงการตอบรับต่อประเด็นการเรียกร้องที่เกิดขึ้น

ดังนั้น การส่งภาพและข้อความจากเหตุการณ์การประท้วงที่เกิดในเวลาจริง (real time) กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีความรู้สึกร่วมพร้อมที่จะออกมาร่วมการประท้วง

และขณะเดียวกันก็ต้องมีประเด็นร่วมที่ชัดเจน เช่น สำหรับคนจนในระดับล่างในสังคมอียิปต์นั้น พวกเขามีประเด็นสองเรื่องที่สำคัญคือ ราคาอาหารและพฤติกรรมของตำรวจ

ในขณะที่ชนชั้นกลางจะเป็นเรื่องของการตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการนำเสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเสรีภาพกับชนชั้นล่างอาจจะไม่มีนัยมากเท่ากับการเปิดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อประเด็นราคาขนมปัง ราคาน้ำตาลถูกจุดขึ้นมาแล้ว ชนชั้นล่างเป็นจำนวนมากได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลมากขึ้น

การปฏิวัติอียิปต์สะท้อนให้เห็นถึงการมีประเด็นร่วมที่ชัดเจนในระหว่างคนต่างชนชั้นที่เข้าร่วมการต่อสู้

สื่อโซเชียลกับการล้มเผด็จการ

7)การประท้วงในอียิปต์ถูกจับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะได้เกิดความสำเร็จของการโค่นล้มรัฐบาลในตูนิเซียแล้ว ทุกคนกำลังจับตามองว่า อียิปต์จะเป็นจุดที่สองของ “การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ” (The Arab Uprisings) ที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลเผด็จการได้หรือไม่

ในสภาพเช่นนี้ผู้ที่โพสต์ภาพและข้อความในโลกโซเชียลอีกส่วนหนึ่ง จึงทำหน้าที่สื่อสารกับโลกภายนอก

พวกเขาเปิดการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

เพราะตระหนักดีว่าโลกกำลังเฝ้ามองเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่ไคโร ภาพและข้อความเหล่านี้ถูกติดตามอย่างมากจากทั้งสื่อและผู้ติดตามการประท้วงที่อยู่นอกประเทศ

8) การเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาศัยสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมืออย่างมาก เช่น เหตุการณ์ต่างๆ ถูกบันทึกโดยโทรศัพท์มือถือและถูกโพสต์ลงในยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นภาพของการผลักดันแนวกีดขวางของฝ่ายตำรวจ จนแนวของตำรวจปราบจลาจลแตกออก

ภาพของผู้ประท้วงท่ามกลางแก๊สน้ำตาและการเผชิญกับเครื่องฉีดน้ำ เป็นต้น ภาพเหล่านี้ถูกส่งเข้ามาในยูทูบอย่างรวดเร็ว

แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่มีมาตรการตอบโต้

รัฐบาลอียิปต์พยายามที่จะบล็อกทวิตเตอร์ของผู้ประท้วง แต่พวกเขาก็สามารถแก้การบล็อกเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะภาพใน “วันแห่งความเดือดดาล” (The Day of Rage) ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 นั้น ถูกส่งกระจายลงในยูทูบอย่างกว้างขวาง

จนในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็สูญเสียอำนาจการควบคุมทางการเมือง การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นชัยชนะของคนรุ่นใหม่และสื่อใหม่

9) การมาของสื่อใหม่เช่นนี้สอดรับกับโครงสร้างประชากรของโลกอาหรับด้วย

ประมาณว่าร้อยละ 60 ของประชากรอาหรับมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ดังนั้น ภูมิภาคนี้จึงเป็นดัง “โลกของคนหนุ่มสาว”

คือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะการ “โป่งพองของจำนวนเยาวชน” (youth bulge)

ดังนั้น หนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลเผด็จการจะเผชิญก็คือ การว่างงานของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังถูกตีความว่าเป็นปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาลอำนาจนิยมอีกด้วย

และในอียิปต์พบว่าคนจบปริญญาตรีมีสัดส่วนการตกงานสูงที่สุด

หรือในซีเรียบัณฑิตปริญญาตรีจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีเพื่อที่จะได้งาน เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนหนุ่มสาวในโลกอาหรับจะมีอาการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “political frustration”

และพร้อมที่จะเล่นบทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ หรือเป็นพวก “ต่อต้านอำนาจรัฐ” (anti-establishment)

และ “ต่อต้านสภาวะเดิม” หรืออีกนัยหนึ่งคนหนุ่มสาวหรือถ้าจะเรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้พร้อมที่จะเป็นฐานการเมืองของฝ่ายค้าน (oppositional politics)

10) ดังได้กล่าวแล้วว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในโลกอาหรับมีโลกโซเชียลเป็นเครื่องมือสำคัญ

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากเกิดการลุกขึ้นสู้ในตูนิเซียแล้ว สื่อตะวันตกเรียกการต่อสู้ในครั้งนั้นว่า “การปฏิวัติทวิตเตอร์” (Twitter Revolution)

หรือบางสื่อเรียกว่า “การปฏิวัติเฟซบุ๊ก” (Facebook Revolution)

การเรียกเช่นนี้บ่งบอกถึง บทบาทสำคัญของสื่อใหม่

ซึ่งในการต่อสู้ครั้งนี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีพื้นที่ใหม่คือ “พื้นที่ไซเบอร์” (cyberspace) และเกิดการสร้าง “ชุมชนการเมือง” ในพื้นที่ดังกล่าว หรือเกิด “ชุมชนต่อต้านรัฐบาล” ขึ้นในพื้นที่สื่อใหม่ เพราะการต่อต้านรัฐบาลทำไม่ได้ในพื้นที่แบบเดิม ซึ่งในกรณีของอียิปต์เห็นได้ชัดว่า โลกโซเชียลมีบทบาทอย่างสำคัญในการระดมคนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และการปฏิวัติทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ไม่อาจประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากเครื่องมือของสื่อใหม่

จนอาจกล่าวได้ว่า สื่อสมัยใหม่กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในยุคปัจจุบัน

พื้นที่การเมืองใหม่

11)การเกิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่จึงต้องการสื่อสารทางการเมืองใหม่ เพราะปัจจัยของประชากรในส่วนนี้มีความแตกต่างจากเดิม ตัวแบบจากการต่อสู้ในอาหรับสปริงชี้ให้เห็นถึงการกำเนิดของ “พื้นที่ใหม่” ที่ต้องคิดถึงการต่อสู้ด้วยแนวทางชุดใหม่

และแน่นอนว่าแนวทางการการเมืองแบบเก่าอาจจะไม่ตอบสนองต่อเงื่อนไขของพื้นที่การเมืองใหม่ และการสูญเสียพื้นที่ใหม่ไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะ “ตกยุค” หรือขาดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก

ย่อมทำให้เสียฐานคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งเสียการสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าที่อยู่ในพื้นที่ใหม่

หรือกลายเป็นการสื่อสารการเมืองที่ไม่มีผู้รับสารในพื้นที่ใหม่ ซึ่งก็คือการขาดความสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่นั่นเอง

12) ในเวทีการเมืองปัจจุบันอาจจะต้องยอมรับถึงช่องว่างที่ไม่ใช่ในเรื่องของวัย (generation gap) เท่านั้น

แม้ช่องว่างระหว่างวัยจะเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการแข่งขันทางการเมือง

แต่ช่องว่างสำคัญในปัจจุบันเป็นปัญหาของผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะปัจจัยเช่นนี้ทำให้เกิดทัศนคติ วิถีการใช้ชีวิต ตลอดรวมถึงการให้คุณค่าที่แตกต่างจากเดิม

คงต้องตระหนักว่าคนในพื้นที่ใหม่ต้องการแนวทางในการเข้าถึงที่แตกต่างไปจากเดิม แนวทางเก่าอาจจะไม่ช่วยในการทำงานในพื้นที่ใหม่

13) การทำงานการเมืองในพื้นที่การเมืองเก่าอาจใช้แนวทางเก่าก็ชนะได้ แต่ในพื้นที่ใหม่จำเป็นต้องคิดถึงวิธีใหม่และสาระใหม่เพื่อที่จะสามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้ ชุดวิธีคิดและแนวทางการทำงานการเมืองแบบเดิมๆ ที่เป็น “conventional thinking” ของคนรุ่นก่อนอาจจะไม่ช่วยให้ได้ส่วนแบ่งในพื้นที่ใหม่

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมากำลังชี้ให้เห็นถึงสภาวะเช่นนี้ และทั้งยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่และอิทธิพลของสื่อใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ด้วย

ข้อคิดในอนาคต

14)ในอีกส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและสังคมก็คือ คนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตและชุดความคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างมาก

หากมองพื้นที่ทางการเมืองในเชิงการตลาด เราจะเห็นสองแบบคือ

ตลาดเก่าอาจต้องการการสื่อสารการเมืองแบบเก่า ตลาดใหม่ต้องการการสื่อสารการเมืองใหม่ แต่คนในตลาดใหม่อาจจะเป็นทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าบางส่วน

พวกเขามีชีวิตในโลกโซเชียล การดำเนินงานการเมืองในตลาดที่เป็นโลกของสื่อใหม่

จึงเป็นเรื่องใหม่ที่พรรคการเมืองไทยอาจจะไม่คุ้นเคย

และอาจต้องยอมรับว่า ยังไม่มีพรรคไหนบุกเข้าไปในตลาดนี้มากเท่ากับพรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ได้อย่างเด่นชัด

ฉะนั้น การกำเนิดของตลาดใหม่ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายการแข่งขันทางการเมืองในอนาคต และตลาดนี้มีความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่และการเติบโตของโลกโซเชียล และนำไปสู่การต่อสู้แบบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

15) แม้คนรุ่นใหม่ของไทยที่มาพร้อมกับสื่อใหม่จะยังไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” เช่นที่เกิด “อาหรับสปริง” ในอียิปต์

แต่พวกเขาก็ทำให้เกิดการเมืองไทยชุดใหม่ ที่ผู้นำทหารและผู้นำพลเรือนสายอนุรักษนิยมกำลังถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน… การเมืองใหม่ของไทยได้ก่อตัวขึ้นแล้ว!