สุจิตต์ วงษ์เทศ /เพดานความคิด อนุรักษนิยม ‘สุดโต่ง’

ไม่เป็นเอกสารลับ และไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร ข้อมูลเกี่ยวกับสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกมีเผยแพร่ทั่วไป อยู่ใน (ซ้าย) ประวัติศาสตร์ "สุโขทัย" ที่เพิ่งสร้าง (ขวา) ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพดานความคิด

อนุรักษนิยม ‘สุดโต่ง’

 

เพดานความคิดทางประวัติศาสตร์ของไทย ถูกกักกดไว้ด้วยอำนาจอนุรักษนิยม “สุดโต่ง” ให้ติดแหง็กอยู่แค่กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นวรรณกรรมเพิ่งถูกแต่งขึ้นใหม่สมัย ร.6 ราวร้อยปีที่แล้วนี่เอง

แต่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย และยังมีต่อเนื่องจนทุกวันนี้

ก่อนสมัย ร.6 (คือสมัย ร.5) กรุงสุโขทัยไม่เป็นราชธานีแห่งแรก แต่เป็นแค่กรุงกรุงหนึ่งเหมือนบรรดากรุงอื่นๆ ที่มีในไทย

 

ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร

 

ข้อมูลหลักฐานเรื่องกรุงสุโขทัยที่ยกมาข้างต้น ไม่เป็นเอกสารลับ และไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร จึงมีพิมพ์เผยแพร่ แล้วบริการฟรีทั้งในหอสมุดแห่งชาติและในห้องสมุดมหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น ข้อมูลหลักฐานบางประเภทมีพิมพ์ขายทั่วไปทั้งในลักษณะข้อมูลเบื้องต้น (ตั้งแต่แรกมีขึ้น) และในรูปของบทความวิชาการกับงานวิจัย

เช่น หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง ของ วริศรา ตั้งค้าวานิช (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2557)

และล่าสุด รวมบทความที่เคยเขียนหลายเรื่องในวาระต่างๆ หลายปีแล้วอยู่ในหนังสือชื่อ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย ของ ธงชัย วินิจจะกูล (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562)

 

อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

 

แต่ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทย พากันเชื่อถือยกย่องอย่างไม่เคลือบแคลงสงสัยต่องานวรรณกรรมแต่งขึ้นใหม่สมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้วนี่เอง ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ทั้งๆ ไม่เคยพบหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนอย่างนั้น แม้ศิลาจารึกก็ไม่เคยมีบอกไว้

ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ไทยติดเพดานสมัยกรุงสุโขทัย ราว 800 ปีมาแล้วเท่านั้น

แม้พบหลักฐานจำนวนมากทางโบราณคดีที่แสดงชัดเจนว่าไทยมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

แต่ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยยังมีการเรียนการสอนเรื่องไม่จริงว่าประวัติศาสตร์ไทยเก่าสุดแค่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนในลาภยศสรรเสริญ กับ ความอยู่รอดในอาชีพทางราชการ

ความเสียหายใหญ่หลวงและยาวนานย่อมเกิดขึ้นกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเกิดแล้วอย่างเห็นได้ชัดเจนจากความขัดแย้งรุนแรงทั้งภายในและภายนอก (กับเพื่อนบ้าน) อันเนื่องจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย โดยเฉพาะความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้

จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาทุกแห่งต้องร่วมกันแก้ไข มิฉะนั้นเท่ากับมีส่วนซ้ำเติมความรุนแรง ดังคติสากลกล่าวไว้มีความโดยสรุปว่า “ถ้าไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

 

สมัย ร.5 ไม่เป็นราชธานีแห่งแรก

 

กรุงสุโขทัยในพระราชดำรัสของ ร.5 ทรงเปิดโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 ไม่เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย แต่เป็นเพียง “กรุง” แห่งหนึ่งในบรรดากรุงทั้งหลายที่มีในดินแดนสยาม

เช่น กรุงนครชัยศรี (นครปฐม), กรุงลพบุรี เป็นต้น

 

สมัย ร.6 เพิ่งเป็นราชธานีแห่งแรก

 

“กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” เป็นพระนิพนธ์เรื่อง “พระราชพงศาวดารสยาม” ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพิ่งสร้างครั้งแรก พ.ศ.2457 (ต้นแผ่นดิน ร.6) ลำดับราชธานีไว้ดังนี้

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีสมัยที่ 1 กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีสมัยที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีสมัยที่ 3

 

พงศาวดาร

 

พงศาวดารเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นงานวรรณกรรมที่เสกสรรปั้นแต่งด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ทางการเมืองสมัยที่แต่งนั้น มีคำอธิบายอย่างละเอียดพิสดาร “พันลึก” ในงานวิจัยของ ธงชัย วินิจจะกูล อยู่ในหนังสือเล่มล่าสุด ชื่อ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย

พงศาวดาร หมายถึง เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองเฉพาะบ้านเมืองนั้น เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หมายถึง เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองเฉพาะกรุงศรีอยุธยา โดยไม่เกี่ยวกับกรุงอื่นๆ ซึ่งมีอยู่พื้นที่ใกล้เคียงขณะนั้น (และไม่หมายถึง “ประวัติศาสตร์” กรุงศรีอยุธยาที่ประกอบด้วยเรื่องราวทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วัฒนธรรม ของคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่) ร.5 ทรงอธิบายไว้ในพระราชดำรัส เปิดโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 โดยสรุปความว่าพระราชพงศาวดาร เขาได้ตั้งชื่อขึ้นโดยความซื่อตรงต่อหนังสือที่หมายจะเรียงเรื่องราวของเจ้าแผ่นดินซึ่งสืบสันตติวงศ์ลงมาจนถึงเวลาที่เขียนนั้น

“เรื่องราวกิจการบ้านเมืองอันใดที่กล่าวในพงศาวดาร เขาประสงค์จะกล่าวประกอบประวัติเป็นไปของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ว่าสุขทุกข์ดีร้ายอย่างไรในเวลาที่เจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้ตั้งใจที่จะกล่าวถึงประเทศสยามทั่วไป……………….

แต่หากเราปราศจากความพิจารณา ไปหลงแปลเองว่าเรื่องราวของแผ่นดินสยาม ข้อความจึงได้บกพร่อง……………….”

[พระราชดำรัส ร.5 พ.ศ.2450 ทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร”]

 

ศิลาจารึก

 

ศิลาจารึกก็จัดเป็นงานวรรณกรรม ที่ถูกแต่งขึ้นเพื่องานการเมืองตามประเพณีสมัยนั้นๆ

สมัยแรกๆ ศิลาจารึกทำขึ้นเพื่อศาสนา-การเมือง โดยประกาศแก่อำนาจเหนือธรรมชาติ (ได้แก่ ผี หรือ เทวดา) สรรเสริญพระราชา หรือกษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมว่าเป็นที่รับรู้แล้วของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ศิลาจารึกจึงไม่ใช่ประกาศเพื่อคนอ่านทั่วไป เพราะสมัยนั้นคนทั่วไปเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก แม้ในราชสำนักเองมีคนอ่านออกเขียนได้ไม่มาก และไม่ทุกคน

 

ตำนาน

 

ตํานานเป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าเก่าแก่ ซึ่งอาจเก่าแก่ที่สุดก็ได้ที่ถูกบอกเล่าบางเรื่องนับพันๆ ปีมาแล้ว

แต่บางเรื่องแต่งใหม่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ฉากกรุงสุโขทัย ได้แก่เรื่องนางนพมาศ

 

มาตรฐานทางวิชาการบกพร่อง

 

แท้จริงแล้วหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีทุกประเภท โดยเฉพาะประเภทวรรณกรรม ต้องถูกตรวจสอบทั้งสิ้นก่อนใช้งาน

แต่ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง มาตรฐานทางวิชาการบกพร่อง จึงมี “อคติ” จัดจ้าน เช่น เชื่อว่า “กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ทั้งๆ ไม่จริง โดยไม่สงสัยแล้วไม่ตรวจสอบใดๆ ทั้งนั้น ถ้าใครไม่เชื่ออย่างนั้น ถือว่า “ชังชาติ”