จรัญ มะลูลีม : รอมฎอนไนท์ ปีที่ 13

จรัญ มะลูลีม

ความสำคัญของเดือนรอมฎอน

รอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลามถือตามระบบจันทรคติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 เดือนมิถุนายน ถึงวันที่ 5 เดือนกรกฎาคม ปี 2559 (ฮิจญ์เราะฮ์ ศักราช 1437) รวมเป็นเวลา 30 วัน

เดือนนี้ถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญมาก ซึ่งตามคำสอนของศาสนาอิสลามคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนมีผลบุญเทียบเท่ากับหนึ่งพันเดือน

ดังนั้น การประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมทั่วไปในเดือนนี้คือ ในทุกวันต้องตื่นขึ้นในช่วงก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น หรือในยามรุ่งอรุณเพื่อมาร่วมกันรับประทานอาหารและประกอบกิจการทางศาสนา

เมื่อเริ่มเข้าช่วงของวัน จะต้องถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า หลังจากนั้นก็จะละศีลอดร่วมกัน

ซึ่งวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิมจะมีการร่วมจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ เพื่อละศีลอดร่วมกัน และแสวงหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักศรัทธาและข้อปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและก่อให้เกิดการปฏิบัติตัวที่ดี มีคุณธรรมตลอดเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอนมีความแตกต่างจากเดือนอื่นๆ กล่าวคือ อัลลอฮ์ (พระเจ้าในศาสนาอิสลาม) ได้ทรงกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการประกอบคุณงาม ความดี

นั่นคือการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อแสดงความเคารพสักการะอัลลอฮ์

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่บทบัญญัติแห่งอิสลาม กำหนดให้มุสลิมทั่วทุกมุมโลก ถือศีลอดด้วยการงดเว้นจากการกิน การดื่มและการอดกลั้นจากอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลาย ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก

ทั้งนี้ เพื่อการฝึกฝนมุสลิมให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮ์เป็นการหยุดพลังทางกายเพื่อเพิ่มพลังทางจิต

คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า “เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาครั้งแรกเพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตสำหรับมนุษย์ และเป็นเครื่องจำแนกแยกแยะความจริงออกจากความเท็จ”

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มเติมเพื่อเป็นการฝึกอบรม ทางด้านจิตวิญญาณ ให้มีความมั่นคง เช่นการละหมาดในยามค่ำคืนที่เรียกกันว่า “ละหมาดตะรอวิห์”

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือการตื่นขึ้นมาเพื่อรับประทานอาหารก่อนการถือศีลอดในยามค่ำคืน ก่อนแสงอรุณขึ้นหรือที่เรียกว่า “อาหารสะหูร์” อยู่ระหว่างเวลา 00.30-04.47 น. ดังคำสั่งของท่านศาสดาที่ว่า “อาหารสะหูร์ มีความจำเริญอย่างยิ่ง ดังนั้น พวกท่านจงอย่าละทิ้งอาหารสะหูร์ ถึงแม้ว่าบุคคลหนึ่งในหมู่พวกท่าน จะดื่มน้ำเพียงแก้วเดียวก็ตาม ทั้งนี้ อัลลอฮ์จะให้พรแก่ผู้รับประทานอาหารสะหูร์”

การถือศีลอดเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมชายและหญิง ผู้บรรลุศาสนภาวะ (สำหรับชาย ตั้งแต่มีอสุจิเคลื่อนออกมา หรือที่เรียกว่า “ฝันเปียก” สำหรับหญิงตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน) เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ มีสุขภาพดี มิได้เดินทาง ไม่มีรอบเดือน หรือเลือดหลังคลองบุตร

การถือศีลอดเป็นหลักการของศาสนาอิสลาม จึงจำเป็นที่มุสลิมจะต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ถ้าผู้ใดปฏิเสธว่าการถือศีลอดไม่ใช่หลักของศาสนาอิสลามแล้ว เขาผู้นั้นก็สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม

ดังได้กล่าวมาแล้วรอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลามถือตามระบบจันทรคติ โดยในแต่ละปีเดือนนี้จะเร็วขึ้นประมาณ 11 วัน ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันที่ 6 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2559

เดือนรอมฎอนจึงถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญมาก สำหรับชาวมุสลิม ดังนั้น การประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมทั่วไปในเดือนนี้คือ ทุกวันจะต้องตื่นขึ้นมาระหว่าง 03.00-05.00 น. ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อมาร่วมกันรับประทานอาหาร และประกอบกิจทางศาสนา เมื่อเริ่มเข้าช่วงของวันที่จะต้องถือศีลอด ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่ง พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า

รายการรอมฎอนไนท์ ปีที่ 13 เป็นรายการที่ออกอากาศในเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมเพื่อเป็น “เพื่อน” ในระหว่างรับประทานอาหาร ก่อนการถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น อันเป็นบทบัญญัติที่ชาวมุสลิมทุกคน ต้องตื่นขึ้นมารับประทานอาหารมื้อนี้

รายการรอมฎอนไนท์ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระหว่างเวลา 03.30-04.30 น. ต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลา 12 ปีติดต่อกัน

รายการโทรทัศน์เดือนรอมฎอน เป็นรายการที่มีการออกอากาศอย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ โดยเฉพาะประเทศมุสลิมในอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน) เวลานี้ถือเป็นเวลา Prime Time ของรายการโทรทัศน์เดือนรอมฎอน

แต่สำหรับโลกอาหรับจะเริ่มตั้งแต่เวลา 12.00-05.00 น. รายการรอมฎอนไนท์ ปีที่ 13 มีเนื้อหารายการ 45 นาที แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ในประเทศไทยมีชาวไทยมุสลิมกว่า 8 ล้านคน ที่ติดตามชมรายการนี้ต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลา 12 ปีติดต่อกัน

แต่สำหรับปีนี้ รายการรอมฎอนไนท์ปีที่ 13 จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32

รูปแบบการนำเสนอ

เป็นการนำเสนอข้อมูลทางด้านวิชาการศาสนาเชิงวาไรตี้ ตามแบบวิถีชีวิตประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมทั้งในและต่างประเทศที่เต็มไปด้วยความบันเทิงที่มีสาระ รวมทั้งแนวคิดการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ

รายการรอมฎอนไนท์จะเป็นสื่อหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมุสลิมและผู้สนใจทั่วประเทศ เป็นอาหารสมองและประเทืองปัญญา เสริมสร้างสารัตถะ การดำเนินชีวิต

ทั้งรายการรอมฎอนไนท์เชื่อว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบวงจรผ่านการนำเสนอในรูปแบบรายการสาระความรู้เชิงวาไรตี้

โดยแบ่งเป็นช่วงต่างๆ

ดังนี้


ช่วงที่ 1 “อัลกุรอาน กลามุลลอฮ์” (5 นาที)

เป็นการนำเยาวชนมุสลิม จากสถาบันอัลกุรอานประเทศไทยมาอ่านคัมภีร์อัลกุรอานทำนองเสนาะตามหลักตัจญวีต (หลักการอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง) พร้อมขึ้นตัวอักษรความหมายภาษาไทยเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้ปกครองสนใจในการฝึกฝนการอ่านอัลกุรอานให้ถูกวิธีอันเป็นพื้นฐานของหลักคำสอนอิสลามที่ถูกต้องและเดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งการประทานคัมภีร์อัลกุรอานมาให้มนุษยชาติทั้งมวล

ช่วงที่ 2 “อัลกุรอาน 30 วัน 30 ญุซ” (15 นาที)

คัมภีร์ของศาสนาอสิลาม คือ คัมภีร์อัลกุรอาน ได้มีการรวบรวมบันทึกไว้ด้วยภาษาอาหรับ เป็นรูปเล่มอย่างสมบูรณ์ครั้งแรก หลังจากที่ท่านศาสนทูตมูฮัมมัดสิ้นชีวิตแล้ว 5 เดือน บันทึกไว้ในทำนองร้อยแก้วและมีบางตอนในบทท้ายเล่มทีมีถ้อยคำสอดคล้องกัน มีจังหวะรับกันเหมือนโคลงกลอนในกวีนิพนธ์

ลักษณะการบรรจุเนื้อหาในคัมภีร์อัลกุรอานแบ่งออกเป็น “ซูเราะฮ์” หรือบทมี 114 บท แต่ละบท ประกอบด้วย “อายะฮ์” หรือโองการมีทั้งหมด 6,666 โองการ (หรือจะเรียกว่า “วรรค” ก็ได้)

จำนวนโองการของแต่ละบทจะไม่เท่ากัน ถ้าคิดเป็นคำทั้งหมดในคัมภีร์มีจำนวนนับได้ 77,639 คำ

ข้อควรทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าปราชญ์มุสลิม ในสมัยต่อมาได้นำเอาซูเราะฮ์ทั้งหมดในคัมภีร์อัลกุรอานมาแบ่งเป็น 30 บท แต่ละบทมีความยาวใกล้เคียงกัน เรียกว่า “ญุซฮ์” เพื่อให้มุสลิมผู้มีศรัทธาได้ใช้อ่านวันละบทในระหว่างถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ครบ 30 วัน 30 บทพอดี

ปัจจุบันนี้คัมภีร์อัลกุรอานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เกือบทุกภาษาและแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งฉบับภาษาไทย

รายการอัลกุรอาน กลามุลลอฮ์ (พจนาจของอัลลอฮ์) นำเสนอข้อมูลที่เป็นหัวใจในแต่ละบทด้วยการบรรยาย พร้อมภาพประกอบ วันละ 1 บท ทุกวัน จนครบ 30 บท ฝ่ายการอรรถาธิบายโดยอาจารย์อับดุลฮากีม พิศสุวรรณ แห่งโรงเรียนประทีปศาสตร์ (ปอเนาะบ้านตาล) นครศรีธรรมราช

หลังจากนั้นจะเป็นการนำเสนอภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่องพลังรัก พลังศรัทธา (ภาคพิเศษเดือนรอมฎอน)

ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำเสนอความรัก ความผูกพันของครอบครัว บนพื้นฐานแห่งหลักการอิสลาม บททดสอบที่ต้องฝ่าข้ามความศรัทธาและความเข้าใจผ่านวิถีชีวิตของชาวมุสลิมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากนั้นก็เป็นการนำเสนอเรื่องราวการยืนหยัดต่อสู้ของบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เป็น “คนต้นแบบ” คนต่อไปในสังคมมุสลิม

ปิดท้ายด้วยรายการ “ส่องโลกมุสลิม” ที่นำเสนอการเดินทางค้นหาที่มาของชาวมุสลิม การผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและลิ้มลองอาหารฮาลาลที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

สําหรับปีนี้รายการรอมฎอนไนท์ ซึ่งนำเสนอทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 จะเป็นรายการความยาว 60 นาที ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ที่มีถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2559 ตั้งแต่เวลา 04.00-05.00 น. (60 นาที) ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ ครอบครัวชาวไทยมุสลิม จำนวน 8 ล้านคนทั่วประเทศ และประชาชนทั่วไป

รอมฎอนไนท์ปีที่ 13 ได้รับเกียรติจากอดีตเลขาธิการ ASEAN ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม อดีตเลขาธิการสำนักจุฬาราชมนตรี อดีต ส.ว. และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.จังหวัดปัตตานี คุณรอศักดิ์ มูลทรัพย์ ผู้จัดการโรงแรมฮาลาล อัลมีรอซ คุณสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ว. และ ส.ส. คุณปรีดา เชื้อผู้ดี คณะกรรมการกลาง สำนักจุฬาราชมนตรี อ.ประเสริฐ มัสซารี เจ้าของโรงเรียนอิสลามสันติชน อ.บรรจง บินกาซัน นักวิชาการมุสลิมนักแปล คุณสมพล รัตนาภิบาล รองอธิบดีกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม คุณโสรยา จามจุรี และ คุณอิสมาแอ สามะ นักกิจกรรมจากชายแดนใต้ มาเป็นที่ปรึกษารายการ

มีผม และ คุณอรุณ วิทยานนท์ (นักสื่อสารมวลชนมุสลิม) เป็นผู้อำนวยการผลิต บริษัท เรติน่าฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ

จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยมุสลิมและผู้สนใจทุกท่าน ร่วมรับชมได้ตลอดเดือนรอมฎอนปีนี้