ประวัติศาสตร์ เจ้านโรดม สีหนุ จอมราชันย์ “กัมพูชา” ชื่อเสียงของพระองค์เด่นดังไปทั่วโลก

กลางปี พ.ศ.2484 หนุ่มน้อยเชื้อพระวงศ์เขมร ซึ่งมีศักดิ์เป็นราชนัดดาของพระเจ้ามณีวงศ์ ผู้เสด็จสวรรคตในต้นปีได้รับการหยิบยกจากข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสนายพลเรือเดอกูซ์ ให้เข้ารับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์สืบแทน

ราชพิธีราชาภิเษกได้จัดขึ้นอย่างเต็มที่ตามโบราณราชประเพณี โดยที่ทางการฝรั่งเศสผู้ปกครองเขมรในขณะนั้นเป็นผู้จัดให้มีขึ้น เจ้าสีหนุ เพิ่งมีอายุไม่ถึง 19 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยฝรั่งเศสในเวียดนาม จึงได้รับการสถาปนาราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ กล่าวกันว่า ข้าหลวงใหญ่นายพลเรือเดอกูซ์เป็นผู้อันเชิญน้ำมนต์ที่พราหมณ์ได้เสกเตรียมไว้ รดทั่วพระวรกายของกษัตริย์องค์ใหม่ ทำเสมือนหนึ่งว่า พิธีสวมมงกุฎของจักรพรรดินโปเลียนต้องมีองค์สันตะปาปาเป็นประธานในพิธี

ฝรั่งเศสคงจะมีเหตุผลที่ว่า การหยิบยกเอาเชื้อพระวงศ์ผู้เยาว์วัยยังอ่อนต่อโลกจะสามารถชักนำและชักจูงให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ง่าย รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านการปกครองของตน

อีกประการหนึ่งก็คือ ภายในราชวงศ์เขมรได้มีการแตกแยกกันเป็นสองสาย ได้แก่ สายของเจ้านโรดม พระอัยกาของเจ้าสีหนุ อีกสายหนึ่งคือ สายศรีสวัสดิ์ ของพระเจ้ามณีวงศ์ ซึ่งอันที่จริงแล้วราชสมบัติน่าจะตกทอดมาที่เจ้ามณีเรสโอรสของเจ้ามณีวงศ์ ราชวงศ์เขมรทั้งสองสายมีการทะเลาะเบาะแว้งแก่งแย่งกันชิงดีชิงเด่นตลอดเวลาในเมื่อเจ้าสีหนุเองก็มีเชื้อสายของสมเด็จแม่ที่มาจากสายศรีสวัสดิ์ จึงเป็นตัวเลือกให้ขึ้นครองราชย์ในสายตาข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสที่เห็นว่าเหมาะสมแล้วทุกประการ

เจ้าสีหนุในช่วงแรกของการครองราชย์ก็ได้พิสูจน์ให้ฝรั่งเศสเห็นว่า เป็นผู้เรียนรู้ที่ดีอยู่ในกำกับคาถาของผู้ปกครอง ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ยกแรกฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่เยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสที่ได้จัดตั้งขึ้นที่เมืองวิชี่ถือว่าเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมันนายพลเรือเดอกูซ์ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสในอินโดจีนเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งนโยบายที่มาจากรัฐบาลวิชี่แต่ก็เป็นไปอย่างหละหลวม

การได้ดินแดนของไทย ในกรณีพิพาทอินโดจีนก็เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลหุ่นวิชี่ของฝรั่งเศสโดยญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนั้น ในที่สุด ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงก็ต้องคืนให้กับฝรั่งเศสไป ด้วยเหตุที่ว่าสัญญาที่ได้ทำไว้หาใช่เป็นสัญญาที่ทำกับรัฐบาลฝรั่งเศสอันแท้จริงไม่

รวมทั้งถ้อยแถลงอันเป็นจุดยืนของรัฐบาลไทยชุดแรกๆ ภายหลังสงครามก่อนรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ที่ว่าไทยมีความยึดมั่นในสันติภาพ ดินแดนใดใดที่ได้มาในระหว่างนั้นก็ให้กลับคืนสู่สถานะเดิม เป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ

ไม่กี่เดือนก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นได้ทำความตกลงกับฝรั่งเศส ซึ่งก็คือรัฐบาลหุ่นนั่นเอง ที่ทำให้กองทหารของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นสามารถเข้าไปตั้งมั่นในดินแดนอินโดจีน แต่ไม่ต้องการแสดงออกว่าเป็นผู้ยึดครองอำนาจการบริหารภายในทั้งสิ้นทั้งปวง ทางการฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ

แต่เมื่อสงครามโลกใกล้สิ้นสุดญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นความพ่ายแพ้ของตน และเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีนเดิมเป็นพวกรัฐบาลวิชี่อันมีนายพลเรือเดอกูซ์ข้าหลวงใหญ่เป็นหัวหน้านั้นเริ่มเอาใจออกห่างรัฐบาลวิชี่หันมาสนับสนุนฝ่ายของนายพลเดอโกลล์ ทำให้ทางการญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติการยึดอำนาจจากฝรั่งเศสโดยฉับพลัน

ฝรั่งเศสตกอยู่ในฐานะลำบากในการปกครอง การเคลื่อนไหวต่อต้านของขบวนการเวียดมินห์ในเวียดนามได้ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นการสั่นคลอนอำนาจของเจ้าอาณานิคม

สำหรับในเขมรขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่าย แกนนำที่ได้เริ่มมีการรวมตัวขึ้นคือ กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากวงการสงฆ์ในพุทธศาสนา เพราะฝรั่งเศสใช้วิธีกีดกันพุทธศาสนา และหันมาให้ท้ายแก่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกซึ่งชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่นับถือ รวมทั้งดำริที่จะยกเลิกตัวอักษรเขมร หันมาใช้ตัวอักษรโรมันเป็นตัวสะกดเช่นเดียวกับภาษาเวียดนามที่คณะบาทหลวงเยซูอิดได้เริ่มทำไว้เมื่อ 300 ปีที่แล้ว

การกระทำดังกล่าว ทำให้องค์การพระพุทธศาสนาเขมรได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ญี่ปุ่นเองก็ให้การสนับสนุนแก่ นายซอน ง็อก มินท์ ผู้นำการต่อสู้

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นบทเรียนจากความเป็นจริงของยุวกษัตริย์เจ้าสีหนุในสมัยที่ขึ้นครองราชย์ เป็นการสะสมประสบการณ์อันไม่อาจจะพบเห็นได้อีกแล้ว ทำให้พระองค์นำมาประยุกต์ในการดำเนินกโลบายอย่างมีสีสันในระยะต่อมา

และทำให้ชื่อเสียงของพระองค์เด่นดังไปทั่วโลก

ในฐานะผู้เรียนงานจากฝรั่งเศส เจ้าสีหนุในชั้นต้นมีความเห็นว่าการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องการใช้กำลังเข้าหักหาญ จึงไม่ค่อยให้ความสนใจต่อขบวนการกู้ชาติต่างๆ แต่จะขอเกาะติดกับฝรั่งเศสไปก่อน

บรรดาจ้าวอาณานิคมอันได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ ต่างมีความคิดว่าเมื่อสงครามโลกได้สิ้นสุดลง พวกตนก็จะกลับเข้ามาครอบครองอาณานิคมตามเดิม แม้กระทั่งการใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามผู้ต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติ สำหรับฝรั่งเศสได้รับการสนับสนุนทางกำลังจากอังกฤษ และทหารจีนก๊กมินตั๋ง ได้กลับมายึดครองอินโดจีนอีกครั้ง

แต่เหตุการณ์มิได้เป็นไปตามคาดหวังเสียแล้ว

ในเวียดนามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้เป็นแกนนำของขบวนการเวียดมินห์ ได้ทำการอภิวัฒน์ยึดอำนาจในเดือนสิงหาคม 2488 ภายหลังการยอมจำนนของญี่ปุ่นไม่กี่วัน ประธานโฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราชสถาปนาประเทศเวียดนามขึ้นในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2488

ในขณะเดียวกันกลุ่มเขมรอิสระ ซึ่งมีอยู่หลายพวกหลายฝ่าย บางพวกกลับไปกลับมาหันไปเป็นสายให้ทางฝรั่งเศสก็มี สิ่งเหล่านี้สีหนุได้ทราบเป็นอย่างดี กำลังที่ต่อต้านฝรั่งเศสในเขมรอย่างจริงจังจะเป็นกองกำลังที่แกนนำเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งต่อมาก็คือ พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา นำโดย นายซอน ง็อก มินท์ อดีตพระภิกษุเขมร

เพราะฉะนั้น การเข้ายึดครองอาณานิคมเดิมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ฝรั่งเศสจึงหยิบยื่นข้อเสนอให้เอกราชแบบที่ยังอยู่ในอาณัติแห่งสหภาพฝรั่งเศส สำหรับประเทศลาวและกัมพูชา ส่วนเวียดนามนั้นการเจรจากับเวียดมินห์ล้มเหลว จึงหันไปสนับสนุนรัฐบาลเบาได๋ที่อยู่ใต้อิทธิพลของตน

เจ้าสีหนุได้เริ่มตระหนักดีในการนำพากัมพูชาฟันฝ่ามรสุมเพื่อความอยู่รอด เพราะด้านหนึ่งขบวนการเวียดมินห์กำลังเริ่มอยู่ในฐานะได้เปรียบในการต่อสู้กับฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 เป็นต้นมา อันเป็นผลให้ชาวเขมรกลุ่มของ ซอน ง็อก มินท์ นั้นสามารถเข้ายึดพื้นที่ทางทิศตะวันออกของประเทศได้หลายแห่ง จนเป็นที่วิตกกังวลแก่เจ้าสีหนุอย่างยิ่ง

เขมรอิสระทางด้านพระตะบอง, เสียมราฐ มีการเคลื่อนไหวอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย พระพิเศษพานิชย์แห่งสกุลปกมนตรี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการติดต่อกับทางการไทยเพื่อขอการสนับสนุนในภารกิจกู้ชาติ ด้วยการขอให้ทางไทยพิมพ์ธนบัตรเขมรเพื่อใช้ในเขตที่ยึดครองได้ ซึ่งก็ได้รับการสนองตอบด้วยดีจาก นายปรีดี พนมยงค์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ ในทำนองเดียวกับการช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจของชาวลาวและชาวเวียดนาม เจ้าสีหนุเองก็คงจะทราบเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ได้ให้การสนับสนุนเขมรอิสระกลุ่มนี้เพียงใดหรือไม่

ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อสีหนุเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในต้นปี พ.ศ.2499 พระองค์ได้แจ้งความประสงค์ต่อทางจีนที่จะขอพบ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน เจ้าสีหนุได้ตรัสขอบพระทัยนายปรีดีที่ได้มีส่วนสนับสนุนการกู้ชาติของกัมพูชาพร้อมทั้งตรัสต่อไปว่า “ประตูเมืองพนมเปญได้เปิดต้อนรับท่านเสมอ” นอกจากนี้พระองค์ก็ได้กล่าวถึงเรื่อง “เขาพระวิหาร” ที่ถูก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งทหารเข้าไปยึดครอง

พระพิเศษพานิชย์มิใช่คนอื่นไกล ท่านเป็นบุตรเขยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณคนสุดท้ายที่ปกครองมณฑลพระตะบอง เสียมราฐ และถอนตัวออกมาเมื่อรัฐบาลสยามทำสัญญายกดินแดนให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น พระพิเศษฯ จึงมีศักดิ์เป็นน้องเขย นายควง อภัยวงศ์ นั่นเอง และก็ยังเป็นพ่อตาของข้าราชการไทยชั้นผู้ใหญ่ในระดับปลัดกระทรวง

ความกว้างขวางในหมู่ข้าราชการผู้รับผิดชอบในระดับสูงจึงสามารถทำให้พระพิเศษฯ สร้างผลงานได้ไม่น้อย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐบาลประชาธิปไตยหลังสงครามที่สนับสนุนขบวนการกู้อิสรภาพของประเทศเพื่อนบ้านได้ถูกโค่นล้มโดยรัฐประหาร ในเดือนพฤศจิกายน 2490 เท่ากับเป็นการสิ้นสุดแห่งบทบาทของไทยอย่างสิ้นเชิง ทำให้ขบวนการกู้ชาติของเพื่อนบ้านที่พำนักอาศัยในเมืองไทย ทั้ง เวียดนาม, ลาว และเขมร ฯลฯ ต้องแตกฉานซ่านเซ็นหลบหลีกจากการคุกคามของพวกปฏิกิริยา ซึ่งรวมทั้งผู้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยภาคอีสานก็ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจากพวกปฏิกิริยาเช่นกัน

หลังจากขึ้นครองราชย์มาแล้วประมาณ 10 ปี พระองค์ได้สะสมประสบการณ์ในทางการเมืองมากขึ้น รู้จักใช้กโลบายในการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสได้ผลคืบหน้าเป็นลำดับ บางครั้งก็จัดให้มีการเดินขบวน การปลุกม็อบ ทำให้ฝรั่งเศสหัวหมุน บางครั้งก็ให้การสนับสนุนกลุ่มเขมรอิสระบ้าง บางครั้งก็ให้ความสนับสนุนปัญญาชนเขมรฝ่ายซ้ายบ้าง ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ถือได้ว่าเพื่อประโยชน์ของพระองค์และประเทศชาติ ซึ่งทรงถือว่าพระองค์คือประเทศชาตินั่นเอง

วิวัฒนาการทางความคิดที่ส่งผลสู่การกระทำของ เจ้านโรดม สีหนุ ต่อไปจะเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามด้วยความสนใจยิ่ง