ฉัตรสุมาลย์ : ดอยดินแดง ตามไปดูงานของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ

ดอยดินแดง อยู่ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ไม่ได้ตั้งใจไปดอยดินแดงค่ะ แต่จะตามไปดูงานของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ

ถ้าอาจารย์สมลักษณ์ ไม่ได้เลือกไปอยู่ที่นั่น ดอยดินแดงก็จะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนข้างนอก

สืบเนื่องตั้งแต่ท่านธัมมนันทารับนิมนต์ไปร่วมบรรยายในงานประชุมทางวิชาการที่ ม.พะเยา นั่นแหละค่ะ

เส้นทางการเดินทาง ต้องขึ้นเครื่องมาลงที่เชียงราย แล้ว ม.พะเยาจะส่งรถมารับต่อไปพะเยาอีก 2 ชั่วโมง

ตอนวางแผนเส้นทางขากลับนั้น มีเครื่องช่วง 2 ทุ่ม ออกจากเชียงราย ถึงกรุงเทพฯ 3 ทุ่มกว่า น่าจะถึงนครปฐมเที่ยงคืน

เดินทางแบบนี้สังขารโทรมแน่ๆ ก็เลยพักนอนที่เชียงรายสักคืนหนึ่ง ไฟลต์เช้าไม่มี ก็เลยต้องเป็นไฟลต์บ่าย 4 โมง

มีเรื่องติดค้างที่เชียงราย ก็เรื่องดอยดินแดงนี้แหละ

 

พอไปจริงหาง่ายมาก แท็กซี่ทุกคันรู้จักดอยดินแดง เข้าไปในซอย ซอยเดียวกับกะเหรี่ยงคอยาวอีก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งคู่เลย เห็นชื่ออาจารย์สมลักษณ์ตั้งแต่ก่อนรถเลี้ยว

แน่ใจว่า อาจารย์สมลักษณ์ท่านไปอยู่ที่ดอยดินแดงไม่ใช่เพราะกะเหรี่ยงคอยาว ท่านเป็นช่างปั้น ท่านน่าไปตามแหล่งดินค่ะ

พอรถเลี้ยวเข้าไปส่งเรา สถานที่ร่มรื่น ผ่านบ้านดิน 4-5 หลังทั้งสองข้าง และยังมีอีก 4-5 หลังที่อยู่ด้านในลึกเข้าไป

จ่ายเงินให้แท็กซี่ ขนกระเป๋าเดินทางลงด้วย เพราะรู้ว่าจะอยู่ที่นั่นยาว การให้แท็กซี่รอ หรือใครรอก็ตาม เป็นปัจจัยที่ทำให้ใจไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ได้เรียนรู้เต็มที่

ขณะรอเจ้าของบ้าน คืออาจารย์สมลักษณ์ เคยพบท่านครั้งหนึ่งที่เชียงรายนี้แหละ นึกหน้าไม่ออก แต่หากพบอีกก็จะรู้ว่า คนนี้แหละอาจารย์สมลักษณ์

ขณะที่รอท่าน ขออนุญาตเล่าชีวิตของท่าน

 

ท่านเป็นนักเรียนศิลปะ ไปเรียนที่โรงเรียนเทคนิคเจ็ดยอด แต่ฐานะทางบ้านไม่อำนวย ทำให้ท่านต้องขวนขวายส่งตัวเองเรียน ท่านไปรับจ้างเขียนงานในโรงงานเซรามิกเล็กๆ อยู่ 7 ปี น่าจะเป็นคนทำงานที่ดี ได้รับความไว้วางใจขยับขึ้นมาจนถึงตำแหน่งผู้จัดการ ท่านเลยลาออก เพราะไม่ใช่งานที่ท่านรัก ท่านอยากเป็นช่างปั้น ceramist

พอดีเขมรแตก ท่านเลยสมัครไปสอนปั้นให้กับเขมรอพยพที่สระแก้ว ภายใต้การบริหารงานของสหประชาชาติ UNHCR มีพระเซน และนักวิชาการไปทำงานช่วยเหลือผู้อพยพด้วยกัน ดินที่เอามาสอนเขมรอพยพ ตอนนั้นไปซื้อมาจากด่านเกวียน ต่อมาจึงไปสอนที่เขาอีด่างด้วย

ด้วยการติดต่อกับชาวญี่ปุ่นทำให้อาจารย์ได้ไปฝึกงานอยู่ในโรงงานปั้นเซรามิกกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ตาวาโอะ โอนูมะ และอาจารย์ทารุเอมอน ถึง 5 ปี

นอกจากจะได้วิชาปั้นแล้ว ท่านอาจารย์ยังได้ภรรยาชาวญี่ปุ่นที่ช่วยกันสร้างรากฐาน โดยเริ่มต้นจากการซื้อที่ดินที่บ้านหนองอ้อ 8 ไร่ จนกลายมาเป็นที่รู้จักกันในนามของดอยดินแดงที่เราเข้าไปนั่นเอง

 

ช่างปั้นจะไปตั้งรกรากอยู่ตามแหล่งดิน ดินที่นี่ตั้งแต่ภูเขาลงมาเป็นดินสีแดงเป็นดินดี เหมาะแก่งานปั้น วัตถุดิบมาจาก ดิน ไม้ แกลบ ใบไม้ ขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าไม้ไผ่ที่มีอยู่ในชุมชน กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาเคลือบผิว เกิดผิวที่แตกต่างกัน สีสันหลากหลาย เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ผสมผสานระหว่างศิลปะดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัย ที่ได้กลิ่นอายของชนบทไทย ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ยังคงแนวคิดของญี่ปุ่นไว้อย่างมาก

เราเดินเข้าออกชมบ้านแต่ละหลังที่เป็นที่แสดงงาน ทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของบ้านเอง งานแต่ละชิ้นเป็นธรรมชาติ ไม่ดัดจริต สื่อความซื่อๆ เพื่อให้ใช้สอย

บ้านหลังแรกทางซ้ายมือนั้น เดิมเป็นโรงนา ฝาด้านหนึ่งทึบประดับด้วยเครื่องปั้นที่แตกหัก หลากขนาด หลากสี กลายเป็นการจัดแต่งที่ไม่จงใจ แต่ก็มีศิลปะ

หลังถัดไปทางซ้ายมือ ทำเก๋มาก คือ เอาผลิตภัณฑ์ออกมาวางเป็นชั้นๆ อยู่นอกกำแพง แต่ก็ยังอยู่ในชายคา ทุกคนที่มา ไม่ว่าจะมาเที่ยว หรือตั้งใจมาซื้อผลิตภัณฑ์ มักจะถ่ายรูปเรือนหลังนี้ไป กลายเป็นโลโก้ของบ้านดอยดินแดงไปโดยปริยาย

เลยเข้าไปอีกเป็นโรงที่ใช้เตรียมดิน คนงานที่เดินอยู่แถวนั้นมาแนะนำให้เราไปนั่งรออาจารย์ที่ร้านกาแฟ เวลาเข้ามาทางประตูหน้าจะอยู่ขวามือ มีโต๊ะเก้าอี้หลายแบบ ถ้วยชารูปร่างต่างๆ กันพร้อมใช้งาน

ท่านอาจารย์มาถึง ผู้เขียนเห็นหน้าท่านแล้วก็จำได้ทันที ตอนนี้ผมเป็นดอกเลายาวประบ่า ปลายงุ้มเข้า ท่านอายุประมาณ 60

คุณโทมาโกะ ภรรยาชาวญี่ปุ่นของท่าน อยู่ในวัยงาม ยกน้ำชามาเสิร์ฟ บทสนทนาเริ่มต้นที่ถ้วยชาได้เลย ถ้วยชาของผู้เขียนเคลือบสีเขียว ที่ดูเหมือนเอาน้ำสีเขียวราดจากเบื้องบน ศิลปะการเคลือบแบบนี้ เทคนิคแบบนี้ สีแบบนี้ เพิ่งเคยเห็นที่นี่ ท่านอาจารย์ว่า ใช้น้ำด่างจากขี้เถ้าใบไม้ที่ดอยดินแดงนี้เอง

มิน่าเล่า ไม่เคยเห็นที่อื่น

ถ้วยชาของคุณทามาโกะก็น่าสนใจ สีดำแต่มีลวดลายสีขาว ในขณะที่ที่ตัวกาน้ำชาทรงแป้นๆ แบบญี่ปุ่นสีดำสนิท ท่านอาจารย์ว่า ดินที่ใช้มีเหล็กมาก

ตอนที่เดินออกมาชมด้านนอก ท่านอาจารย์ชี้ไปที่โถใบใหญ่ สูงสัก 1 เมตร เคลือบสีฟ้าอ่อน ใบนั้นใช้ขี้เถ้าใบไผ่ค่ะ

อัศจรรย์ในความงามของธรรมชาติ

 

ผู้เขียนอยากฝากตัวเป็นศิษย์ ถามท่านว่า ท่านรับศิษย์ไหม ท่านว่าท่านไม่ใช่อาจารย์ ท่านเป็นเพียงช่างปั้น ท่านมีโรงงานให้มาฝึก ไม่ใช่โรงเรียนที่ท่านจะสอน

ท่านเห็นว่า ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่าจากศานตินิเกตัน ท่านเล่าให้ฟังว่า ลิปิ ที่ทำบ้านดินที่ศานตินิเกตันก็เคยมาฝึกงานกับท่าน

ท่านอยากให้ช่างได้วิชาและวิธีไปจะได้ไปตั้งเตาของตัวเอง บางคนก็มาอยู่กับอาจารย์ 7 เดือน เมื่อเขากลับไปตั้งเตา (เผา) ได้เอง ท่านก็ยินดี

ท่านว่าคนอีสานหิวที่จะเรียนรู้ ความสำเร็จของการเป็นช่างปั้น อยู่ที่ใจรัก

พระพุทธเจ้าก็ว่าอย่างนั้นนะคะ ความสำเร็จมันอยู่ที่ ข้อแรก มีฉันทะ แล้วต่อมา วิริยะ เพียรพยายาม ลองผิดลองถูก จนได้เรื่อง ต่อมาก็จิตตะ ความใส่ใจ เฝ้ามองผลงาน และบันทึกการทำงานที่ปรับแต่งขึ้นมาทีละขั้น

ไปจบลงที่วิมังสา

 

ท่านอาจารย์พาเดินไปดูคนงานที่กำลังปั้นดินอยู่ เป็นจุดที่ผู้เขียนสนใจที่สุด ขั้นแรกของการเรียนงานช่างปั้น ท่านอาจารย์ว่า นวดดินให้ได้ 300 ครั้ง

นอกจากจะได้ถ้วยชามแล้ว ยังได้ ซิกซ์แพ็ก ชัวร์

มีแป้นอยู่ประมาณ 6 แป้น แสดงว่า เวลามีคนมาทำงานเต็มที่ก็คงประมาณนั้น ตอนที่เข้าไปดูเช้ามาก มีคนงานผู้หญิงกำลังขึ้นดินเป็นรูปชาม ดินดำสนิท ไม่ได้สัมผัส แต่ดูด้วยตาก็รู้สึกถึงความนิ่มของมัน มีดินที่ใส่รถเข็นมาส่งไว้เตรียมให้ใช้งาน

กลับมาแล้ว นึกขึ้นได้ว่า ปากหนักไป น่าจะขอซื้อมาสัก 3 ก.ก. มาปั้นพระน่ะค่ะ

จุดที่ปั้นดินเป็นเรื่องที่ผู้เขียนใฝ่ฝันอยากสัมผัสมาช้านาน เคยหาข้อมูลขนาดจะซื้อเตาเผาเองเลยค่ะ

คนที่เป็นอุปสรรคกับชีวิตช่างปั้นของผู้เขียนคือท่านธัมมนันทา ที่ห้ามไว้

 

สิ่งที่ได้สัมผัสที่บ้านดอยดินแดง คือวิถีธรรมชาติ คือวิถีเซน คือวิถีชา คือวิถีของคนธรรมดา ทั้งหมดนั้น คือวิถีธรรมที่ผู้เขียนได้สัมผัส กลายเป็นเรื่องที่ต้องเล่าขานกันไปอีกนาน ท่านผู้อ่านคงไม่ลืมว่า วัฒนธรรมชงชา พิธีชา เป็นเรื่องที่สานกันเข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มีแกนความคิดไปจากนิกายเซน ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างพุทธกับเต๋า

ยืนยันว่า ถ้าสนใจในสิ่งที่ผู้เขียนพูดมาข้างต้นนี้ แม้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สมควรไปเยี่ยมบ้านดอยดินแดง

ไปสัมผัส ไปซึมซับสิ่งที่นับวันจะหาได้ยากจากที่อื่น

ถ้วยกาแฟฝีมืออาจารย์สมลักษณ์ มีตราเป็นเครื่องหมายสามเหลี่ยมเล็กๆ 3 อันเรียงกัน ดูที่ก้นถ้วยนะคะ ถ้ามีสามเหลี่ยมที่ว่า ก็ใช่เลย

ห้ามเอาถ้วยกาแฟเข้าไมโครเวฟ

ทำไมเหรอ

ไม่ทำไมหรอก คุณจะได้ศิลปะชิ้นใหม่ที่คุณไม่คาดคิดเท่านั้นแหละ

กลับมาจากดอยดินแดงแล้วก็นอนไม่ค่อยหลับ มันฝันแต่อยากจะปั้นถ้วยชามออกมาแข่งกับอาจารย์สมลักษณ์ ใช้โลโก้สี่เหลี่ยมก็ได้ หลบอาจารย์สมลักษณ์ที่เชียงราย จะเอาไปขายที่เชียงใหม่ก็ได้

อนาคตเศรษฐีมองเห็นอยู่รำไร