การศึกษา/ ผ่าทางตัน ‘เด็กผี-ร.ร.ปิดตัว’ ปัญหา สช.ที่ยังไร้ทางออก!!

การศึกษา

ผ่าทางตัน ‘เด็กผี-ร.ร.ปิดตัว’

ปัญหา สช.ที่ยังไร้ทางออก!!

 

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในภาคใต้ ทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รัฐสนับสนุนอยู่ปีละหลายพันล้านบาท

โดยนำไปใช้ในทางที่ผิด พร้อมกับสร้างนักเรียนผี หรือจ่ายเงินเดือนครูไม่ตรงตามวุฒิการศึกษา

โดยมีการพาดพิงถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้อำนาจหน้าที่แก้ไขกฎระเบียบของ ศธ.ให้สอดรับกับการเบิกจ่าย เพื่อเอื้อต่อการกระทำดังกล่าว

ร้อนถึง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เร่งให้นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ไปตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นการสร้างความเสียหายแก่ ศธ. เป็นอย่างมาก!!

ซึ่งนายชลำออกมาชี้แจงว่า ขอยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้อง และความจริงแล้วการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหลายฝ่าย

มีการตรวจสอบการใช้เงินอุดหนุนมาอย่างต่อเนื่อง

มั่นใจได้ว่าระบบการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวของ สช.สามารถป้องกันการรั่วไหล เพราะมีการตรวจสอบรายชื่อนักเรียน จำนวนนักเรียนเป็นรายเดือน ก่อนจ่ายเงินอุดหนุนลงไปทุกเดือน

ไม่ได้โอนงบประมาณไปเป็นก้อนใหญ่ปีละครั้ง ดังนั้น โอกาสที่มีเด็กผีในโรงเรียนสังกัด สช.จึงยาก

 

แม้จะออกมาชี้แจงเรื่องการแบ่งจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวว่าสามารถป้องกัน ‘เด็กผี’ ได้แน่นอน

แต่ยังมีประเด็นค้างคาใจเรื่อง ‘การจ่ายเงินเดือนครู’ ที่จ่ายไม่ตรงตามวุฒิ ตามระเบียบแล้วครูที่จบระดับปริญญาตรี จะต้องได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งมีครูบางรายออกมาให้ข้อมูลว่า ได้รับเงินเดือนเพียง 6,000-7,000 บาท เท่านั้น!!

ประเด็นนี้ เลขาธิการ กช.ระบุว่า มีโรงเรียนที่ยังมีปัญหาจ่ายเงินเดือนครูไม่เต็มวุฒิอยู่จริงจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่าเงินอุดหนุนที่ได้รับไม่พอจ่ายเงินเดือนครูให้เต็มตามวุฒิ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ส่งหนังสือเพื่อสร้างความเข้าใจแล้วว่า ไม่ควรทำให้ครูเสียสิทธิและทำผิดกฎหมาย ซึ่งหาก สช.พบจะจัดการทุกราย ไม่ยกเว้น เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

“กรณีที่มีการนำเสนอข่าวทุจริตเงินอุดหนุนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ สช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานงานศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) จัดประชุม สช.จังหวัด และ สช.อำเภอในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครอบคลุมทุกโรงเรียนให้เสร็จภายใน 15 วัน

หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ทันที โดยมีประเด็นสำคัญคือ การจ่ายเงินเดือนครูตามกฎหมายกำหนด การทำสัญญาจ้าง และการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยจะหาข้อเท็จจริงครอบคลุมทุกโรงเรียน” นายชลำระบุ

ต้องจับตาดูอีก 15 วัน ผลการสืบข้อเท็จจริงจะออกมาอย่างไร มีการทุจริตจริงหรือไม่ แล้ว ศธ.จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะถือเป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายให้กับราชการเป็นอย่างมาก แต่ ศธ.กลับทำได้เพียงวัวหายแล้วล้อมคอกเท่านั้น!!

 

ขณะที่ “เจ้ากระทรวง” อย่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กลับออกปากว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่อ่านข่าวอยู่ เห็นนายชลำออกมาอธิบายแล้ว อีกทั้ง พล.อ.สุรเชษฐ์คอยดูแลงานของ สช.และงานภาคใต้อยู่

“ส่วนที่อ้างว่ามีผู้บริหารระดับสูงคอยเอื้อประโยชน์ให้ อยากถามกลับว่า ระดับสูงแค่ไหน เพราะการปรับระเบียบต่างๆ ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ต้องผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) อีกทั้งตั้งแต่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังไม่เซ็นระเบียบใหม่อะไรที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้เลย ดังนั้น ไม่มีทางที่จะมีการปรับระเบียบเอื้อได้” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นอกจากปัญหาโรงเรียนเอกชนในภาคใต้แล้ว โรงเรียนเอกชนสอนสายสามัญทั่วประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดย นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมายอมรับว่า การรับเด็กเข้าเรียนในส่วนของโรงเรียนเอกชนปีนี้ค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะในส่วนของการรับเด็กชั้นอนุบาล 3 ขวบ ซึ่งโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับไปก่อนหน้านั้น แม้ต่อมา นพ.ธีระเกียรติมีนโยบายเซ็ตซีโร่ให้โรงเรียนรัฐและเอกชนทำแผนรับอนุบาล 3 ขวบใหม่ แต่ก็ไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะโรงเรียนสังกัด สพฐ.รับเด็กไปแล้ว

“ยอมรับว่าการรับเด็กปีนี้กระทบกับสถานศึกษาสังกัดเอกชนค่อนข้างมาก โดยขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งเตรียมประกาศขายกิจการ เฉพาะที่ประกาศผ่านผมเองมีประมาณ 20 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนประจำตำบล หรืออำเภอ ซึ่งสู้นโยบายการรับเด็กของ สพฐ.ไม่ไหว”

นายศุภเสฏฐ์ระบุ

 

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ ภารพบ กรรมการ กช. ออกมาโจมตีว่า นโยบายการรับนักเรียนของ สพฐ.ปีนี้สร้างผลกระทบกับการรับนักเรียนของโรงเรียนเอกชนอย่างรุนแรง

มีโรงเรียนปิดตัวลงไปหลายแห่ง จึงอยากขอให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับโรงเรียนเอกชนบ้าง หากพบโรงเรียนรัฐใดไม่มีนักเรียนมาเรียน ต้องยุบไปบ้าง อย่าหวงตำแหน่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหวงตำแหน่งไว้ให้ครู

โรงเรียนเอกชนยังได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดเปิดสอบในระดับเตรียมอาชีวศึกษา หรือเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยเปิดรับนักเรียนที่จบระดับชั้น ป.6 เข้าเรียน ได้สร้างผลกระทบให้โรงเรียนเอกชนอย่างมาก

เพราะนักเรียนที่ไปเรียน ส่วนมากมาจากโรงเรียนเอกชนทั้งนั้น ถือเป็นการดึงนักเรียนจากเอกชนไปส่วนหนึ่ง ทำให้ขณะนี้โรงเรียนเอกชนประสบปัญหาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ประเด็นนี้ เลขาธิการ กช.ออกมาอธิบายว่า ที่โรงเรียนเอกชนปิดตัวลง ขอรอให้ สช.สรุปตัวเลขอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนนักเรียนที่ลดลงนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะจำนวนเด็กเกิดลดน้อยลง ดังนั้น โรงเรียนที่อยู่รอดได้คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งตนจะพยายามบอกโรงเรียนเอกชนว่าคุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอดได้ ฉะนั้น โรงเรียนต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและศรัทธาของประชาชน

ถือเป็นทางออกทางเดียวที่ยั่งยืน

 

ฟากฝั่ง นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) บอกว่า ที่โรงเรียนเอกชนกังวลใจกับการที่ สอศ.เปิดสอนเตรียมอาชีวศึกษาจะทำให้เป็นการแย่งนักเรียนนั้น ขอชี้แจงว่าไม่ใช่การแย่งนักเรียน แต่เป็นการจำแนกเด็กตามความต้องการและความถนัดของผู้เรียน

“การศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่เมื่อโตขึ้นในระดับมัธยม เขาจะต้องเลือกเรียนตามที่ถนัด ฉะนั้น ผู้เรียนจะเรียนอะไร ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดเฉพาะตัวบุคคลด้วย” นายสุเทพกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน หรือปัญหาโรงเรียนเอกชนปิดตัวลงเกิดขึ้นทุกปี และเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายจากวงการศึกษาไทยเสียที

ต้องจับตาดูว่า หน่วยงานอย่าง ศธ. หรือ สช. จะแก้ไขปัญหา หรือช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?!?