วิรัตน์ แสงทองคำ : ว่าด้วยเบียร์ไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องของเบียร์ไทย อาจเรียกได้ว่า “เบียร์การเมือง” ด้วยมีเรื่องราวสีสันเชื่อมโยงกับสังคมวงกว้างที่เป็นไป

ผ่านการเลือกตั้งใหญ่มาไม่กี่วัน มีกระแสข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ ในทำนอง “กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนให้ “คราฟต์เบียร์” สามารถผลิตภายในประเทศได้

อาทิ การปรับลดเพดานกำหนดการผลิตเบียร์ในประเทศ ที่ปัจจุบันกำหนดให้โรงเบียร์ขนาดเล็กต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี เพื่อให้เอื้อต่อการผลิตคราฟต์เบียร์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา”

อันที่จริงแล้ว ไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ที่ค่อนข้างจะแน่ใจก็คือ ภาพสะท้อนที่เห็นและเป็นมาของเบียร์ไทย มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและการเมือง

 

ยุคแรก

เรื่องราวเบียร์ไทย เริ่มต้นด้วยตำนานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ โดยตระกูลขุนนางนักธุรกิจ กับ “เบียร์สิงห์” แบรนด์เบียร์แรกของไทย อยู่ในธุรกิจอย่างโฟกัส จากยุคบุกเบิก ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แม้ว่าเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ แต่สามารถดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง อาจะเรียกได้ว่ามีสภาวะค่อนข้าง “ผูกขาด” มานานกว่า 60 ปี

มีบางกรณีควรอ้างถึง ซึ่งเชื่อมโยงกับบริบทการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแยกไม่ออก

กรณีแรก-ต่อกรกับเบียร์ต่างชาติในช่วงบุกเบิกในความพยายามปิดกั้นการเข้ามาในตลาดไทยซึ่งมีผู้บริโภคอยู่อย่างจำกัด

Tiger beer แห่งสิงคโปร์ เกิดขึ้นมาในยุคอาณานิคม (ในปี 2474) ในช่วงเวลาเกาะสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของ Straits Settlements ภายใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร ในช่วงเดียวกับการเกิดขึ้นของ “เบียร์สิงห์” ด้วยความร่วมมือกับผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ (Heineken) ซึ่งมีเครือข่ายในอาณานิคมดัตช์ (อินโดนีเซียปัจจุบัน) มีความพยายามจะนำมาจำหน่ายในเมืองไทยตั้งแต่ต้น

ทว่าผู้มีอำนาจรัฐไทยขณะนั้นตัดสินใจสกัดกั้น เป็นไปตามคำร้องขอของเบียร์ไทย

อีกกรณีหนึ่ง-การต่อสู้กับเบียร์ไทยเกิดใหม่ ซึ่งมากับช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง ตำนานการต่อสู้ดังกล่าวมีขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเบียร์ไทยของท่านผู้นำเกิดขึ้น (ปี 2504) โชคดีที่ “เบียร์สิงห์” มีสถานะผูกขาดตลาดมานาน ความภักดีของผู้บริโภคมีมากพอ จึงไม่สั่นคลอน

เมื่อการเมืองเปลี่ยน เบียร์การเมืองย่อมเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงอย่างช่วยไม่ได้ เบียร์ไทยท่านผู้นำจึงได้กลายเป็นตำนานฉากย่อยๆ ในประวัติศาสตร์บริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ (2509-2547) ซึ่งต่อสู้ดิ้นรนพอสมควร เมื่อสร้างเบียร์ไทยไม่สำเร็จ จึงซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากเยอรมนี-Kloster อยู่ในตลาดอย่างจำกัดมาพักใหญ่

ก่อนที่ตำนานจะจบลงเมื่อไม่นานมานี้เอง

 

ยุคที่สอง “เสรี”

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลังการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง มากับนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างอย่างน่าทึ่ง

“รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534 จึงมีผู้ขอตั้งโรงงานเบียร์หลายราย เบียร์ช้างเป็นเบียร์ไทยยี่ห้อเดียวที่ใช้พยัญชนะไทยในฉลากเบียร์อย่างภาคภูมิในความเป็นไทยออกสู่ตลาดในปี 2538” ข้อมูลไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของ “เบียร์ช้าง” ว่าไว้ โดยเจาะจงใช้คำว่า “เปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” ประหนึ่งประกาศว่า ยุคผูกขาดของ “เบียร์สิงห์” ได้สิ้นสุดลง

ภาพชัดเจนแห่งยุค “การเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวน เบียร์แบรนด์ระดับโลกพาเหรดเข้ามาวางรากฐานธุรกิจในเมืองไทย ขณะแบรนด์เบียร์ไทยผู้ครองตลาดอย่างโดดเดี่ยวพลิกโฉมหน้าไป เมื่อ “เบียร์ช้าง” ปรากฏตัว ถือเป็น “คู่แข่ง” ที่น่าเกรงขามอย่างแท้จริงของ “เบียร์สิงห์”

ภาพใหญ่ที่ปรากฏนั้น ผู้เกี่ยวข้องล้วนเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ทั้งนั้น

เจริญ สิริวัฒนภักดี ในฐานะเจ้าของธุรกิจสัมปทานผูกขาดสุราไทย ในเวลานั้นเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทยแล้ว ได้โอกาสก้าวข้ามพรมแดนทันที เริ่มต้นด้วยการร่วมทุนกับต่างชาติ–Carlsberg เบียร์ชั้นนำของโลกแห่งเดนมาร์ก เข้ามาตั้งโรงงานในเมืองไทย (ปี 2534) ออกสู่ตลาดค่อนข้างรวดเร็วในอีก 2 ปีต่อมา พร้อมๆ กันนั้นสร้างเบียร์แบรนด์ไทยของตนเอง “เบียร์ช้าง” เป็นแผนคู่ขนานที่ได้ผล จน “เบียร์ช้าง” เข้าสู่ตลาด และได้ยึดฐานะเบียร์ไทยรายที่ 2 อย่างมั่นคงในเวลาไม่นาน

ขณะกลุ่มธุรกิจใหญ่รากฐานดั้งเดิมของไทยอีกบางกลุ่ม มีบทบาทเชื่อมโยงกับแบรนด์เบียร์ระดับโลกเป็นพิเศษ

กลุ่มไทยประกันชีวิต นำโดยวานิช ไชยวรรณ “นักธุรกิจไทยเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ ช่วงกว่าครึ่งศตวรรษสังคมธุรกิจไทย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง” ในฐานะผู้นำธุรกิจผู้ดำรงอยู่ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะจากเครือข่ายธุรกิจประกัน ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจธนาคารไทยรายล่าสุด ทั้งนี้ หลายคนอาจมองข้ามธุรกิจเบียร์

กลุ่มไทยประกันชีวิตร่วมมือกับตระกูลธุรกิจอิทธิพลอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม–ตระกูลสารสิน ดำเนินธุรกิจร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจเบียร์แห่งสิงคโปร์ (Asia Pacific Breweries หรือ APB) เมื่อปี 2536 มีบทบาทสำคัญ นำแบรนด์เบียร์ระดับโลกหลายแบรนด์เข้ามาในเมืองไทย

เปิดด้วย Heineken แห่งเนเธอร์แลนด์ เบียร์อันดับหนึ่งของยุโรป (ปี 2538)

ตามมาด้วย Tiger beer แห่งสิงคโปร์ (ปี 2547) ผู้รอโอกาสเข้าสู่ตลาดไทยนานทีเดียวถึงกว่า 80 ปี “ในเดือนสิงหาคม 2553 กลุ่มบริษัททีเอพีได้รับสิทธิ์ในการนำเข้าและจัดจำหน่ายกินเนสส์ [Guinness] และคิลเคนนี่ [Kilkenny] พรีเมียมเบียร์สัญชาติไอริชผลิตจากโรงเบียร์ในกรุงดับบลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย” (ข้อมูลของกลุ่มบริษัททีเอพีเอง)

ยุค “การเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” ตั้งแต่ปี 2534 แม้ว่าจะมีเบียร์แบรนด์ระดับโลกอย่างหลากหลาย แต่ตลาดในประเทศ ว่ากันว่าในสัดส่วนมากกว่า 90% ยึดครองโดยเบียร์ไทย “สิงห์” กับ “ช้าง” ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มีแตกแบรนด์ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งชักนำแบรนด์ระดับโลกเข้ามาด้วย

โดยเฉพาะฟาก “เบียร์สิงห์” มีบทบาทอย่างคึกคักเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในการเป็นผู้จำหน่ายเบียร์ระดับโลก อย่าง Carlsberg แบรนด์เบียร์เดนมาร์ก ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับ “เบียร์ช้าง” ได้กลับข้าง ด้วยประสบการณ์ร่วมทุนธุรกิจไม่ค่อยดีนักเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว รวมทั้ง Asahi แบรนด์เบียร์ญี่ปุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น และ Corona แบรนด์เบียร์เม็กซิกันที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในอเมริกา

ขณะ “เบียร์ช้าง” เอง ก้าวไปอีกขั้น เพิ่งมีแบรนด์เบียร์ระดับภูมิภาคของตนเอง กรณีถือหุ้นใหญ่ในกิจการเบียร์ในเวียดนาม เชื่อว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดไทยในไม่ช้า

 

ยุคที่สาม ผ่อนคลาย

มีความจริงประการหนึ่งที่สำคัญ กฎหมายเกี่ยวกับเบียร์นั้นมีเงื่อนไขหลายข้อ ยังคงผูกอยู่กับพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ซึ่งว่ากันว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคเริ่มต้นระบบผูกขาดสุราในประเทศไทย มีพลังทำลายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชุมชนอย่างราบคาบ ในหลายทศวรรษต่อมา จนกระทั่งปี 2541 ดูเหมือนมีการขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ดูจะเป็นเรื่องตื่นเต้นทีเดียว

เมื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย (นายกรัฐมนตรี 14 พฤศจิกายน 2540-9 พฤศจิกายน 2543) “มีนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542” ถ้อยแถลงนั้นน่าสนใจยิ่งนักโดยมีประโยคสำคัญซึ่งควรใคร่ครวญตามมา

“ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 เห็นชอบนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542 โดยให้กระทรวงการคลังชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจชัดเจนในหลักการและกรอบของการเปิดเสรีสุราด้วยว่ามิได้หมายความว่า ผู้ใดจะผลิตสุราได้เองโดยเสรีทุกกรณี…”

สาระสำคัญตอนต้นของประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 (6 ตุลาคม 2543) ลงนามโดยธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2543 มีข้อจำกัดมากทีเดียว กล่าวคือ อนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้ 2 ประเภท 2 กรณี

หนึ่ง-หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี

สอง-โรงเบียร์ขนาดเล็ก มีลักษณะเป็น Brew Pub และต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตรต่อปี โดยให้มีการบริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวด ทั้งนี้ การผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจเบียร์ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจธุรกิจใหญ่ เครือข่ายธุรกิจเบียร์ไทย ภายใต้ “สิงห์ VS ช้าง” รายล้อมด้วยแบรนด์เบียร์ระดับโลก ขณะที่เบียร์ของผู้ประกอบรายกลางๆ อันเกิดขึ้นจาก “ประกาศกระทรวงการคลัง ปี 2543” ยังอยู่ในพื้นที่จำกัดมากๆ โอกาสของผู้ประกอบรายเล็กๆ กับสิ่งที่เรียกว่า “เปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” อย่างแท้จริง ยังเป็นแค่แสงสว่างปลายอุโมงค์

เรื่องราวกรณี “คราฟต์เบียร์” ปะทุปะทะขึ้นมาเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว ตัวละครรายเล็กๆ รายหนึ่งในเวลานั้นกำลังจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ในฐานะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การเลือกตั้งซึ่งสะท้อนมุมมองว่าด้วยนโยบายรัฐในมิติต่างๆ ทางสังคม ดูช่างหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ว่าได้

“คราฟต์เบียร์” เป็น “หน่อ” ความคิดและปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยว่าด้วยพวก “สตาร์ตอัพ” ที่น่าสนใจ ผมเองเชื่อว่าในที่สุดไม่มีใครขัดขวาง “สิ่งใหม่เล็กๆ” นั้นได้

“แท้จริงแล้วผู้ผลิตเบียร์รายย่อยๆ ไม่มีบทบาทคุกคามรายใหญ่ หากเป็นสีสัน เป็นกระบวนการทดลอง ค้นคิด ผลิตภัณฑ์ถือเป็นอนาคต ในมิติสังคม โมเดลธุรกิจใหม่ ยกระดับอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งโอกาสในการหลอมรวมในขั้นตอนพัฒนาการอีกขั้นของรายใหญ่

ผมเชื่อว่า “สิงห์” และ “ช้าง” เข้าใจปรากฏการณ์และแนวโน้มดังกล่าว หากร่วมกันอรรถาธิบาย และผลักดันหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้คล้อยตาม ทางออกที่เหมาะสมจะเปิดขึ้น” ผมเคยนำเสนอมุมมองโลกในแง่ดีไว้เมื่อต้นปี 2560

หากกระแสข่าวข้างต้นเป็นจริง และเป็นไป แม้เป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง ทว่าสะท้อนวิวัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่ง อันควรเป็นไป