เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ ลาโรง…บ้านเรือนเคียงกัน

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ลาโรง…บ้านเรือนเคียงกัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงรอบสุดท้ายของละครเวทีเรื่องล่าของเจ เอส แอล ที่ชื่อ “บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” หลังจากเปิดการแสดงมาทั้งสิ้น 10 รอบ

เมื่อตอนละครเรื่องนี้เปิดการแสดงไปในรอบสื่อมวลชน ผมก็ได้เขียนถึงไปทีหนึ่งแล้ว

และเมื่อปิดการแสดงลง จึงขออนุญาตเขียนถึงอีกครั้งเป็นการส่งท้าย

 

ละครเรื่องนี้เป็นลำดับที่ 7 ในละครเวทีชุด “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” เป็นละครในแนวคอ,เมดี้ คือ สนุกสนานหรรษา ตลกขบขัน ซึ่งใน 6 เรื่องที่ผ่านมา จริงๆ แล้วรสชาติละครที่ทำออกมาก็จะมีส่วนของความสนุก มีอารมณ์ขันปะปนอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังไม่เคยทำออกมาในแนวนี้อย่างชัดเจน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องราวของละครจึงไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนปมชวนติดตามเท่าเรื่องที่ผ่านมา พอเอ่ยชื่อเรื่อง “บ้านเรือนเคียงกัน” ก็แทบจะเดาเรื่องออกเลยว่า ต้องเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างบ้านสองบ้านที่อยู่ใกล้กัน และสุดท้ายก็หันมาปรองดองกัน

พระ-นางก็ต้องเริ่มต้นที่ไม่ถูกกัน และสุดท้ายก็รักกัน

บ้าน 2 หลังที่ว่านี้มีตัวแม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งกันคือ “คุณนายหงษ์ทอง” เจ้าของบ้านรวยที่รับบทโดย ผัดไท-ดีใจ ดีดีดี กับ “ลัดดา” เจ้าของบ้านจนที่รับบทโดย นุ่น ดารัณ

บทบาทที่ต้องปะทะกันของ 2 คนนี้เป็นประเด็นของเรื่องก็ว่าได้ โดยเฉพาะกับคุณนายหงษ์ทองนี่ถือว่าเป็นแกนกลางของเรื่องเลยทีเดียว นอกจากจะทะเลาะกับอีกบ้านหนึ่งแล้ว ยังไปมีเรื่องราวกับชุมชนที่อยู่รายรอบอีกด้วย ทั้งเหล่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดของตนและวินมอเตอร์ไซค์

เรื่องนี้ “ผัดไท” ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก เล่นได้อย่างสนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ทุกฉากที่ปรากฏตัว และด้วยความเจนเวที หัวไว จึงมีมุขสดๆ ปรากฏบนเวทีแทบทุกรอบ จนคนที่ร่วมแสดงด้วยต้องเตรียมตั้งรับอย่างดี

 

ในฉากที่เธอพีกมากๆ เราจะเห็นนักแสดงคนอื่นแอบซ่อนหน้าจากการหัวเราะอยู่บ่อยๆ และบ่อยครั้งที่มีหลุดกันเอง จนคนดูต้องปล่อยเสียงหัวเราะก้อนใหญ่ลั่นโรงด้วยความชอบใจ

สำหรับตัวผัดไทเองแล้ว ได้บอกว่าตนเองรู้สึกมีความสุขที่เห็นผู้ชมมีความสุข โดยเฉพาะพวกแฟนคลับของเธอที่สูงวัยแล้ว บางคนมาจับมือตอนเลิก บอกว่าบินมาจากจังหวัดนั้นจังหวัดนี้เพื่อมาดูเลยนะ มาดูทุกปี

ผัดไทเข้าใจดีว่า สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุมากๆ แล้วการลุกออกจากบ้านไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะผู้ใหญ่พอถึงวัยหนึ่งมักติดที่ ไม่อยากออกไปไหน ฉะนั้น สิ่งที่ฉุดผู้ใหญ่ที่ว่านี้ออกมาได้เขาต้องเห็นความสำคัญอย่างมาก ไหนต้องเตรียมตัวตั้งแต่ใส่ชุดอะไร ไปกับใคร ลูกหลานคนไหนจะพาไป การกิน การเดินทางอย่างไร บางคนมาพร้อมวีลแชร์ซึ่งไม่สะดวกสบายเท่าที่ควรแน่ๆ แต่ก็อยากมา

ในนามของผู้จัดและทีมงาน จากที่ได้คุยกัน เรารู้สึกเป็นสุขใจอย่างล้นเหลือที่ได้เห็นผู้ชมมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ได้มีความสุขกลับไป โดยเฉพาะคนที่สูงวัยดังว่า

ดีใจที่ได้เห็นผู้ชมมาเป็นแบบครอบครัว นี่คือความสัมพันธ์แบบไทยๆ โดยแท้

ในบางรอบมีผู้ชมที่พิการทางสายตามาชมเป็นหมู่คณะ จากการสังเกตก็เห็นพวกเขามีความสุขด้วยการเงี่ยหูฟังเสียงที่ได้ยิน หัวเราะไปกับความสนุกสนาน หลายคนก็โยกหัวตามเสียงดนตรี เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมมาบอกว่า รู้สึกขอบคุณมากที่ทำให้คนเหล่านี้มีความสุขมากมายเช่นนี้

 

อีกคนที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าน่ารักและแสดงได้เก่ง ทั้งที่เป็นการแสดงละครเวทีครั้งแรกของเธอคือ “แป้ง มิตรชัย” ลูกสาวของไชยา มิตรชัย

แป้งคุยให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาที่ซ้อมก่อนจะขึ้นเวที แป้งต้องทำการบ้านหนักมากเพราะความใหม่ของตน โดยเฉพาะการร้องเพลง ต้องเรียนรู้การร้องแบบสุนทราภรณ์ ที่ต้องชัดทุกคำ มีหนัก-เบา ฝึกเอื้อนแบบมีเอกลักษณ์ และต้องเว้นลมหายใจให้ถูก

พอได้แสดงจริง แรกๆ ก็กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี แต่พอได้เห็นผู้ชมที่มองมา เห็นเขามีความสุข ก็รู้สึกดีใจจนหายกลัว เกิดกำลังใจที่จะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกรอบ ซึ่งแป้งต้องทำงานหนักเพราะมีการปรับการแสดง เปลี่ยนวิธีการร้องในเกือบทุกรอบเพื่อให้ผู้ชมได้รับการแสดงที่ดีที่สุด แต่แป้งก็ไม่เคยบ่น ท้อ หรืองอแงเลย กลับตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด

ยิ่งเมื่อมาประกบคู่กับ “ปอ อรรณพ” แล้ว แป้งยิ่งต้องไม่ยอมแพ้เพราะปอนั้นพลังมากและแสดงออกอย่างมีชีวิตชีวาเสมอ จนผู้กำกับฯ ต้องคอยปรามในบางฉากว่าอย่าให้ล้นเกินไป สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมประทับใจในตัวปอคือ ความเป็นธรรมชาติ ทะเล้น ขี้เล่น ซึ่งปอเอาตัวตนของเขาออกมาใช้อย่างเต็มที่

“ผมเกร็งกับเพลงอุษาสวาทมาก เพราะรู้ว่าเป็นเพลงดังที่ทุกคนรู้จักดี”

ปอบอกอย่างนั้น และเขาก็ได้รับการเคี่ยวกรำกับเพลงนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้ออกมาไพเราะที่สุด สมกับบรรยากาศหวานชื่นโรแมนติกตามท้องเรื่อง

 

พระ-นางอีกคู่ คือ “ต้น ธนษิต” กับ “ซานิ นิภาภรณ์” ไม่ห่วงเรื่องร้องเพลงเลย ทั้งสองมีทักษะและเทคนิคที่ถ่ายทอดบทเพลงสุนทราภรณ์ออกมาได้อย่างจับใจในแบบฉบับของตัว

เพลง “ใจรัก” ที่ต้นร้องเดี่ยวเพื่อจีบซานิ เบื้องหลังของการร้องและแสดงเพลงนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างต้นและซานิ แม้ซานิจะไม่ได้ร้อง แต่ต้องมีแอ๊กชั่นประกอบเรื่องราวไปกับต้นตลอด ซึ่งซานิก็ต้องคอยควบคุมการแสดงออกให้สอดรับกับการหายใจของต้น เพื่อให้เสียงต้นร้องออกมาได้นิ่งและไพเราะ

เพลงซึ้งอีกเพลงหนึ่งที่ต้นทำออกมาได้อย่างซาบซึ้งคือเพลง “รักรัญจวน” ซานิบอกว่าสงสารต้นมาก เพราะก่อนจะเข้าเพลงที่ต้องมีอารมณ์ซึ้งโศกเพลงนี้ มีการแสดงที่เป็นมุขตลกนำอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ซานิและนักแสดงคนอื่นเล่นๆๆ คนดูก็หัวเราะๆๆ แต่ต้นต้องพยายามข่มอารมณ์ไม่ให้หัวเราะตาม และทำสมาธิเพื่อจะถ่ายทอดเพลงนี้ออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งต้นบอกว่าเกือบหลุดขำออกมาก็หลายครั้ง

ส่วนเพลง “จากรัก” ในสไตล์บลูส์โดยการร้องของซานิก็หายห่วง ผ่านทุกครั้ง

 

นักแสดงอีกคนที่ได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยคือ “เนสท์ นิศาชล” ในบทแม่ค้า “อ้อยหวาน” เพราะเนสท์เล่นสุดตัวทุกครั้ง แม้บางรอบจะมีปัญหากับหลังที่มักปวดกำเริบขึ้นมา แต่วิญญาณนักแสดงแบบ “องค์ลง” ของเธอก็ทำให้คนดูไม่รับรู้ได้ และมีเสียงปรบมือให้เสมอ

ทั้งเพลง “พ่อค้าเรือเร่” และ “รักใครกันแน่” ถือเป็นฉากที่ต้องจดจำฉากหนึ่งในละครเรื่องนี้ โดยเฉพาะ “รักใครกันแน่” ที่เนสท์ร้องและแสดงกับ 3 วินมอเตอร์ไซค์คือ ตี๋-วิวิศร์ ปาล์ม-ธัญวิชญ์ และอู๋-ธรรพ์ณธร สนุกปลุกอารมณ์ได้เต็มที่

ปาล์มบอกว่า เพลงนี้ต้องเล่นจีบเนสท์ แต่ถ้าจะจีบเนสท์ จีบแบบธรรมดาไม่ได้ ต้องประเภทจีบให้ตายกันไปข้างถึงจะเอาอยู่

 

นักแสดงคนอื่นๆ ก็รับผิดชอบกันได้อย่างเต็มที่ ตั้งใจร้อง ตั้งใจแสดงจนออกมาดี โดยเฉพาะกลุ่มนักแสดงสมทบชายและหญิงที่ได้รับคำชมอย่างมากว่า ไม่ได้เป็นนักแสดงประกอบเลย เหมือนเป็นนักแสดงหลักคนหนึ่ง เพราะมีความสำคัญกับเรื่องมาก และสามารถมีบทบาทสอดคล้องส่งเสริมเล่าเรื่องไปกับตัวละครหลักได้อย่างดีเยี่ยม

บทเพลงทั้ง 22 เพลงในครั้งนี้ได้ถูกถ่ายทอดออกไปให้ท่านผู้ชมได้รับฟัง หลายเพลงเป็นเพลงไม่ฮิตไม่ดัง แต่ก็พลอยได้มารู้จัก ได้มาฟังจากละครเรื่องนี้ ผู้ชมหลายคนพากันประหลาดใจว่าสุนทราภรณ์มีเพลงนี้ด้วยหรือ

ผู้ชมวัยรุ่นหรือรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสมาดู บอกว่าชอบมาก แม้จะไม่รู้จักเพลงเลยแต่ก็ดูได้อย่างสนุก และรับรู้ได้เลยว่าเพลงของสุนทราภรณ์นั้นสวยงามไพเราะเพียงไร โดยเฉพาะความตลกที่เสิร์ฟให้ได้ยิ้ม ได้หัวเราะทุก 5 นาทีนั้นประทับใจมาก

รอบหนึ่งมีชาวฟิลิปปินส์มาชม ซึ่งเขาฟังไม่ออกแต่ก็รับรู้ได้ถึงเรื่องราวที่แสดงและหัวเราะตามไปด้วยได้ เขาให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกอัศจรรย์ใจมากกับการแสดงนี้

นี่คือเครื่องพิสูจน์ว่าดนตรีและเสียงเพลงนั้นเป็นสากล สามารถสื่อสารกับคนทุกชาติทุกภาษาได้ และหากสื่อสารด้วย “อารมณ์ขัน” ก็จะเป็นการสื่อสารที่มีไมตรีจิต เข้าถึงง่ายและรื่นรมย์อีกด้วย

ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน โดยเฉพาะมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มอบบทเพลงอมตะของครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูเพลงท่านอื่นๆ ให้ถ่ายทอดในละครเรื่องนี้กัน

ขอปิดม่านลงด้วยความสุขจริงๆ เลยนะครับ เอ้า ปรบมือ