ต่างประเทศอินโดจีน : ปลุกผีคอมมิวนิสต์ ในกระแสเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ที่มาภาพ // AFP

ถัดจากเลือกตั้งทั่วไปที่เมืองไทย ก็จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่อินโดนีเซียในวันที่ 17 เมษายนนี้ คู่แข่งสำคัญคือ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับผู้ท้าชิงอย่างพราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายทหารยศนายพลเอก และลูกเขยของ “ซูฮาร์โต” นายพลอีกคนที่เคยกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในอินโดนีเซียอยู่นานร่วม 3 ทศวรรษ

ถึงเทศกาลเลือกตั้งทีไร อะไรที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ล้วนบังเกิดขึ้นได้ถ้วนหน้า

ในกรณีของอินโดนีเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้คือกระแส “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ขึ้นมาอีกครั้งตลอดช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา

ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ “คอมมิวนิสต์” คือประเด็น “ต้องห้าม” ที่สุดในประเด็นการเมืองทั้งหลายในอินโดนีเซีย

ที่กลายเป็นหัวข้อต้องห้าม เป็นเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ที่ยังคงกลายเป็นเครื่องหมายคำถามมหึมาในสังคมที่นั่น หยิบยกขึ้นมาเมื่อใดเป็นขัดแย้งกันได้เมื่อนั้น

ทั้งๆ ที่เวลาล่วงเลยมานานเกินครึ่งศตวรรษแล้วก็ตามที

 

จู่ๆ นับตั้งแต่มกราคมเรื่อยมา ทหารอินโดนีเซียบุกเข้าตรวจค้นร้านหนังสือหลายสิบแห่ง ยึดทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับพีเคไอไปทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่หนังสือสารคดีหรือหนังสือในเชิงวิชาการประวัติศาสตร์

ครั้งหนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (พีเคไอ) เคยเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีสมาชิกเป็นเรือนล้าน กลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหภาพโซเวียตและจีนเท่านั้น

ยุครุ่งเรืองของพีเคไออยู่ในช่วงทศวรรษ 1940-1960 เมื่อครั้งซูการ์โน ผู้นำเรียกร้องเอกราชจนเป็นผลสำเร็จ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก

แนวคิดของซูการ์โนเอนเอียงไปทางซ้าย แนวนโยบายสำคัญของผู้นำคนแรกของอินโดนีเซียเป็นการหลอมรวมเอาลัทธิชาตินิยมเข้ากับศาสนาและคอมมิวนิสต์ เรียกว่า “นาซาคอม”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1965 เมื่อนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ขบวนการ 30 กันยา” ก่อการยึดอำนาจ จับนายพลที่เคยเป็น “ฮีโร่” ในการเรียกร้องเอกราช 6 นายสังหารโหด เมื่อ 1 ตุลาคม 1965

ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผล เมื่อ “ซูฮาร์โต” นายพลตรีหนุ่มนำทหารออกมาต่อต้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาต่อเนื่องจนถึงปี 1966 ก็คือการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

เกิดการเข่นฆ่าสังหาร “คอมมิวนิสต์” ครั้งใหญ่ขึ้นในอินโดนีเซีย ไม่จำกัดเพียงตัวสมาชิกพรรค แต่ลามไปถึงครอบครัวใกล้ชิด

ตัวเลขผู้ถูกสังหารประเมินกันไว้ต่ำสุดที่ 500,000 คน มีบ้างที่ประเมินเอาไว้ว่า จำนวนเหยื่อในการสังหารหมู่หนนั้นอาจมากถึง 3 ล้านคน ตัวเลขที่ถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดคือ 1 ล้านคน

 

ซูฮาร์โตอาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวยึดอำนาจรัฐ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 30 ปี (1967-1998)

พีเคไอล่มสลาย พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นพรรคต้องห้าม นอกกฎหมาย

แน่นอน คำบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อปี 1965 ของรัฐบาลย่อมผิดแผกแตกต่างออกไป คอมมิวนิสต์ไม่เพียงโหดร้าย อำมหิต สังหารได้แม้แต่ฮีโร่ผู้กู้อิสรภาพ สมควรถูกกำจัด

แต่สิ่งที่ซูฮาร์โตประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือการปลูกฝังชาวอินโดนีเซียทุกคน ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ให้เติบใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับความเกลียด กลัว ชิงชัง ลัทธิคอมมิวนิสต์

ซูฮาร์โตสร้าง “พิพิธภัณฑ์การขายชาติของพรรคคอมมิวนิสต์” ขึ้นที่นอกกรุงจาการ์ตาเพื่อการนี้ ไม่ใช่เพื่อแสดงข้อเท็จจริงใดๆ

เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็น “ปม” ใหญ่ในอินโดนีเซีย แตะเมื่อใดเป็นถกเถียง ขัดแย้งกันเมื่อนั้น

 

โจโก วิโดโดเองเคยแสดงความปรารถนาจะให้ “ถก” เรื่องนี้กันอย่างเปิดเผยและเป็นกิจจะลักษณะ แต่ถูกฝ่ายทหารค้านอย่างหนัก เพราะเกรงจะถูกเปิดโปงส่วนที่กองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ถึงที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์บุกร้านหนังสือขึ้นมา ที่นักสังเกตการณ์ทุกคนเชื่อว่าเป็นคำสั่งของประธานาธิบดี ที่อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยกับกระแสการฟื้นตัวของพีเคไอที่กระหึ่มอยู่ในเวลานี้ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานยืนยันเลยแม้แต่น้อย

นอกจาก “เฟกนิวส์” ที่สะพัดโซเชียลมีเดีย กล่าวหาทั้งวิโดโดและพราโบโว ว่าคือ “แนวร่วม” คอมมิวนิสต์

นี่คือการเมือง เป็นการเมืองที่หวังเพียงชนะ ไม่ว่าประเทศชาติจะบอบช้ำ ย่ำแย่ขนาดไหนก็ตามที