เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : วาทกรรมเผด็จการ

เมื่อยามน้อยด้อยอำนาจวาสนา

เขาพูดจาปราศรัยอ่อนไหวหวาน

ครั้นขึ้นใหญ่ได้อำนาจราชการ

ทุกรัฐบาลกระทืบบาทตวาดโวย

กลอนของสุจิตต์ วงษ์เทศ บทนี้ เข้าตามาขึ้นใจแล้วก็มา “ตวาดโวย” เอาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทุกครั้งได้พอดี

เป็นดังบทสรุปเรื่องของการเมืองไทยได้ดีที่สุด ตั้งแต่วรรคแรกถึงวรรคสุดท้าย

ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้คือสองวรรคแรก “เมื่อยามน้อยด้อยอำนาจวาสนา เขาพูดจาปราศรัยอ่อนไหวหวาน” ปราศรัยอ่อนไหวหวาน นี่หมายถึงกับประชาชนเท่านั้นนะ

อีกสองวรรคต่อมาคือ “ครั้นขึ้นใหญ่ได้อำนาจราชการ ทุกรัฐบาลกระทืบบาทตวาดโวย” นี่ต้องคอยดูเอาตอนโน้นแล้วกัน ตอนที่ใกล้จะถูกโค่นลงก่อนจะปิดฉากทุกครั้งไปนั่นแหละ

แล้วก็กลับมาเริ่มต้นกันด้วยสองวรรคแรกอีก

วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่เชื่อก็คอยดูไปละกัน

ต่อพรรคต่างขั้วซึ่งไม่ใช่ประชาชนที่จะต้องไปพูดจาปราศรัยอ่อนไหวหวานด้วยนั้น เขาก็จะใช้ท่าทีสุดโต่งไปอีกขั้ว คือท่าทีชนิดที่เรียกว่า “สับแหลกฟันเละ”

วาทกรรมที่นำมาใช้สาดใส่กันในวันนี้ก็คือ “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” โดยมีฝ่ายประชาธิปไตยเป็นตัวดี และฝ่ายเผด็จการเป็น “ตัวร้าย”

ยุคสิบสี่ตุลาคมสองห้าหนึ่งหกนั้น วาทกรรมคู่นี้คือ ประชาธิปไตยกับเผด็จการชัดเจนโดดเด่นที่สุด พลอยให้เกิดวาทกรรมตามมาคือ ซ้าย-ขวา ดังมีคำฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา จนถึงขวาจัด-ซ้ายจัดในครั้งกระโน้น

ซ้ายคือประชาธิปไตย ขวาคือเผด็จการ

ที่ว่าชัดเจนโดดเด่นนั้นคือ ความเป็นฝ่ายตรงข้ามซึ่งโดดเด่นเหมือนสีขาวดำที่ตัดกัน เป็นตรงข้ามกันอย่างชัดเจน มีฝ่ายปกครองผู้ถืออำนาจรัฐโดยทหารเป็นฝ่ายเผด็จการ กับฝ่ายนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

รัฐบาลยุคนั้นได้แต่อ้างความชอบธรรมเอาจากความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือการถือครองอำนาจรัฐอยู่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงเหตุแห่งการได้มาและการใช้อำนาจนั้นอย่างชอบธรรมหรือไม่

รัฏฐาธิปัตย์กลายเป็นความชอบธรรมของแทบจะทุกพรรคทุกฝ่ายที่ขึ้นมาครอบครองอำนาจรัฐ

จึง…ทุกรัฐบาลกระทืบบาทตวาดโวย!

นี่คือวรรคกวีที่สรุปสันดานของเผด็จการทุกยุคสมัยได้ดีที่สุด

ดังนั้น ฝ่ายข้างตรงข้ามที่ไม่เอาเผด็จการจึงเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

สถานการณ์ที่ทำให้เกิดขั้วตรงข้ามชัดเจนระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยยุคสิบสี่ตุลา คือคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ครองอำนาจคือขุนทหาร กับผู้ถูกครองอำนาจคือประชาชนผู้รักสิทธิเสรีภาพ

คู่ขัดแย้งครั้งนั้น ถือเป็นผู้สถาปนาวาทกรรมคู่ตรงข้ามคือเผด็จการกับประชาธิปไตยได้โดดเด่นชัดเจนและยังดำรงอยู่ให้นำมา “สาดใส่” กันแม้จนวันนี้

จากสิบสี่ตุลาหนึ่งหกถึงหกตุลาหนึ่งเก้า ขั้วเผด็จการคือขุนทหาร ยิ่งตอกย้ำความเป็นฝักฝ่ายให้เด่นชัดจนเหมือนจะกลายเป็นสัจจะแห่งวาทกรรมไปเลยทีเดียว นั่นคือ เผด็จการคือทหาร ด้วยมีแต่ทหารเท่านั้นที่เผด็จอำนาจขึ้นมาได้ดังว่าคือ “ขึ้นใหญ่ได้อำนาจราชการ”

วิธีเผด็จอำนาจของทหารก็คือการทำรัฐประหาร

อันเป็นตรงข้ามกับประชาธิปไตย ที่ได้อำนาจมาด้วยการเลือกตั้ง

แต่แล้วรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งกลับใช้อำนาจนั้นโดยไม่ชอบธรรม ด้วยวิธีเผด็จการเสียเอง โดยอ้างความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มาเผด็จอำนาจในรัฐสภา จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง แบ่งสีแบ่งขั้ว ซับซ้อนกว่ายุคเริ่มๆ ที่มีแค่ดำ-ขาว ซ้าย-ขวา กลายเป็นแดง-เหลือง และหลากสี

แม้จะไม่นิยามขั้ว เผด็จการกับประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อหาที่แท้แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่ดี

คือการอ้างรัฏฐาธิปัตย์ คืออำนาจรัฐ อำนาจสภามาใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม นี่เป็นเผด็จการเชิงเนื้อหาโดยแท้

เผด็จการจึงมิใช่มีจำเพาะรูปแบบของการได้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม เช่น การรัฐประหารโดยขุนทหารเท่านั้น หากเผด็จการคือการใช้วิธีการบริหารปกครองประเทศอย่างไม่ชอบธรรมด้วย มิพักว่าจะได้อำนาจนั้นมาโดยชอบธรรมหรือไม่

ผู้ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเผด็จการเช่นนี้ และลุกขึ้นมาคัดค้านโดยบริสุทธิ์ ต้องถือว่ามีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น นี้จึงเป็นประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาโดยแท้

ประชาธิปไตยจึงมิใช่หมายจำเพาะการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น เพราะความหมายที่แท้นั้นคือ

“ประชาธิปไตยคืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่” ดังจำแนกเป็นสามขั้นตอนคือ

หนึ่ง การได้มาซึ่งอำนาจ

สอง การใช้อำนาจ

สาม การมีส่วนร่วมในอำนาจของพวกประชาชน

ทั้งสามประการนี้ต้องเป็นไปโดยชอบธรรม

ดังนั้น การลุกขึ้นต่อต้าน คัดค้าน การใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรม จึงเป็นความชอบธรรมของประชาชนผู้รักความเป็นธรรม

ประสบการณ์จากสถานการณ์สองยุคสองสมัย ทำให้เห็นการคลี่คลายขยายความของคำเผด็จการกับประชาธิปไตย ทั้งโดยรูปแบบและเนื้อหาได้ดียิ่ง

กระทั่งวันนี้วาทกรรมคู่นี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือ “สาดใส่” กันอย่างไม่ยั้ง ชนิดไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาอันจะเอาแต่รูปแบบเข้าว่ากันลูกเดียวพอแล้ว

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีท่านกล่าวเป็นสัจธรรมไว้ดีน่าคิด คือ

รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา

รัฐประหารเป็นเพียงปลายเหตุ

คนโกงต่างหากคือต้นเหตุ

วาทกรรมเผด็จการ ประชาธิปไตย ที่สาดใส่กันอยู่ในวันนี้ ดูจะกลายเป็นดังนี้คือ

เผด็จการที่ประณาม

คนอื่นเป็นเผด็จการ

คือเผ่าของอันธพาล

เผด็จการตัวแท้จริง

โสเครติส นักปราชญ์ประกาศไว้

ว่าประชาธิปไตย ต้องศึกษา

หนึ่ง ประชาธิปไตย ใช้ปัญญา

สอง ประชาธิปไตย ใช้สิทธิ์ตน

เหมือนเรือแล่นอยู่กลางพายุกล้า

จะต้องนำเรือฝ่าพายุฝน

ผู้รู้จริงเท่านั้น จักบันดล

เป็นผู้นำเรือด้น พ้นด่านภัย

การเลือกตัวผู้รู้ ผู้นำเรือ

มิใช่เลือกเพียงเพื่อเอื้อสิทธิ์ให้

ผู้เลือกต้องรู้เห็นความเป็นไป

ต้องศึกษาและต้องใช้ ปัญญาญาณ

นักเลือกตั้งหวังเพียงได้เสียงมาก

จึงสร้างฉาก จัดฉาก ฝากโวหาร

ชาวบ้านเรา คือคนผู้ทนทาน

ต้องรู้เท่าทันการณ์ ร่วมสานพลัง

ใช้ปัญญา เลือกตั้ง ไม่พลั้งผิด

อย่าใช้เพียง แค่สิทธิ์ คิดเลือกตั้ง

ชาติจะภูมิ เพราะประชาปัญญายัง

ชาติจะพังเพราะเพียงคิด แค่สิทธิ์ตน !