วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ด้วยสำนึกในหน้าที่ จาก 8 + 4 = 12

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

ด้วยสำนึกในหน้าที่ จาก 8 + 4 = 12

 

เมื่อเปลี่ยนบรรณาธิการ เจ้าของ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จากนายแสงไทย เค้าภูไทย เป็นนางสาวสุภาณี สุวณิชชาติ หัวหนังสือพิมพ์มติชนฉบับประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 จึงตัดคำว่า “เข็มทิศ” ออก แล้วใส่แคปซูลไม่เต็มกรอบรอบมติชนเว้นไว้ในส่วนของ “สระอิ” เป็นรูปแบบสัญลักษณ์ (Logo) ใหม่ผิดไปจากเดิมเล็กน้อย

หัวหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” มาจากหัวหนังสือหนังสือพิมพ์ “ร้านค้า” ซึ่งสุภาณี สุวณิชชาติ นิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้สื่อข่าวด้านธุรกิจการค้ามาก่อน เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา เคยร่วมศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับรัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ และบัณฑิตคณะนี้อีกหลายคนที่มาร่วมงานในหนังสือพิมพ์มติชน อนุญาตให้ใช้หัวหนังสือพิมพ์ “ร้านค้า” เป็นหัวหนังสือพิมพ์ “มติชน” ได้

ทั้งนี้ แม้การออกหนังสือพิมพ์คือส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆ แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 บัญญัติให้การออกหนังสือพิมพ์ต้องขออนุญาตหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล กองการหนังสือพิมพ์ ตามกฎหมาย

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดือนกันยายน 2500 จึงสั่งถอนการอนุญาตหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ต่อมามีการจับกุมบรรณาธิการและนักหนังสือพิมพ์หลายคน ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่มีออกมาใหม่ตั้งแต่นั้น

กระทั่งการปฏิวัติเมื่อเดือนตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ถูกปิดทุกฉบับ และที่สุด “ปิดตาย” 13 ฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติจึงต้องพยายามหาหัวหนังสือพิมพ์ออกใหม่เพื่อดำเนินการจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันต่อไปจากแนวทางความคิดของขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งยึดถืออาชีพหนังสือพิมพ์เป็นสัมมาชีพตามที่ตั้งปณิธานไว้

 

เมื่อมีการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 2520 ขรรค์ชัย บุนปาน และคณะซึ่งออกหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ “เข็มทิศ” มาได้พักหนึ่ง มีโอกาสเข้าพบกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อขออนุญาตออกหนังสือพิมพ์รายวัน โดยไม่ใช้ชื่อ “รวมประชาชาติ” ให้เป็นที่ขัดเคืองใจกัน

การออกหนังสือพิมพ์มติชนรายวันจึงเกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้ว

ระหว่างหนังสือพิมพ์มติชนรายวันในชื่อ “เข็มทิศมติชน” พิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 8 หน้ามาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า เมื่อได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนพิมพ์ขึ้นทุกวัน รวมถึงมีแจ้งความโฆษณาจากบริษัทห้างร้าน ผู้มีอุปการคุณมากขึ้น ทำให้บางวันปริมาณข่าวและบทความ สารคดี คอลัมน์ต้องถูดเบียดบังพื้นที่

ผู้ดำเนินการในกองบรรณาธิการกับผู้บริหาร รวมทั้งฝ่ายโฆษณา ฝ่ายจัดจำหน่ายจึงประชุมร่วมกันแทบทุกวันว่าจำเป็นต้องเพิ่มหน้าหนังสือพิมพ์จาก 8 หน้า เป็น 12 หน้า เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่จำน่ายในราคา 1.50 บาทด้วยกัน

ดังปรากฏในการชี้แจงฉบับพิเศษ เรื่อง “หกสลึง ราคามาตรฐานหนังสือพิมพ์รายวัน” ที่ปิดท้ายว่า

“จะอย่างไรก็ตาม เรา ‘มติชน’ ด้วยสำนึกในหน้าที่หนังสือพิมพ์ซึ่งจะทำความจริงให้ปรากฏ จะไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ ตราบเมื่อเราสามารถเลี้ยงตัวได้ด้วยจำนวนจำหน่ายและโฆษณาที่มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นระยะเวลาอันสั้นที่มองเห็นได้ เราจะเพิ่มหน้าเป็น 12 หน้า…”

 

เมื่อฝ่ายโฆษณา ประกอบด้วย เดชา ไกรศิริเดชา ปริญญาตรีทางบริหารธุรกิจจากอินเดีย กับพิเชษฐ์ วงศ์เกียรติขจร ประกาศนียบัตรทางบัญชี เคยผ่านงานบริหารโฆษณาจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ร่วมกับประพันธ์ จึงพัฒนาพงษ์ พาณิชยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทการตลาดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านงานเจ้าหน้าที่แผนกวิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่ธุรการการเงิน หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แจ้งรายการสั่งจองโฆษณาล่วงหน้าเข้ามาตลอดเดือนมีนาคม และยังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายโฆษณาอีกหลายคนที่แจ้งการขายเข้ามา

ทั้งนี้ มีไชยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ไพบูลย์ สำราญภูติ เป็นที่ปรึกษาการตลาด

ร่วมกับแนวทางการจัดจำหน่ายจากยงยุทธ สฤษดิวานิช ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่าย รายงานยอดหนังสือพิมพ์มติชนเพิ่มเข้ามาทุกวัน ทั้งฝ่ายบัญชี มี สีนวน วิริยานนท์ ปริญญาตรีธุรกิจทางบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง อรัญณี ได้สกุลชู เศรษฐศาสตรบัณฑิต (บัญชี) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาลี รวิบรรเจิดกุล ประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยพณิชยการพระนคร เป็นผู้ร่วมงาน รายงานรายรับเพิ่มจากรายจ่ายทุกวัน

ขรรค์ชัย บุนปาน กับพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมกับบรรณาธิการข่าวทุกฝ่าย และบรรณาธิกรข่าว ประกอบด้วย ไพโรจน์ ปรีชา หัวหน้าบรรณาธิกรข่าว สุวิทย์ มณีนพรัตน์ ประสาทพร ภูสุศิลปธร โอภาส เพ็งเจริญ พิจารณ์ ตังคไพศาล (การ์ตูนนิสต์) บุญนิเวศน์ สิทธิหาญ จากวารสารศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนช่างศิลป

ร่วมกันรองรับงานเพิ่มอีก 4 หน้า ว่าจะธำรงรูปแบบมติชนไว้ได้อย่างไร

 

ส่วนงานสำคัญอีกงานหนึ่งคืองานการพิมพ์ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ไม่สามารถรองรับงานการพิมพ์ที่จำนวนหน้าและจำนวนพิมพ์ที่เพิ่มได้มากขนาดนั้น ขรรค์ชัย บุนปาน จึงต้องหาโรงพิมพ์ที่สามารถรองรับจำนวนพิมพ์และจำนวนหน้าที่เพิ่มขึ้นได้เหมือนครั้งที่พิมพ์ “รวมประชาชาติ”

โรงพิมพ์ที่เคยพิมพ์ “รวมประชาชาติ” ตลาดบ้านพานถม ที่พอมีเวลาและเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัย รองรับทั้งปริมาณหน้าและจำนวนพิมพ์ รวมถึงเวลาการผลิตให้ทันวางแผงหนังสือตั้งแต่กลางดึกถึงเช้ามืดได้

จากต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2521 เป็นต้นมา กว่าทุกอย่างจะลงตัว และรอกำหนดเริ่มดำเนินการได้ ก็ล่วงเลยกลางเดือนไปแล้ว

ฝ่ายที่ต้องดำเนินการให้ทันกับการเพิ่มหน้าตามเวลากำหนด คือเนื้อหาสาระ หน้าข่าวและจำนวนข่าว ตามมาด้วยจำนวนผู้สื่อข่าว พนักงานหาแจ้งความและโฆษณา เพื่อรองรับการเพิ่มหน้าซึ่งประกาศในมติชนฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521 ด้านล่างซ้าย หน้า 6 ขนาด พื้นดำ ตัวหนังสือขาว ขนาด 1 ใน 4 หน้า ความว่า

8 + 4 = 12 อีกก้าวหนึ่ง ตามสัญญา “มติชน” 12 หน้า 7 มีนาคม เป็นต้นไป