กราบอาลัย พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์

ปีพ.ศ.2511 ผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เป็น Junior ของคณะบัญชี จุฬาฯ และเป็นสาราณียกรหนังสือพาณิชย์-บัญชี หนังสือรับน้องใหม่ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ.นั้นคาบเกี่ยวถึงปี พ.ศ.2512 ผมเอาหนังสือของคณะบัญชี จุฬาฯ บางเล่มไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ “อักษรไทย” ละแวกถนนเฟื่องนคร โรงพิมพ์นี้เจ้าของชื่อ “เฮียจ๋าย” หรือคุณณัฐ ปวินวิวัฒน์ เฮียจ๋ายตั้งโรงพิมพ์เพื่อเข้าหุ้นออกหนังสือรายสัปดาห์ชื่อ “ฟ้าเมืองไทย” กับพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฟ้าเมืองไทยฉบับแรกวางตลาด 6 เมษายน 2512

ปี พ.ศ.2512 ผมไปตรวจปรู๊ฟหนังสือที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรไทย แล้ว “แหงนมอง” พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในห้องบรรณาธิการ “ฟ้าเมืองไทย”

ปี พ.ศ.นั้น ชื่อพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ และหนังสือ “ฟ้าเมืองไทย” โด่งดัง ยิ่งใหญ่ทั่วฟ้าเมืองไทย

ปี พ.ศ.2511 และก่อนหน้านั้น ตราบจนทุกวันนี้ พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็น Idol นักเขียนในดวงใจผม

ปีพ.ศ.2513 ผมเรียนที่บัญชี จุฬาฯ เป็นปีที่ห้า เพราะสอบตกเป็น Repeater ต้องเรียนซ้ำชั้นตอนอยู่ปีสาม มัวแต่ทำหนังสือและไปตรวจปรู๊ฟที่โรงพิมพ์ ไม่ค่อยเข้าห้องเรียนจนสอบตกซ้ำชั้น

ปี พ.ศ.นั้น ผมส่งเรื่องสั้นชื่อ “ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด๊อท” เข้าประกวดชิงรางวัลเกียรตินิยมประเภทเรื่องสั้นของชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จ.ม.)

“ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด๊อท” เล่าถึงชีวิตไต๋เรืออวนลากไทยที่โดนจับที่เวียดนาม แล้วมีความรักกับสาวเวียดนาม แต่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะสงครามเวียดนาม นำเสนอในลีลาการเขียนเรื่องสั้นที่แปลกใหม่ ผิดไปจากสไตล์การเขียนเรื่องสั้นทั่วไป

ปี พ.ศ.นั้น ชมรมวรรณศิลป์ ส.จ.ม. เชิญนักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการตัดสินการประกวดเรื่องสั้น ประกอบด้วย อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เสถียร จันทิมาธร และอาจินต์ ปัญจพรรค์

“ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด๊อท” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นเกียรตินิยมจากชมรมวรรณศิลป์ ส.จ.ม. โดยได้รับคะแนนเต็มจากอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง และเสถียร จันทิมาธร (เสถียร จันทิมาธร ได้มอบคำวิจารณ์ให้ด้วยเมื่อตีพิมพ์)

เสถียร จันทิมาธร ขึ้นต้นคำวิจารณ์ว่า “ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด็อท” เริ่มต้นด้วยกลิ่นอายของทะเล เหมือนเรื่อง The Old Man And The Sea ของเฮมมิ่งเวย์___

แต่เรื่องนี้ได้ 0 คะแนน จากอาจินต์ ปัญจพรรค์

ปีพ.ศ.2514 พี่วิลาศ มณีวัตร นักเขียนรุ่นพี่บัญชี จุฬาฯ นำเรื่องสั้น “ฟ้าเปลี่ยนสีที่ซองด๊อท” ไปพิมพ์รวมเล่มร่วมกับนักเขียนชื่อดังแห่งยุคนั้นให้สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา วังบูรพา

ปี พ.ศ.นั้น พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ บอกกับผมว่า

“ผมให้คะแนนเรื่องสั้นที่คุณเขียนไม่ได้ เพราะสิ่งที่คุณเขียนไม่ใช่เรื่องสั้น”

นั่นคือ พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนผู้แน่วแน่ ยึดมั่นในหลักการและกติกาของการเขียนเรื่องสั้น ที่พี่อาจินต์บอกว่าจะต้องเขียนหักมุมในสไตล์ของกีย์ เดอ โมปัสซังต์ (Guy de Maupassant)

ปี พ.ศ.2509-2511 ผมอยู่ในสตาฟฟ์สาราณียกรทั้งของพาณิชย์-บัญชี จุฬาฯ และหนังสือ 23 ตุลาคม ของ ส.จ.ม. โดยเฉพาะปี 2511 ที่สาราณียกร ส.จ.ม.ชื่อ แน่งน้อย พงษ์สามารถ รุ่นพี่บัญชี จุฬาฯ

เมื่อเรียนจบกันแล้ว พี่แน่งน้อยตั้งสำนักพิมพ์ “เฟื่องฟ้า” ผมถือหุ้นด้วย หนึ่งในสิ่งพิมพ์จากสำนักพิมพ์นี้ คือพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กรวมเรื่องสั้นชุดทะเลของผม ในหนังสือชื่อ “ทะเล”

ปี พ.ศ.2520 พี่แน่งน้อยแต่งงาน มาใช้ชีวิตคู่กับพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผมจึงมีความคุ้นเคย สนิทสนมกับพี่อาจินต์มากยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ.2530 ก่อนหน้านั้นและต่อเนื่องมาอีกนานหลายปี ผมเขียนสารคดีท่องเที่ยวให้ทั้ง “ฟ้าเมืองไทย” และ “ฟ้าเมืองทอง”

มีภาพถ่ายใบไม้เปลี่ยนสีที่ญี่ปุ่นของผมขึ้นปกหนังสือ

“ฟ้า” ฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือที่พี่อาจินต์ออกหลังจาก “ฟ้าเมืองไทย” ปิดไป

ปี พ.ศ.นั้น วันที่ 22 สิงหาคม 2530 ผมใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ พญ.แพรวพรรณ นุชภักดี ที่กำลังโด่งดังในนามปากกา “หมอนุช” ในเรื่องสั้นชุด “หมอไทยในอเมริกา” ลงในหนังสือ “ฟ้าเมืองไทย”

ปี พ.ศ.2530 วันที่ 22 สิงหาคม ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสของผมและคนข้างกาย พญ.แพรวพรรณ ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ คือแขกผู้ใหญ่คนเดียวที่เราเชิญเป็นตัวแทนกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว

พี่อาจินต์กล่าวถึงงานเขียนของเราทั้งสองในหนังสือฟ้าเมืองไทย บอกว่า เรื่องของ “หมอนุช” ควรได้รางวัลซีไรต์ (แต่คณะกรรมการไม่ให้ บอกว่าไม่ใช่เรื่องสั้น ควรเป็นสารคดีมากกว่า)

พี่อาจินต์กล่าวอวยพรอย่างมีอารมณ์ขัน เรียกเสียงเฮฮาจากแขกในงาน ท้ายสุดอวยพรให้อยู่ด้วยกันถึง

“ถือไม้เท้ายอดทอง ถือกระบองยอดเพชร”

จากปี พ.ศ.2530 ก่อนหน้านั้นและทุกปีต่อเนื่อง ถ้าผมอยู่เมืองไทย ผมจะไปรดน้ำอวยพรวันสงกรานต์พี่อาจินต์และนำลิ้นจี่แม่กลองไปฝาก

พี่อาจินต์ได้เขียนถึงวันสงกรานต์และลิ้นจี่แม่กลองจากผมลงในคอลัมน์ “วาบความคิด” ในมติชนสุดสัปดาห์

ในปี พ.ศ.ไหนๆ ถ้าผมกลับมาจากอเมริกา ผมจะมากราบพี่อาจินต์และแวะเยี่ยมพี่น้อยเสมอ ทั้งที่บ้านสุทธิสารและที่บ้านเมืองกาญจน์ บางครั้งผมมาคนเดียว บางครั้งผมมากับคนข้างกาย

พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ คือ “บรมครู” ผู้สร้างนักเขียนมากมายประดับไว้ใต้ “ฟ้าเมืองไทย”

ปี พ.ศ.2561 วันที่ 22 เดือนพฤศจิกายน ผมมาจากอเมริกา ทันมากราบพี่อาจินต์เป็นคนสุดท้ายของงานตอนพระเลิกสวดแล้ว

วันรุ่งขึ้น ผมมาร่วมพิธีบรรจุศพพี่อาจินต์

วันที่ 9 มีนาคม 2562 จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรวิหาร

กราบอาลัยพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนผู้เป็น Idol ในดวงใจผมตลอดกาล