สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปรับ-พัฒนาข้ามข้อจำกัดของครูไอที

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวที PMCA Classrooms Connected ภาคบ่าย เช้าวันแรก เป็นคิวของเฮอร์วิน ฮามิด ครูวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาเพื่อนครู จนได้รับยกย่องว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรหัวข้อต่างๆ หลายต่อหลายเวที โดยฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากได้รับรางวัลระดับชาติและรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

นอกจากเป็นครู ยังเป็นแชมป์กีตาร์แห่งเคนดารี เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุราเวสีของอินโดนีเซีย ครูพูดย้ำอยู่เสมอ “ผมไม่มีกีตาร์ที่ดีที่สุด แต่ผมสามารถเป็นแชมป์ได้”

ความคิดนี้นำมาปรับกับปรัชญาการเรียนรู้ ภายใต้ความขาดแคลน เขาสามารถพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ทางออนไลน์เพื่อสอนวิทยาศาสตร์ ให้บทเรียนกับนักเรียนที่มีความจำกัดในเรื่องคอมพิวเตอร์ได้

ครูเฮอร์วินได้รับมอบหมายให้บรรยายหัวข้อแบ่งปันประสบการณ์ดีเด่นในการใช้ไอทีเพื่อการสอนวิทยาศาสตร์

 

เปิดฉากแรกด้วยภาพหลักขึ้นหน้าจอ ICT in STEM Education ติดตามด้วยบรรยายการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กับการเรียนการสอน ได้แก่ Interactive Learning Multimedia (อาทิ Animation, Interactive Simulation, Video Simulation), Education Games, Augmented Reality Apps, Virtual Reality Apps, Computer Science (STEM-C)

ประโยชน์ของการใช้ไอซีทีในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การใช้ไอซีทีในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับสิ่งรอบตัว (Scientific Literacy) ไอซีทีเป็นสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self learning media) ไอซีทีช่วยให้นักเรียนได้ทำการทดลองเสมือนจริง (Virtual Laboratory) ไอซีทีช่วยให้นักเรียนจินตนาการและเข้าใจแนวคิดในเชิงนามธรรม (abstract concept) ไอซีทีจะสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อกระตุ้นความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน และไอซีทีจะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่และน่าสนใจ

ตัวอย่าง การเรียนรู้หัวข้อเรื่องระบบสุริยจักรวาล โดยปฏิบัติทีละขั้นตอน (Problem Based Learning) 5 ขั้นตอน เริ่มด้วยการหาปัญหา การสร้างบรรยากาศให้เด็กพร้อมกับการเรียนรู้ แนะนำเด็กเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มทำงานร่วมกันทดลองวิจัย พัฒนาและนำเสนอโครงงาน วิเคราะห์และประเมินผลโครงการ กระบวนการนำไปสู่การแก้ปัญหา

คำบรรยายด้วยน้ำเสียงและท่าทีเป็นกันเอง ยั่วล้อเป็นระยะตามบุคลิกครูอารมณ์ขัน พร้อมภาพฉายขึ้นจอทีละภาพ สะกดความสนใจของครูและผู้บริหารทั้งห้องติดตามอย่างต่อเนื่องจนจบ

 

ส่งไมค์ต่อให้ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนแรกของไทย เมื่อปี 2558

ครูได้รับการยกย่องว่าเป็นครูผู้สร้างคนด้วยการคิด ผู้ปั้นดินให้เป็นดาว รับมอบหมายการบรรยายหัวข้อ “แบ่งปันประสบการณ์ดีเด่นในโครงงานสะเต็มศึกษา”

ไม่ผิดหวังจริงๆ ครับ ผมฟังแล้วอยากให้เพื่อนครู ผู้บริหารมีโอกาสได้ฟังตัวจริงเสียงจริงมากๆ เลย ทำอย่างไรถึงจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระ ลีลา บรรยากาศ ที่ครูนักวิทยาศาสตร์แต่สื่อสารได้ดี เข้าใจง่าย มองเห็นภาพ ให้ผู้สนใจการศึกษาโดยเฉพาะวิชาการทำโครงงานได้ฟังให้มากที่สุด

เริ่มด้วยการแนะนำตัวเองให้ทุกคนเกิดความคุ้นเคย รู้ที่มาของครู บรรจุตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งเกษียณปี 2561

ครูเน้นการสอนให้เด็กคิดและลงมือปฏิบัติ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ ด้วยตนเอง คำถามประเด็นหลักที่คิดตั้งแรกๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตความเป็นครู คือ จะสอนให้เด็กคิดได้อย่างไร

 

ครูเล่าให้ผมฟังก่อนขึ้นเวทีว่า หลายปีก่อน สอนเด็กคนหนึ่งชื่อนายประกาศิต ล่องโรจน์ ชื่อเล่นว่านายโอม ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ม.1 ม.2 กิตติศัพท์ร่ำลือมาก เกเร มีเรื่องทะเลาวิวาทชกต่อยกับเพื่อนเป็นประจำ มาเรียนกับครูตอนอยู่ ม.ปลาย ให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ทำสิ่งประดิษฐ์ ปรากฏว่ากลับทำได้ดี สามารถคิดประดิษฐ์เครื่องหว่านฝ้าย เครื่องถอนต้นกล้ายางพารา เครื่องดูดเก็บน้ำยางพารา จนใช้การได้

หลังจบ ม.ปลาย นายโอมไปยื่นใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีแรกคณบดีจะไม่รับเพราะเกรดไม่ถึง แกก็เลยบอกว่า อาจารย์ช่วยดูแฟ้มสะสมงานของผมก่อนด้วยนะครับ

คณบดีดูแฟ้มประวัติสะสมงานโดยละเอียดแล้ว ในที่สุดตัดสินใจรับนายโอมเข้าเรียน เข้าได้แล้วเขาก็เรียนได้ ตอนนี้จบปริญญาแล้ว

 

นอกจากเด็กชายนายโอมแล้ว ลูกศิษย์ของครูเด็กวิทยาศาสตร์โรงเรียนสุราษฎร์พิทยาต่อมาหลายรายหลายรุ่นก้าวถึงดวงดาวระดับหนึ่งแล้ว

จากผลงานส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวดตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ จนถึงระดับโลก ปี 2011 โครงงานของนักเรียน 3 คน ชื่อผลงาน “พลาสติกจากเกล็ดปลา” ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับชาติ โครงการ YSC YOUNG Scientist Competition จาก 2 องค์กรคือ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กับ Nectec ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center) ก่อนไปแข่งระดับโลกในงาน Intel ISEp (International Science and Engineering Fair) ได้รับรางวัล Intel young scientist award

ผลจากรางวัลดังกล่าว องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐหรือนาซ่า ขออนุญาตเอาชื่อเด็กนักเรียน 3 คนคือ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ น.ส.ธัญพิชชา พงษ์ชัยไพบูลย์ และ น.ส.อารดา สังขนิตย์ ไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย

เป็นการให้เกียรติ เป็นเกียรติประวัติแก่เจ้าของผลงานและชื่อเสียงของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีเรื่องราวดีๆ ทำนองนี้เมื่อครั้งที่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ไทยปัจจุบันเป็นผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส

มีผลงานเป็นที่ยอมรับของนาซ่าจนโด่งดังไปทั่วโลกและประเทศไทยมาแล้ว

 

ครับ เวที PMCA Classrooms Connected ไม่ได้มีแต่สาระ วิชาการ เทคโนโลยี การปฏิบัติการในห้องประชุมเท่านั้น แต่มีเรื่องเล่าดีๆ ทำนองนี้ให้ได้รับรู้ เรียนรู้ และชื่นใจไปพร้อมกัน

เรื่องราวของครูเฉลิมพร และเทคนิคการพัฒนาไอทีแก่ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ยังมีต่อ น่าติดตามทีเดียว