บทวิเคราะห์ : “อินเตอร์เน็ตอีโคโนมี” กับอาเซียน “ฟินเทค” แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่บนภูมิภาค

เซาธ์อีสต์เอเชีย โกลบ นำเสนอรายงานว่าด้วยตลาดของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ฟินเทค” ในภูมิภาคอาเซียนเอาไว้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าตลาดฟินเทคในอาเซียนกำลังเติบใหญ่ขยายตัวอย่างสูงและรวดเร็วมากแล้ว ยังรวบรวมข้อมูลและสถิติหลากหลายมาแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งใน 5 ชาติที่เป็นหัวใจของฟินเทคในอาเซียน ควบคู่ไปกับประเทศอย่าง สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามอีกด้วย

เมื่อเทียบกับทุกภูมิภาคแล้ว ตลาดฟินเทคในอาเซียน ถือเป็นฟินเทคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

จนคาดว่ามูลค่ารวมจะบรรลุสู่ระดับ 70,000 ล้านถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้

ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา เงินลงทุนรวมในภูมิภาคเพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมมูลค่าเป็นเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

การขยายตัวของฟินเทคในอาเซียนส่งผลให้เศรษฐกิจบนอินเตอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวรวดเดียว 44 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับระดับของปี 2017

 

เศรษฐกิจของอาเซียนดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผลการสำรวจของ “อีวาย อาเซียน มาร์เก็ตส์” แสดงให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของเงินลงทุนเหล่านั้น เป็นเงินลงทุนในตลาดฟินเทคที่กำลังขยายตัวทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ เจ้าของกิจการแพลตฟอร์มฟินเทคหลายรายตั้งเป้าการเติบโตไว้แบบทวีคูณ

โดย 87 เปอร์เซ็นต์ของกิจการฟินเทคที่สำรวจเมื่อปี 2018 ระบุว่าบริษัทของตนมีแผนที่จะขยายตลาดออกไปนอกเหนือจากปริมณฑลที่ดำเนินกิจการอยู่ภายใน 12 เดือนข้างหน้า

อีกมากถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเป้าจะขยายตัวออกไปแข่งขันกับรายอื่นๆ ในระดับนานาชาติ หลายรายถึงกับจับตามองไปที่ตลาดมูลค่าสูงอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และจีนด้วยซ้ำไป

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายสมาร์ตโฟนในภูมิภาคอาเซียน เป็นเพราะในภูมิภาคนี้มีประชากรในวัยผู้ใหญ่มากถึง 3 ใน 4 ส่วนของประชากรวัยเดียวกันทั้งหมด ที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือเข้าถึงบริการธนาคารอย่างที่ศัพท์ในวงการเรียกว่าเป็นกลุ่ม “อันแบงก์” เมื่อการซื้อขายพัฒนาไปเป็นอีคอมเมิร์ซ คนเหล่านี้ก็จำเป็นอยู่ดีที่ต้องการแพลตฟอร์มอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับการชำระเงินอัตโนมัติออนไลน์ดังกล่าว และทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคหนึ่งซึ่งยินดีรับผลิตภัณฑ์ฟินเทคทั้งหลายอย่างเต็มใจสูงสุด

82 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอาเซียนเปิดกว้างรับแนวความคิดด้านนี้ สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับ 77 เปอร์เซ็นต์ในภาคพื้นอเมริกาเหนือ และ 76 เปอร์เซ็นต์ในภาคพื้นยุโรป

ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์และเวียดนาม คือตลาดฟินเทคระดับหัวแถวของอาเซียน ตลาดเหล่านี้มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มากน้อยแตกต่างกันออกไปอย่างน่าสนใจยิ่ง

 

สิงคโปร์เป็นหัวแถวของตลาดฟินเทคในอาเซียน ถึงขนาดที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของฟินเทค ดีลทั้งหมดในอาเซียนในช่วงระหว่างปี 2013-2016 เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ นอกจากนั้นตลาดฟินเทคสิงคโปร์ยังมีความหลากหลายสูงสุดในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เพราะมีตั้งแต่แพลตฟอร์มชำระเงินแบบพีทูพี, การให้บริการโอนเงิน, บริการกู้เงิน, แอพพลิเคชั่นเพื่อการลงทุน, แอพพ์ประกันภัย, การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ เรื่อยไปจนถึงแพลตฟอร์มสำหรับคราวด์ฟันดิ้ง

อินโดนีเซียมีจุดอ่อนในแง่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรที่อยู่ในสัดส่วนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีศักยภาพสูงในแง่ของการขยายตัวในอนาคต เพราะประชากรอินโดนีเซียเพียง 49 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นมีบัญชีธนาคาร และประชากรออนไลน์มากถึง 150 ล้านคนที่พร้อมรองรับตลาด โดยที่ 61 เปอร์เซ็นต์ใช้บริการแอพพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์อยู่แล้วในขณะนี้

ฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดที่โตเร็วมากที่สุด จาก 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเมื่อปี 2017 คาดว่าจะสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ได้ภายในปี 2020 นี้เท่านั้น ในทำนองเดียวกับที่เวียดนาม ซึ่งทางการกำหนดเส้นตายเปลี่ยนสังคมให้กลายเป็น “แคชเลส โซไซตี้” ภายในปี 2020 นี้

สุดท้ายคือไทย ซึ่งมีจุดแข็งตรงที่ประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ตถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และ 74 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดใช้บริการออนไลน์แบงกิ้งทุกเดือน อีก 47 เปอร์เซ็นต์ชำระเงินผ่านโมบายล์เพย์เมนต์ และ 71 เปอร์เซ็นต์ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน

ปัญหาคือการขยายตัว เพราะในเวลาเดียวกันคนไทย 82 เปอร์เซ็นต์มีบัญชีธนาคารอย่างน้อย 1 บัญชี ดังนั้น จึงไม่ค่อยเหมาะกับเพย์เมนต์แพลตฟอร์มนัก

แต่กลับมีจุดแข็งในแง่ของคริปโตเคอร์เรนซี่ เพราะมีผู้เป็นเจ้าของคริปโตอยู่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแอฟริกาใต้

แถมทางการไทยยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาคริปโตคอยน์ในประเทศขึ้นพร้อมกับแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนอีกด้วย