โค้งสุดท้ายรัฐบาล “บิ๊กตู่” เทหมดหน้าตัก-อัดแพ็กเกจไม่ยั้ง หวังแค่เห็นเศรษกิจโต 4-5%

ก้าวสู่เดือนสุดท้ายของปี 2559 แนวโน้มเศรษฐกิจดูท่าจะไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลวางเป้าหมายว่าปีนี้จะโต 3.2-3.3%

ดังนั้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มาตรการด้านเศรษฐกิจจึงถูกเข็นออกมาชุดใหญ่ เพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท

เริ่มด้วยโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (จำนำยุ้งฉาง) และจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว เอาใจชาวนา 4 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท

เริ่มจ่ายเงินไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน

ตามมาด้วยแจกเงินคนจน 8.3 ล้านคน วงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท คาดว่าจ่ายเงินหมดภายในเดือนธันวาคมนี้

มาตรการภาษี มีทั้งเรื่องสนับสนุนการท่องเที่ยว นำค่าใช้จ่ายและค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรมที่เกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม มายื่นลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อรวมมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวอีก 15,000 บาทสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2559

ทำให้ปีนี้มนุษย์เงินเดือนสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 30,000 บาท

 

นอกจากนี้ ยังนำมาตรการช็อปช่วยชาติกลับมาผัดฝุ่นใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษี 15,000 บาท เพิ่มเวลาการใช้จ่ายถึง 15 วันก่อนสิ้นปี จากปี 2558 ที่ให้เวลาเพียง 7 วัน ซึ่งการนำกลับมาใช้ใหม่เนื่องจากปีที่ผ่านมาตรการนี้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้คึกคักพอสมควร แถมยังดึงให้ห้างร้านเข้ามาในระบบภาษี มีข้อกำหนดต้องเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจึงนำมายื่นลดหย่อนได้

ทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวและช็อปช่วยชาติ คาดว่าจะกระตุ้นให้คนที่มีเงินแต่ไม่ยอมควักออกมาใช้ กล้าใช้เงินช่วงปลายปี ทำให้เกิดเงินสะพัดช่วงเดือนธันวาคมจากการท่องเที่ยว และช็อปปิ้ง หลายหมื่นล้านบาท

เพื่อให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลประกาศทุ่มงบประมาณกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้กลุ่มจังหวัดเร่งสรุปโครงการภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นสรุปงบประมาณเสนอต่อ ครม. ช่วงเดือนมกราคม 2560

คาดว่างบฯ ก้อนนี้จะเริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดสรรงบฯ 1 แสนล้านบาทให้กลุ่มจังหวัด เป็นการเติมเต็มช่องว่างของการจัดสรรงบประมาณ ในอดีตการจัดสรรงบฯ เน้นส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รัฐบาลชุดนี้มองว่าควรให้เงินลงไปสู่กลุ่มจังหวัดบ้าง เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง เพราะเป็นโมเดลธุรกิจของจีนที่ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนการเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นในรูปแบบนี้ ทำให้เศรษฐกิจจีนโตอย่างก้าวกระโดด

นายสมคิด ยังระบุอีกว่า โครงการที่จะใช้งบฯ 1 แสนล้านบาทต้องผ่านการพิจารณาทั้งจากส่วนราชการ ประชาชน และเอกชนในท้องที่ ในลักษณะของประชารัฐ ซึ่งประชารัฐถือเป็นพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ในระยะต่อไป

แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าประชารัฐยังอยู่ การเดินหน้าโครงการที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ สังคม จะก้าวต่อไปได้ ขอเรียกแนวทางลักษณะนี้ว่า ประชารัฐสร้างไทย เพราะที่ผ่านมาไทยเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว จนทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมและการเมืองตามมา รัฐบาลชุดนี้จึงมานำแนวทางประชารัฐเข้ามาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดทำงบฯ เพิ่มเติมกลางปี 1 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ไปใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถจัดสรรได้กลุ่มละ 5-6 พันล้านบาท จากเดิมกลุ่มจังหวัดได้รับงบฯ เพียง 300-400 ล้านบาท โดยมีข้อแม้การใช้งบประมาณต้องก่อหนี้ผูกพันงบฯ ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2560 ส่วนในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคม 2560 นั้นได้เตรียมเพิ่มงบประจำปีของกลุ่มจังหวัดเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมได้รับการจัดสรรเพียง 2 หมื่นล้านบาท

“คาดว่างบฯ นี้จะหมุนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ ช่วยทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเรียกว่าจั๊มพ์สตาร์ต (Jump Start) เพราะเงินก้อนใหญ่ที่ลงไปทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ ผลักดันให้เอกชนลงทุนตาม”

พร้อมกันนี้ นายอภิศักดิ์ ได้สั่งให้ข้าราชการกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการด้านเศรษฐกิจในปี 2560 ให้มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เน้นช่วยเหลือกลุ่มที่ยังเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ช่วงต้นปี เพื่อรัฐจะออกมาตการช่วยอย่างตรงจุด

 

รัฐบาลเคยโยนบาปไปให้เอกชนหลายครั้งว่าเศรษฐกิจไทยโตได้เพียงกว่า 3% เป็นเพราะเอกชนไม่ยอมลงทุน ที่ผ่านมารัฐมีมาตรการจูงใจเอกชนหลายมาตรการ แต่เอกชนยั่งนิ่งเฉย ทำให้นายอภิศักดิ์ ต้องใช้ไม้แข็งกับรัฐวิสาหกิจแทน

โดยสั่งการให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่งเร่งรัดการลงทุนในปี 2560 วงเงินลงทุนรวมกว่า 6 แสนล้านบาท กำหนดเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 95% และห้ามลดเป้าหมายลงเด็ดขาด หากรัฐวิสาหกิจไหนลงทุนไม่ได้ตามแผน จะมีผลต่อการประเมินรัฐวิสาหกิจ และมีผลต่อการพิจารณาผลงานบอร์ด

นับว่าวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวถือว่าสูงกว่าในปี 2559 เท่าตัว พร้อมกันนี้นายอภิศักดิ์ยังสั่งการให้รัฐวิสาหกิจที่เตรียมแผนลงทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เลื่อนลงทุนเร็วขึ้นโดยให้มาลงทุนในปี 2560 แทน ด้วยหวังว่าจะกระตุ้นเอกชนให้ลงทุนตาม

เพราะหากเอกชนลงทุนแล้วนายอภิศักดิ์เชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2560 โตได้กว่า 4% จากเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะโต 3.4%

เมื่อนำตัวเลขการลงทุนรัฐวิสาหกิจวางเป้าไว้ 6 แสนล้านบาท รวมงบฯ กลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาท จะเห็นมีเงินลงทุนเพิ่มเติมจากงบฯ ปกติ 7 แสนล้านบาท

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง หวังให้เอกชนลงทุนตามอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท รวมแล้วเงินลงทุนเพิ่มเติมจะสูงถึง 9 แสนล้านบาท ถ้าทำได้ตามที่วางไว้

นายสมชัยเชื่อว่า เศรษฐกิจในปี 2560 โตได้ถึง 4% แน่นอน ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดของศักยภาพเศรษฐกิจไทย

ถ้ารวมการลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม อีกหลายแสนล้านบาท มีลุ้นว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจโตได้ถึง 4.5% ถ้ามีแรงหนุนที่ดีจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกมีลุ้นจะได้เห็นเศรษฐกิจโต 5%

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยโตดีสุดแค่ 3% กว่าๆ ถือว่าต่ำกว่าระดับศัยภาพที่ควรจะโต 4-5% จึงเป็นที่มาของการอัดแพ็กเกจด้านเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ทีมเศรษฐกิจนำโดยนายสมคิด เข้ามาทำงาน แม้จะเป็นรัฐบาลจากรัฐประหาร และมีคำพูดติดปากคนในรัฐบาลเสมอว่า สิ่งที่ทำไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่มาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมานั้น มีทั้งแจกเงินให้ชาวนา แจกเงินคนจน ลดภาษีเอาใจคนชั้นกลาง หว่านเงินเข้าไปในระดับจังหวัด และหมู่บ้าน

…เรียกได้ว่ากล้ายิ่งกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง!!!!

ต้องติดตามว่าโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งปลายปี 2560 รัฐบาลรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะอัดแพ็กเกจด้านเศรษฐกิจออกมาอีกเท่าไหร่ เพื่อก้าวไปให้ถึงตัวเลขเศรษฐกิจ 4-5%