แฟ้มข่าวเศรษฐกิจ | ทีดีอาร์ไอผนึกสมาคมค้าน พ.ร.บ.ข้าว/ “หมอเสริฐ” ยอมจ่ายค่าปรับปั่นหุ้น / ฝุ่น PM 2.5 กระทบ ศก.1.45 หมื่นล้าน

หุ้นกลุ่มชินเหวี่ยงตามแรงการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะการซื้อขายหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวโยงทางการเมือง โดยเฉพาะหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับนายทักษิณ ชินวัตร อาทิ หุ้น ADVANC, SC, INTUCH และ THCOM ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมนี้ว่า หลังจากพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หุ้นกลุ่มชินทั้ง 4 ตัวก็ปรับขึ้นทันทีในสัดส่วนที่สูงกว่าหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และวันต่อมาหลังตลาดรับข่าวพระราชโองการ ร.10 สรุปความได้ว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ต้องอยู่เหนือการเมือง ดัชนีหุ้นปรับลดลง 13.68 จุด ปิดที่ 1,638 จุด ในกลุ่มนักลงทุนพบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,590.41 ล้านบาท และหุ้นกลุ่มชินทั้ง 4 ตัวปรับลดลงแรง โดย ADVANC ลดลง 7 บาท หรือ 3.72% ปิดที่ราคา 181.00 บาท สวนทางหุ้น DTAC ปรับขึ้น และหุ้น True ที่ราคาทรงตัว INTUCH ลดลง 2.75 บาท หรือ 4.82% ปิดที่ 54.25 บาท THCOM ลดลง 0.85 บาท หรือ 9.83% อยู่ที่ 7.80 บาท และ SC ลดลง 0.18 บาท หรือ 5.70% ปิดที่ 2.98 บาท

“หมอเสริฐ” ยอมจ่ายค่าปรับปั่นหุ้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และนางนฤมล ใจหนักแน่น ได้ยินยอมปฏิบัตตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยได้ทำการชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 499.45 ล้านบาทแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากกรณีตรวจพบการสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) ในช่วงระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 – 12 มกราคม 2559 โดยบุคคลทั้งสามได้ร่วมกันซื้อขายหุ้น BA ในลักษณะจับคู่ซื้อขายหุ้น BA ระหว่างกันเองในลักษณะอำพรางการซื้อขาย (ปั่นหุ้น) ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งผลให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น BA ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ถือเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 ต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และมาตรา 317/4 (1) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต.นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับดังกล่าว รวมถึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่วันที่กำหนดในหนังสือที่ ก.ล.ต.แจ้งหลังจากนี้ต่อไป เนื่องจาก ค.ม.พ.ได้ใช้มาตรการลงโทษดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ฝุ่น PM 2.5 กระทบ ศก.แล้ว 1.45 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนบางกลุ่ม จนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวจากค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สำคัญ คิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 14,500 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณประมาณ 65 วัน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561-กุมภาพันธ์ 2562 ได้แก่ ค่าเสียโอกาสจากประเด็นเรื่องสุขภาพ ต้องซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นในจำนวนเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับแผนหลีกเลี่ยงการเดินทางมาเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯ ชะลอแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วย นอกจากนี้ คนกรุงยังปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเผชิญฝุ่นละออง เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องฟอกอากาศ ปรับพฤติกรรมรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง กระทบถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง

จีนยก “ทุเรียน” ไม้มงคลราคาพุ่ง 5 เท่า

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทย ปี 2562 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีราคาใกล้เคียงกับที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้บริโภคหลักคือจีนและเวียดนามยังดีต่อเนื่อง ปี 2561 ส่งออก 518,882 ตัน เพิ่มขึ้น 3.05% จากปี 2560 มีปริมาณส่งออก 503,536 ล้านบาท มูลค่า 35,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.21% จากปี 2560 มูลค่า 24,846 ล้านบาท “ปีนี้ราคาจะใกล้เคียงกับปี 2561 คือ 78.16 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) และปีนี้ทุเรียนจะได้ราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิต 5 เท่า จากปี 2561 มีต้นทุน 15.10 บาท/ก.ก. ลดลง 5.12% จากปี 2560 ต้นทุนอยู่ที่ 15.93 บาท/ก.ก.” นายฉันทานนท์กล่าว และว่า เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูงถึง 41% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด เพื่อกระจายความเสี่ยงต้องหาตลาดใหม่ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบทุเรียนกรอบ ตะวันออกกลาง อินเดีย นิยมทุเรียนอบแห้ง (ฟรีซดราย) จึงจะเน้นส่งเสริมให้ชาวสวนทำการซื้อขายโดยตรงผ่านตลาดออนไลน์ พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้คงรักษาคุณภาพสินค้า และมีแพ็กเกจกิ้งสวยงามเพิ่มมูลค่าผลผลิต

ทีดีอาร์ไอผนึกสมาคมค้าน พ.ร.บ.ข้าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ทีดีอาร์ไอจัดสัมมนาระดมสมอง หัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” โดยร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญบัญแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 และอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ซึ่งเชิญผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวภายใน 30 วันก่อนเสนอ สนช.พิจารณาในวาระ 2-3 เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ ตัวแทนฝ่ายภาคประชาชนคือสมาคมต่างๆ เห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเห็นควรให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพราะมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างภาระต่อเกษตรกรชาวนาตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจข้าว อีกทั้งยังทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินมหาศาล และสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตอีกด้วย

“มาตราที่จะเป็นผลเสียต่อชาวนา การพัฒนาพันธุ์ข้าว และวงการค้าข้าว คือข้อ 4.1 การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 27/1 และมาตรา 33/2) มาตรานี้จะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ของไทย”