ฉัตรสุมาลย์ : “จัมเปยยะ” อะไรง่ะ? ไม่เคยได้ยิน

จริงๆ ด้วย ไม่ใช่ชื่อที่เราคุ้นหู เอาเริ่มต้นที่มาที่ไปก่อนนะคะ

พระไตรปิฎกนั้น แปลว่า สามตะกร้า ที่แปลว่าสามตะกร้า ขอเล่าที่มาว่าตอนแรกเขียนลงในใบลาน แล้วคัดแยกลงในสามตะกร้า สามหัวข้อ คือ วินัย สูตร และอภิธรรม

ตรงนี้เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.450 ที่วัดอาลุวิหาร นอกเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาค่ะ

ก่อนหน้านั้น ใช้ทรงจำเอา อาจารย์ทรงจำไว้ แล้วก็ถ่ายทอดให้ศิษย์ เป็นรุ่นๆ ไป เรียกว่ามุขปาฐะ

เมื่อคราวเกิดทุพภิกขภัยในศรีลังกา พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่า ถ้าจะอาศัยวิธีเดิม พระเจ้าล้มหายตายจากไปหมด คำสอนในพระศาสนาก็จะพากันหายไปตามตัวบุคคลด้วย

จึงเป็นที่มาของการนิมนต์พระเถระบนเกาะลังกาที่ทรงจำพระไตรปิฎกมารวมกันแล้วจารพระธรรมคำสอนที่จดจำไว้ลงบนใบลาน

จึงเป็นที่มาของพระไตรปิฎกที่เรารู้จัก

 

เรื่องที่เจาะจงจะพูดในวันนี้ คือเรื่องพระวินัย อุแม่เจ้า ไม่พูดทั้งหมดดอกค่ะ จะพูดถึงหัวข้อนิดเดียว แต่ต้องให้บริบท เดี๋ยวไม่รู้ว่า มาอย่างไร แล้วก็จะไปอย่างไรไม่ถูก

ในพระวินัย ซึ่งเป็นตะกร้าแรกนั้น แบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ 5 หมวด

มหาวิภังค์

ภิกขุนีวิภังค์

มหาวรรค

จุลวรรค

ปริวาร

ขออนุญาตเจาะเข้าไปที่หมวดที่สาม คือ มหาวรรค คือเรื่องราวที่มา ข้อพึงปฏิบัติ และงดเว้นของพระภิกษุสงฆ์

ในมหาวรรคแยกเป็นหัวข้อย่อยเรียกว่า ขันธกะ มี 12 เรื่อง

เรื่องที่อยากนำมาชวนคุยวันนี้ คือเรื่องจัมเปยยะขันธกะ ข้อ 187-188

 

เวลาศึกษาเรื่องราวในพระไตรปิฎก บอกตะกร้า บอกข้อ เราก็จะตามไปเปิดศึกษาตามได้ง่ายขึ้น

จัมเปยยะขันธกะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองจัมปา แคว้นอังคะ

ในสมัยพุทธกาล ดินแดนที่เป็นชมพูทวีปนั้น ประกอบด้วยแคว้นใหญ่ 16 แคว้น แคว้นย่อยอีก 7 แคว้น อังคะเป็นหนึ่งในแคว้นใหญ่ มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองจัมปาที่เป็นที่เกิดของเรื่องที่เราจะคุยกันนี้แหละ

สำหรับคนที่คุ้นกับเส้นทางสังเวชนียสถาน จะรู้จักแคว้นมคธดี แคว้นอังคะอยู่ทางตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำคงคาคั่นกลาง เขาว่า ปัจจุบันน่าจะเป็นแคว้นเบงกอลในอินเดียค่ะ

อย่างน้อยเราก็รู้ภูมิประเทศของสถานที่ที่เราจะคุยกันแล้ว

 

จัมเปยยะขันธกะ เล่าถึงเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ถูกคณะสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม คือขับออกจากหมู่ น่าจะเป็นแบบเดียวกับที่พระสงฆ์ไทยขับหลวงพ่อวัดอ้อน้อย คือเป็นสังฆกรรมแบบเดียวกัน

พระภิกษุรูปนี้ มีความรู้สึกว่า ตนไม่ผิดตามข้อกล่าวหาของคณะสงฆ์ที่ลงโทษท่าน จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ปรากฏว่า คณะสงฆ์ที่ลงโทษท่านนั้นผิด

ตรงนี้เราก็เลยได้ข้อมูลที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายแยกพระสงฆ์เป็น 5 กลุ่ม ตามจำนวนของพระสงฆ์ที่จะทำสังฆกรรมชนิดใดได้และไม่ได้

กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยพระสงฆ์ 4 รูป นับเป็นสมมติสงฆ์ที่จะทำสังฆกรรมได้ (เช่น สวดปาฏิโมกข์)

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยพระสงฆ์ 5 รูป ทำสังฆกรรมที่อาศัยพระสงฆ์จำนวน 5 รูป (เช่น ทอดกฐิน ต้องมีพระภิกษุ 1 รูป สวดให้แก่สงฆ์ คือ 4+1) หรือให้อุปสมบทในถิ่นทุรกันดาร

กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยพระสงฆ์ 10 รูป เช่น การให้อุปสมบทในมัชฌิมประเทศ คือในเขตที่มีพระสงฆ์อยู่กันมาก

กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วยพระสงฆ์ 20 รูป เช่น พระสงฆ์ที่ประกอบพิธีอัพภาน (การสวดรับกลับพระภิกษุที่อาบัติสังฆาทิเสส สำนึกผิดและกลับตัวกลับใจแล้ว)

กลุ่มที่ 5 ประกอบด้วยพระสงฆ์เกิน 20 รูป จะประกอบสังฆกรรมใดที่กล่าวมาแล้วได้หมด

 

เอาละ ทีนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจ ถ้ามีพระสงฆ์ 4 รูป จะทำพิธีอุปสมบทในถิ่นทุรกันดาร ขาดอีก 1 รูป จะนิมนต์สามเณร หรือสามเณรี หรือสิกขมานา หรือภิกษุณี มานั่งเติมให้เต็มไม่ได้ ไม่นับเป็นสังฆกรรม

มีคนอยู่ 25 ประเภท ที่ไม่นับเป็นองค์ประกอบของสงฆ์ และจะเข้าร่วมสังฆกรรมไม่ได้ แม้เข้าร่วมก็จะถือว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ

คนที่ทำอนันตริยกรรม ตั้งแต่ฆ่าบิดา มารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ตลอดจนสี่จำพวกที่ว่าไปแล้ว คือ สามเณร สามเณรี สิกขมานา ภิกษุณี

ที่สำคัญคือ พระภิกษุที่ประทุษร้ายภิกษุณี ก็เป็นหนึ่งใน 25 ประเภทที่ทำให้สังฆกรรมเป็นโมฆะ

อ่านต่อไป จะพบว่า คน 25 ประเภทที่ว่ามาแล้วนี้ ไม่มีสิทธิ์ทางพระวินัยที่จะคัดค้านสังฆกรรมที่ทำไปแล้ว

สมมติว่า สงฆ์กำลังประกอบพิธีอุปสมบทนางภิกษุณี มีพระภิกษุที่ทำการประทุษร้ายภิกษุณีมาร้องว่า ไม่เห็นด้วยกับการอุปสมบทนั้น คำร้องนั้นเป็นโมฆะ เพราะบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติที่กล่าวแล้วข้างต้น

ขณะเดียวกัน ในบริบทเดียวกัน นางภิกษุณีหากมีคำร้องแย้งต่อการอุปสมบท นางภิกษุณีเองก็ขาดคุณสมบัติเช่นกัน

ทำให้เราเข้าใจบริบทสังคมสงฆ์ในสมัยแรกว่า ให้สิทธิขาดอยู่กับภิกษุสงฆ์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยเท่านั้น

โยงมาถึงความเชื่อที่สังคมไทยเชื่อกันมาตลอดเวลาว่า การบวชภิกษุณีนั้น ต้องทำในสงฆ์สองฝ่าย

จึงเป็นความเชื่อที่เชื่อกันมาผิดๆ

 

นางภิกษุณีจะสำเร็จเป็นภิกษุณีด้วยการอุปสมบทซึ่งเป็นสังฆกรรมโดยและของภิกษุสงฆ์เท่านั้น

การที่ดึงเอานางภิกษุณีสงฆ์เข้ามาช่วยในขั้นแรกของการอุปสมบท ไม่ได้ให้นางภิกษุณีมาให้การอุปสมบทดังที่เข้าใจกัน เพราะการอุปสมบทเป็นสังฆกรรมที่ทำโดยภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ให้ภิกษุณีเข้ามาช่วยถามความบริสุทธิ์ของนางผู้ขอบวช

ขั้นตอนที่ภิกษุณีสงฆ์ทำตรงนี้ คือการถามอันตรายิกธรรม 24 ข้อ

ซึ่งไม่ใช่สังฆกรรม

ปรากฏว่า เมื่อส่งนางผู้ขอบวชเข้าไปรับการอุปสมบทในภิกษุสงฆ์ นางก็ยังทำไม่ถูก มีอาการเก้อเขิน เงอะงะท่ามกลางภิกษุสงฆ์

ภิกษุสงฆ์จึงให้มีการซักซ้อมกันเสียก่อน ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์

แม้กระนั้น ก็ยังทำไม่ถูก พระภิกษุสงฆ์จึงต้องมีการคัดเลือกและแต่งตั้งภิกษุณีอาวุโสผู้รู้ธรรมวินัยให้เป็นอาจารย์ผู้สอนนางผู้ขอบวช ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งปวัตตินี เพื่อให้ปวัตตินีรับผิดชอบในการฝึกฝนอบรมผู้ขอบวชให้เรียบร้อย

เป็นที่มาของการสอนซ้อม นั่นคือ ปวัตตินีสอนซ้อมนางผู้ขอบวชราวกับนางกำลังขอบวชท่ามกลางภิกษุสงฆ์

หลังจากนั้น จึงส่งนางเข้าไปรับการอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์

 

ขั้นตอนการสอนซ้อมนี้เอง สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาที่มาที่ไปของพระวินัย และข้อจำกัดของนางภิกษุณี ดังที่อ้างในจัมเปยยะขันธกะ จะทึกทักเอาว่า ภิกษุณีสงฆ์ให้การอุปสมบทแก่นางผู้ขออุปสมบท แล้วจึงส่งไปให้รับการอุปสมบทอีกครั้งจากภิกษุสงฆ์

นำมาซึ่งความเข้าใจ (ผิด) มาเรียกว่า อุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย

ความจริงที่ปรากฏในครุธรรมว่าให้แสวงหาสงฆ์สองฝ่ายเพื่ออุปสมบทนั้น คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ เพื่อให้ภิกษุณีสงฆ์ตรวจสอบความบริสุทธิ์ 24 ข้อที่เรียกว่า อันตรายิกธรรมเท่านั้น เมื่อบริสุทธิ์แล้วจึงส่งนางผู้ขอบวช และได้ผ่านการสอนซ้อมแล้ว เข้าสู่กระบวนการอุปสมบทที่เป็นสังฆกรรมโดยภิกษุสงฆ์

หากไปถือเอาว่า การสอนซ้อมของภิกษุณีเป็นอุปสมบท เท่ากับเป็นสังฆกรรม แล้วภิกษุสงฆ์มาทำสังฆกรรมเดียวกัน คือให้การอุปสมบทอีก เท่ากับทำสังฆกรรมซ้ำ สังฆกรรมเดียวกันครั้งที่สองต้องถือเป็นโมฆะไปโดยปริยาย หากไม่ได้สวดประกาศยกเลิกสังฆกรรมแรก

ข้อสำคัญ สังฆกรรมที่ทำโดยถูกต้องแล้ว หากมีการทำซ้ำ ภิกษุสงฆ์ที่ทำซ้ำต้องอาบัติ

 

แต่การอุปสมบทนั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ทำมาตั้งแต่ต้น (จุลวรรค, วินัยปิฎก) จึงมีวิธีที่จะทำความเข้าใจได้โสตเดียว คือที่นึกว่าเป็นการอุปสมบทโดยภิกษุณีนั้น ในความเป็นจริงเป็นเพียงขั้นตอนของการสอนซ้อม ถ้าเช่นนั้นการอุปสมบทโดยภิกษุสงฆ์ต่อมา ก็ถูกต้องตามพระวินัย

ข้อมูลการศึกษาจากจัมเปยยะขันธกะมีความสำคัญตรงนี้ ที่ทำให้เราชัดเจนขึ้นในการทำความเข้าใจพระวินัยเรื่องการอุปสมบทภิกษุณี

ช่วยกันศึกษานะคะ ความชัดเจนจะปรากฏขึ้น