กรองกระแส / บุคคล กับ พรรค ความสัมพันธ์ อัน ซับซ้อน สะท้อน ทิศทางต่อสู้

กรองกระแส

บุคคล กับ พรรค

ความสัมพันธ์ อัน ซับซ้อน

สะท้อน ทิศทางต่อสู้

 

การนำเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลอย่างสูงต่ออนาคตพรรคพลังประชารัฐ การนำเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลอย่างสูงต่ออนาคตพรรคประชาธิปัตย์ การเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีผลอย่างสูงต่ออนาคตพรรคภูมิใจไทย

เพราะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับข้อเสนอ พรรคพลังประชารัฐก็เคลื่อนไหวคึกคักถึงกับภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คู่กับผู้สมัครของตน

ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาพเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับพรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล

นี่จะหมายความว่าบทบาทของตัวบุคคลมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อชัยชนะหรือพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งอย่างนั้นหรือ

เป็นความจริงที่แม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องยอมรับ เพราะภาพที่วางเรียงเคียงข้างอยู่กับภาพของผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ก็มีภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้มองเห็นว่าการดำรงอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้สีสันของผู้สมัครสดใสกาววาวมากขึ้น

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้บทบาทของพรรคการเมืองจะเป็นเรื่องของกรรมการบริหาร จะเป็นเรื่องของสมาชิกพรรค แต่ในที่สุดแล้วหัวหน้าพรรค หรือผู้นำพรรคก็มีความสำคัญ

เอกภาพระหว่างพรรคกับผู้นำพรรคจึงสำคัญ

 

บทบาทพรรค

บทบาทผู้นำ

 

หากศึกษาจากกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเห็นในความแตกต่าง

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นหัวหน้าพรรค

เพราะว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงสถานะหัวหน้าพรรคและขับเคลื่อนพรรคมาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพลังประชารัฐก็ดำรงอยู่อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะเมื่อหัวหน้าพรรคเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งชื่อของพรรคพลังประชารัฐก็นำมาจากนโยบาย “ประชารัฐ” อันมีมติเห็นชอบดำเนินการโดย ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค ครบถ้วน

ยิ่งกว่านั้น พรรคพลังประชารัฐยังประกาศที่จะสานต่อทุกนโยบายอันริเริ่มโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย

 

ทิศทาง แนวทาง

เลือกตั้ง มีนาคม

 

เมื่อนำเอาพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวตั้ง เมื่อพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่เพียงหนึ่งเดียวของพรรค และประกาศจะสานต่อทุกนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จึงมีความแจ่มชัด

เป็นความแจ่มชัดที่ 1 พรรคการเมืองใดที่เห็นชอบกับแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งโดยตรงอย่างพรรคพลังประชารัฐและโดยการซุกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ

นี่มิได้เป็นความลับอะไรเลย

มีคำประกาศตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ภายหลังการผ่านประชามติรัฐธรรมนูญแล้วว่าจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. สืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นความแจ่มชัดที่ 1 ยืนอยู่ตรงกันข้าม คสช. ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่มิได้เป็นความลับ เพราะพรรคเพื่อไทยก็ประกาศแนวทางนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว และภายหลังประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 ก็มีหลายพรรคการเมืองที่ประกาศเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อชาติ และรวมถึงพรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน

นับวันการต่อสู้ 2 แนวทางนี้จะยิ่งปรากฏชัด

 

2 ยุทธศาสตร์การเมือง

หลากยุทธวิธี การต่อสู้

 

เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ และยิ่งเข้าใกล้เดือนมีนาคม ประชาชนจะยิ่งสัมผัสได้ถึงยุทธวิธีของแต่ละพรรคการเมืองว่าดำเนินไปเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์อย่างใด

เหมือนกับมีพรรคหนุน คสช. เหมือนกับมีพรรคต้าน คสช. เหมือนกับมีพรรคเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง

แม้ว่าการดำเนินยุทธวิธีจะยังไม่แจ่มชัด แม้ว่าการเลือกข้างจะยังคลุมเครือ แต่ยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคก็มีความแจ่มชัด เพียงแต่จะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

กระนั้น ในที่สุดแล้วปัจจัยชี้ขาดคือ การปฏิบัติ มิได้อยู่ที่คำประกาศอย่างเลื่อนลอย