ธงทอง จันทรางศุ | ห้องสมุด

ธงทอง จันทรางศุ

ผมไม่เคยเดินทางไปประเทศฟินแลนด์มาก่อน แต่คิดว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องหาโอกาสไปประเทศนี้ให้จงได้

ในรายการท่องเที่ยวที่หมายมาดไว้ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่ใครต่อใครเขานิยมชมชื่นแล้ว รายการท่องเที่ยวของผมในประเทศฟินแลนด์จะต้องรวมห้องสมุดขนาดใหญ่ที่รัฐบาลเขาเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเอาไว้ด้วย

ห้องสมุดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพจากการปกครองของประเทศรัสเซีย มาตั้งเป็นประเทศอิสระของตัวเอง

ทราบว่าห้องสมุดนี้ลงทุนไปเกือบ 4,000 ล้านบาท และแต่ละวันมีคนเข้ามาอ่านหนังสือไม่น้อยกว่า 10,000 คน

เมื่อพูดถึงการจัดการศึกษาแล้ว มักจะมีการประเมินผลและประกาศผลอยู่เสมอทุกรอบปีว่าประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีคุณภาพด้านการศึกษาสูงที่สุดในโลก

ส่วนประเทศไทยของเราอยู่อันดับที่เท่าใด ขอฝากไว้เป็นปริศนาประจำวันนะครับ

ผมเข้าใจว่า “การศึกษา” ของประเทศฟินแลนด์นั้นไม่ได้จำกัดแต่เพียงการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือในโรงเรียนเท่านั้น

แต่การทำให้คนฉลาดรอบรู้ขึ้น มีสายตาที่กว้างไกล รู้จักพัฒนาตัวเอง เป็นประชากรที่มีคุณภาพทั้งของประเทศและของโลก ต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่หลากหลาย เป็นการศึกษาตลอดชีวิต และห้องสมุดนี้ก็เป็นวิธีการจัดการศึกษาอย่างหนึ่งของเขา

แต่ห้องสมุดในสายตาของผมไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาครับ

ห้องสมุดยังเป็นความบันเทิง และบันเทิงมากเสียด้วย

ลองนึกดูสิครับว่า ภายในห้องสมุด ที่มีหนังสือเรียงรายอยู่ตามชั้น ให้เราเลือกหยิบเลือกอ่านได้ตามใจชอบ นั่นคือโลกแห่งจินตนาการและความรู้ของผมโดยแท้

ผมได้อาศัยหนังสือเป็น Time Machine พาผมท่องไปในอนาคต หวนย้อนไปดูอดีต ตระเวนไปทุกซอกทุกมุมของโลก ตั้งแต่พระราชวังอันโอฬาริกไปจนถึงป่าดงดิบในอเมริกาใต้ พาผมไปพูดคุยกับคนที่ผมอยากรู้จัก

ทั้งหมดนี้โดยเสียสตางค์น้อยที่สุดหรือไม่เสียเลย

เมื่อครั้งที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมและชั้นมัธยม ห้องสมุดของโรงเรียนผมมีขนาดใหญ่โตเป็นพิเศษ มีหนังสือมากมายหลายประเภท จำนวนน่าจะหลายพันเล่ม หรืออาจจะถึงระดับหมื่นเล่มผมก็ไม่แน่ใจครับ

รู้แต่ว่าผมและเพื่อนสนุกมากกับการอ่านหนังสือ ได้ยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน ยืมได้ครั้งละไม่เกินสองเล่ม กำหนดเวลาส่งคืนภายในเจ็ดวันหรือสิบห้าวันก็จำไม่ได้แม่นยำเสียแล้ว

ตอนผมเป็นเด็ก ผมไม่มีเงินซื้อหนังสือเองมากนัก ต้องเก็บหอมรอมริบไปซื้อหนังสือที่อยากได้ทีละเล่มสองเล่ม บางโอกาสพ่อกับแม่ก็ซื้อหนังสือให้ แต่ย่อมเป็นการเหลือวิสัยที่จะมีหนังสือที่อยากอ่านอยากได้ครบทุกเล่มไว้เป็นสมบัติของตัวเอง ก็ได้อาศัยห้องสมุดของโรงเรียนนี่แหละเป็นคำตอบ

เมื่ออายุร่วมเข้ามาถึง 60 กว่าปีเช่นทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่มีคนถามผมว่า เรื่องราวต่างๆ ที่ผมนำมาสอนหนังสือบ้างนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง ผมได้มาจากที่ไหน

คำตอบแสนซื่อและตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ผมได้มาจากการอ่านหนังสือครับ

การอ่านหนังสือไม่ได้ให้เหลือเพียงข้อมูลความรู้ต่างๆ เท่านั้น แต่หนังสือที่ผมอ่านยังได้เป็นครูให้ผมรู้จักการใช้ภาษาที่ดี รู้จักความสวยงามของภาษา หรืออาจจะเรียกว่าศิลปะแห่งการใช้ภาษาก็ได้

ภาษาไทยนั้นทุกคนก็อ่านออกเขียนได้ แต่ความสามารถในการใช้ภาษาของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เรื่องอย่างนี้พัฒนาได้ด้วยการอ่านหนังสือ

ผมเคยอุปมาอุปไมยว่า สถาปนิกที่ไม่เคยเห็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงามมาก่อน ย่อมเป็นการยากนักที่จะออกแบบสิ่งก่อสร้างของตนเองให้งดงามได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสือที่มีคุณภาพดีมาก่อน ก็ยากที่จะเขียนหนังสือได้ดี

ผมสังเกตว่าทุกวันนี้เรามีสื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้คนได้อ่านหนังสือ

แต่ผมก็มีข้อสังเกตต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ตัวหนังสือที่เรียงเป็นแถวๆ อยู่ในสื่อออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่ผลิตหรือเขียนขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว มีพื้นที่ไม่มากนัก และไม่ได้เน้นความสละสลวยของภาษา

ผมก็ยอมรับข้อจำกัดเหล่านี้ และอยู่ด้วยกันได้เป็นปกติสุขกับสื่อออนไลน์

แต่ก็เท่านั้นนะครับ หมายความว่าผมใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหาความรู้แบบรวดเร็ว

แต่ตัวผมเองต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่า ข้อมูลหรือความรู้ที่ได้ต้องมีการสอบทานอีก มีบ่อยครั้งไม่ใช่หรือครับที่ข้อความในสื่อออนไลน์เป็นเท็จ หรือจริงบางส่วนไม่จริงบางส่วน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

ความรับผิดชอบและการลงทุนของการนำข้อความอะไรบางอย่างไปวางไว้ในสื่อออนไลน์ไม่เหมือนกับการพิมพ์หนังสือหนึ่งเล่ม ต้นทุนมันผิดกันมากครับ

คนจะพิมพ์หนังสือหนึ่งเล่มนั้นกระบวนการแสนยืดยาว ต้องเรียบเรียงความคิด ต้องกลั่นความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือที่งดงาม ร้อยเรียงอย่างเป็นระบบ

บ่อยครั้งที่ต้องมีการทำบรรณาธิการกิจหรือหาภาพประกอบ จัดหน้าให้สวยงามและเรียงพิมพ์แล้วก็ต้องมาพิสูจน์อักษร

ข้อสำคัญที่สุดมากกว่าข้ออื่นใดคือ “แพง” ครับ

การผลิตหนังสือหนึ่งเล่มต้องลงทุนมาก ถ้าคิดจะพิมพ์แจกก็เรื่องหนึ่ง มีเงินก็พิมพ์ไปเถิดครับ แต่ถ้าคิดจะพิมพ์ขายก็ต้องใคร่ครวญให้ดี ว่าจะมีคนซื้อหรือไม่ จะมีคลังเก็บหนังสือไว้ที่ไหน

ต้นทุนการขายอย่างนี้อีกนะครับ เพราะต้องเสียเปอร์เซ็นต์ให้ร้านค้า หนังสือหนึ่งเล่มกว่าจะมาอยู่ด้วยมือของคนอ่านได้จึงผ่านการทำงานของสมองและหัวใจมาเยอะแยะ

ส่วนการเขียนหนังสือลงในสื่อออนไลน์นั้นต้นทุนถูกกว่ามาก อีกทั้งธรรมชาติสื่อออนไลน์ก็มักจะเป็นการสื่อสารในช่วงเวลาสั้นๆ อาจไม่มีการย้อนกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่จะจัดเก็บไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ผมจึงนึกว่าความพิถีพิถันของผู้ที่เขียนหนังสือออนไลน์นั้นน่าจะไม่ทัดเทียมกันกับการพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่ม

มีคนถามผมอยู่บ่อยครั้งว่าผมอ่าน “E Book” บ้างหรือไม่

คนโบราณอย่างผมตอบเต็มปากเต็มคำว่าไม่ถูกชะตากันกับหนังสือประเภทนั้นครับ เพราะรู้สึกว่าจะพลิกกลับไปกลับมาก็ไม่สะดวก จะเอานิ้วคั่นหน้าหนังสือไว้ ก็ไม่รู้จะคั่นตรงไหน

เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งอธิบายอย่างใจร้ายว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างนี้ คงไม่ใช่ของดีจริง เพราะถ้าดีจริงแล้ว ที่ไหนหรือจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “อี” เราต้องเรียกว่า “คุณบุ๊ก” สิ ถึงจะน่าเลื่อมใสหน่อย

แต่เอาเถิดครับ ถ้าจะพูดให้เป็นแก่นสารกันแล้วก็อยากจะบอกว่า ขอให้อ่านหนังสือเถิด

จะเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือหนังสือเป็นเล่มๆ ก็ไม่ว่ากัน

แต่มีข้อแม้ว่าอยากให้เป็นหนังสือที่มีคุณภาพ

เวลามีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือมีงานมหกรรมหนังสือในที่ต่างๆ ผมสังเกตดูว่า เด็กและเยาวชนไปซื้อหนังสือกันมาก บ่อยครั้งที่เห็นนั่งอ่านดูตามพื้นทางเดินในบริเวณงาน ผมไม่กล้าชะโงกไปดูครับว่าเขาอ่านอะไรกันบ้าง ได้แต่เพียงหวังว่าสิ่งที่เขาอ่าน จะเป็นต้นทุนความรู้และต้นทุนทางภาษาสำหรับลูกหลานเหล่านั้นจะได้ใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของความบันเทิงฝ่ายเดียว

การผสมส่วนระหว่างความรู้กับบันเทิงเป็นเรื่องที่ต้องมีความสมดุล พูดสั้นๆ เพียงว่าเดินสายกลางเห็นจะพอ

ส่วนคนที่ไม่ควรเดินสายกลาง คือรัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องห้องสมุดสาธารณะ

ซึ่งอาจจะหมายความตั้งแต่กรมศิลปากรซึ่งดูแลหอสมุดแห่งชาติ

กระทรวงศึกษาธิการซึ่งดูแลสมุดตามสถานศึกษาต่างๆ

หรือแม้กระทั่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งควรจะดูแลห้องสมุดประชาชน

ขอให้ย้อนกลับไปอ่านที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกว่าประเทศที่เขามีความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการศึกษา

ขาลงทุนเป็นเรือนพันล้านกับเรื่องเหล่านี้ ขณะที่บ้านเราไม่เห็นความสำคัญและละเลยเรื่องนี้มาโดยตลอด

ท่ามกลางสถานการณ์งบประมาณของประเทศที่มีจำกัด ของที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อย แต่ซื้อด้วยเงินทองมหาศาลบ้านเรามีเยอะแล้ว ของเหล่านั้นพูดรายละเอียดมากไปก็จะเคืองกันเสียเปล่าๆ

แบ่งงบประมาณมาแล้วขอพื้นที่ให้หนังสือและห้องสมุดบ้างได้ไหมครับ