วงการพิมพ์ ในห้วงของการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

คอลัมน์วิช่วลคัลเจอร์ | ประชา สุวีรานนท์

ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (จบ)

 

ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง “สยามศิลป” ของฟื้น รอดอริห์ บอกว่าตนเองเป็นสำนักงานที่ “ทำการช่างต่างๆ มีช่างเขียนที่สามารถออกแบบโฆษณา โชก๊าศ เขียนโปสเต้อ ป้ายห้างร้าน รับออกแบบฉลากยา ทำแม่พิมพ์สกรีน ลายเส้น ราคาถูกกว่าที่อื่นๆ ทั้งหมด” (จาก “โฆษณาไทย เล่ม 1 ของคุณอเนก นาวิกมูล)

เหม เวชกร ซึ่งเคยร่วมมือกับเวช กระตุฤกษ์ และ ส. บุญเสนอ ตั้งคณะเพลินจิตต์ ได้ตั้ง “คณะเหม” สำนักงานช่างของตนเอง รับงานวาดภาพประกอบ ออกแบบปก ทำโฆษณา และทำบล๊อก นอกจากนั้น ยังตั้งตัวเป็นสำนักพิมพ์โดยใช้ชื่อเดียวกัน

“คณะช่าง” เป็นสำนักงานออกแบบที่โด่งดังของยุคนี้ เจ้าของคือ เปรื่อง แสงเถกิง ผู้เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง

นอกจากงานพื้นฐาน เช่น บล๊อกโลหะและตรายาง คณะช่างยังมีบริการการวาดภาพแบบต่างๆ สร้างงานโฆษณา ทำป้ายไม้ และภาพกระจกฉายในจอภาพยนตร์ และมีโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์ทั้งหนังสือ ตั๋ว ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เด่นคือแท่นพิมพ์หิน ซึ่งใช้พิมพ์แผนที่ โปสเตอร์ และปฏิทินขนาดใหญ่ ต่อมา เป็นผู้นำเอาแท่นพิมพ์ออฟเซตมาใช้ในไทยเป็นโรงพิมพ์แรก

ช่างวาดมีทักษะพื้นฐานคล้ายยุคก่อน แต่ในยุคที่สิ่งพิมพ์เจริญไปมาก การที่ตัวตะกั่วไม่มีแบบใหม่ๆ ทำให้ “ตัวประดิษฐ์” ที่เกิดจากการวาดและทำบล๊อกมีบทบาทมาก และเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้กำหนดแนวทางออกแบบอักษร ปกและโฆษณาด้วยตนเอง

คณะช่างมีผลงานจำนวนมากและขยายเครือข่ายกิจการออกไปอย่างกว้างขวาง ช่างในสังกัดหลายคนมีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน, เฉลิม วุฒิโฆษิต และอาด อ๊อดอำไพ และบางคนได้ออกไปเปิดสำนัก

งานหรือร้านบล๊อกของตนเอง

 

ตำรา : จากช่างสู่นักเรียนและคนทั่วไป

 

ปีพ.ศ.2492 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอโครงการโรงพิมพ์แห่งชาติ โดยตั้งงบก่อสร้างไว้ราว 10 ล้านบาท และกำหนดให้เสร็จภายใน 5 ปี

แต่โครงการนี้ไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

หลังจากนั้น รัฐบาลหันมาเพิ่มกำลังความสามารถของโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งกลายเป็นผู้ผลิตแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และมีฐานะคล้ายโรงพิมพ์แห่งชาติ

การขยายตัวของธุรกิจการพิมพ์ทั้งที่ทำโดยรัฐและเอกชน นอกจากจะสำรวจได้จากจำนวนหนังสือ หนังสือพิมพ์ และโรงพิมพ์ที่กระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ แล้ว ยังเห็นได้จากการเปิดสอนวิชาช่างพิมพ์ด้วย

นอกจากโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งตั้งในยุคก่อนสงครามแล้ว ในยุคนี้ มีโรงเรียนช่างพิมพ์ดอนบอสโก และแผนกการพิมพ์ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ

นอกจากนั้น ลายไทยและภาพวาดแบบไทยประเพณีที่ลดทอน กำลังถูกรัฐบาลส่งเสริมให้เป็น “แบรนด์” หรือเอกลักษณ์ใหม่ของชาติ และกระตุ้นให้นำไปใช้ในบ้านและสิ่งก่อสร้างของคนทั่วไป

ภาพต้นแบบและวิธีการวาดเหล่านี้ จึงถูกรวบรวมและจัดพิมพ์จำหน่าย ตำราหรือคู่มือสำหรับศิลปินสาขาต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นงานตกแต่งภายในหรือก่อสร้าง เช่น “สมุดตำราลายไทย” ของพระเทวาภินิมิต, “ศิลปไทย” ของช่วง เสลานนท์, “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น” ของพระพรหมพิจิตร, “คู่มือลายไทย” ของโพธิ์ ใจอ่อนน้อม, “ตำราสถาปัตยกรรมและลายไทย” ของเลิศ พ่วงพระเดช และ “แบบนวกรรม” โดยพระนวการโกวิท ออกมามากมาย

ในขณะเดียวกัน สำนักงานช่างที่เป็นเอกชนนำเอาผลงานของช่างฝีมือรุ่นเก่ามาพิมพ์ หนังสือเหล่านี้มีทั้งตำราวาดรูป ทั้งแบบไทยและสากล, วาดแบบอักษร, เครื่องหมายการค้าและตรา, ปั้นปูน และทำลูกกรงเหล็กดัด

คณะช่างถือว่าการผลิตตำราแบบนี้มีความสำคัญ ในโฆษณาชิ้นหนึ่งกล่าวว่ากำลัง “สร้างสรรพตำราเก่าใหม่ ซึ่งเกี่ยวกับ ช่างเขียน ทำบล๊อก ออกแบบ การพิมพ์ การโฆษณา” และประกาศรับซื้อต้นฉบับจากศิลปินคนอื่นๆ สำนักงานนี้ได้พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม เช่น “ตำราภาพลายไทย” และ “สมุดรูปสัตว์”

เมื่อช่างในสังกัดออกไปดำเนินกิจการด้วยตนเอง ก็ผลิตตำราแบบนี้ออกมาด้วยเช่นกัน บางเล่มมีจำหน่ายทั่วไป และบางเล่มถูกเขียนขึ้นสำหรับการสอนศิลปะและการช่างทางไปรษณีย์

 

ในปี พ.ศ.2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามสร้างบรรยากาศเสรีนิยม และเร่งรัดให้ประชาธิปไตยกลับมาใหม่ด้วยการรณรงค์เลือกตั้งหาเสียง และตั้งเวทีไฮด์ปาร์กตามหัวเมือง

รัฐบาลหันมาส่งเสริม การฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีแบบจารีต มีการบูรณะวัดและปูชนียสถาน, ขุดค้นสำรวจทางโบราณคดี, รื้อฟื้นประเพณี งานช่างและศิลปะแบบจารีต งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ รวมทั้งมีโครงการใหญ่ๆ เช่น สถานที่ราชการ อนุสาวรีย์ และถนนสายสำคัญต่างๆ ได้เริ่มขึ้นพร้อมกัน

แม้หลายโครงการจะยังไม่สำเร็จในยุคนั้น แต่ก็ได้กรุยทางไปสู่ผลงานปัจจุบัน และบุกเบิกไปสู่ระดับทั่วประเทศ

การเมืองที่ยังมีความรุนแรง จบลงด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำให้ผู้นำรัฐบาลเดิมหลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ มีการเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มระบบเลือกตั้ง ห้ามตั้งพรรคการเมือง และปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกชนิด สฤษดิ์ได้นำประเทศเข้าสู่ “ยุคพัฒนา” อันหมายถึงการเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ การพิมพ์เจริญไปอีกขั้น สไตล์ของสิ่งพิมพ์และป้ายตามท้องถนนมีบทบาทมากขึ้น โรงพิมพ์ ระบบเลตเตอร์เพลส ทั้งที่ทำโดยภาครัฐและเอกชนกำลังเติบโต แต่วงการกำลังพูดถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวหน้ากว่า เช่น ระบบออฟเซตที่กำลังจะมาถึงในยุคต่อไป