เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ จอเปื้อนฝุ่น

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

จอเปื้อนฝุ่น

ช่วงนี้จอทีวีดิจิตอลบ้านเรากำลังเปื้อนฝุ่นครับ

ไม่ใช่ฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเรตติ้งแรงในขณะนี้ แต่เป็นฝุ่นในการเอาตัวรอด

เป็นที่รู้กันว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลังเปิดการประมูลทีวีดิจิตอลของประเทศไทย เมื่อนั้นความหายนะก็ได้เข้ามาเยือนอุตสาหกรรมนี้ทันที ด้วยสาเหตุอะไรคงไม่ต้องย้อนไปพูดถึง เพราะทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้ว

อย่างน้อยที่เป็นประจักษ์พยานของความล้มเหลวคือ ไม่มีใครเคยดูรายการครบทุกช่อง บางคนยังจำเลขช่องแบบชัวร์ๆ ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ นอกจากช่องที่ดูบ่อยๆ มิพักพูดถึงความสามารถในการรับชมของคนในประเทศที่หลายพื้นที่ยังรับไม่ได้ด้วยซ้ำ

ในขณะที่เม็ดเงินถูกกระจายออกไปตามช่องต่างๆ อย่างกระเบียดกระเสียร แต่ไปกระจุกตัวตามช่องที่พอมีเรตติ้ง สถานีที่ยังควานหาเรตติ้งกันอยู่จึงกระอักเลือดที่ไหลออกทุกวัน เพราะต้องผลิตรายการให้ออกมาตลอดเวลา บางคนเปรียบว่าเหมือนเผาเงินทิ้ง

บางช่องชิงปิดตัวเองไปเสียแต่เริ่มออกสตาร์ต

ที่ทนทู่ซี้วิ่งต่อไปอย่างขากะเผลก ขาดอาหารเสริม ไม่มีพละกำลังพอ ก็วิ่งไปแบบเข้าทำนอง “ถอยก็ไม่ได้ ไปต่อก็ลำบาก” ในขณะที่ภาครัฐอย่าง กสทช. ที่ควรจะเป็นผู้ช่วยแบบซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel กลับกลายเป็นอสูรร้ายแบบ “มาแล้วเวร” เสียเอง

ที่สถานีทั้งหลายรู้สึกกับ กสทช. คือ นอกจากจะไม่ได้ทำตามที่โฆษณาไว้แล้ว ก็ยังไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร แถมยังกลายเป็นคนถือปังตอเตรียมฟันหัวแบะแบบจิ๊กโก๋มุมซอยเสียนี่

5 ปีที่ผ่านมาจึงซดน้ำใบบัวบกปนยาธาตุน้ำแดงกันเป็นทิวแถว แม้ช่องที่เคยใหญ่ ก็มีกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

และที่ว่าฝุ่นตลบจนเปื้อนจอคืออะไร?

เพราะอยู่ดีๆก็เหมือน กสทช.จะเป็นองคุลิมาลกลับใจ เกิดพุทธิปัญญาและความเมตตาต่างๆ นานา ที่สรรหามาตรการเพื่อมาเยียวยาสถานีทั้งหลาย เป็นการต่ออายุแบบปั๊มหัวใจครั้งสุดท้ายให้ฟื้นขึ้นมาก่อนจะสิ้นลมไปต่อหน้าต่อตา

ทั้งเรื่องการชะลอการจ่ายค่าสัมปทานในงวดที่เหลือ ทั้งเรื่องการเยียวยาเรื่องราคาการเช่าเครือข่ายในการส่งสัญญาณที่ส่งไปไม่ได้จริงตามแผนอันสวยหรู

หรือแม้กระทั่งการออกระเบียบให้สามารถคืนช่องได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีเสียงเรียกร้องมาตลอด แต่ก็ไม่เคยอนุมัติ เพราะอันที่จริงประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคนอย่างเรา มีฟรีทีวีสัก 10 ช่องก็เกินพอแล้ว ยิ่งตอนนี้คนดูทีวีจริงๆ น้อยลง หันไปดูผ่านมือถือก็เยอะ

เหล่านี้เป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่ทำให้ทุกคนเริ่มหายใจคล่องขึ้น มีทุนรอนที่จะขยายงานสร้างรายการดีๆ มากขึ้นเพื่อเรียกเรตติ้งไปแข่งขันกับคนอื่น เหมือนได้หน้ากากอนามัยมาสวมเพื่อบรรเทาฝุ่นพิษยังไงยังงั้น

 

ปี2562 นี้ตั้งแต่ต้นปี เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ จากช่องสถานีแต่ละช่องออกมาเนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับพนักงานออกเพื่อลดต้นทุน การปรับผังรายการเพื่อหวังสร้างเรตติ้ง การหารายการหรือบุคคลที่เป็นแม่เหล็กมาเรียกกระแสและคนดูให้ช่องได้

อย่างในกรณีของสถานี PPTV ที่ลุกขึ้นมาประกาศผังไปก็จะเห็นว่าได้มีการลงทุนเพื่อซื้อความสำเร็จของรายการจากช่องอื่นมาลงในช่องตนเอง อย่างกรณีของรายการ “กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน” หรือ “The Voice” เป็นต้น ซึ่งก็ดูจะได้ผลเพราะเรตติ้งช่องขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตามผังที่ประกาศออกมาเป็นการเปิดหน้าท้ารบเห็นๆ

ที่ฮือฮาคือ การมีดาราระดับแม่เหล็กมาอยู่ในช่องของตนเอง เพราะนักแสดงหลายคนนิยมเป็นอิสระ และย้ายช่องกันมากขึ้น ด้วยเป็นทางเลือกที่มีมาตามจังหวะเวลานั่นเอง

หรือที่เราได้เห็นหลายๆ ช่องบุกโปรแกรมประเภท “ละคร” กันมากขึ้น ที่เคยทำแบบ “ขอมีประดับผัง” บ้าง ก็เป็นทำแบบจริงจังเพื่อแชร์เรตติ้งกับเขาด้วย

แนวรบทางด้านละครจึงฝุ่นตลบตามมา ทั้งผู้จัด ผู้กำกับฯ นักแสดง ต่างพาเหรดหาโอกาสทองกันทั้งนั้น ที่น่าสนใจคือมีการทำงานที่เป็นพาร์ตเนอร์กันมากขึ้น เราจึงได้เห็นผู้จัดละครและรายการที่เหมือนจะผูกติดกับช่องนั้นช่องนี้ ได้ผลิตงานออกในหลายช่องหลายสถานีมากขึ้น

 

อย่างในกรณีที่รายการ Nine Entertain รายการดังของช่อง 9 อสมท ได้จับมือกับช่อง One เพื่อผลิตรายการบันเทิงที่มีความแตกต่างออกทางช่อง One เอง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในคู่แข่งในนามสถานีเช่นกัน

หรืออย่างที่เห็น ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา รับผลิตละครให้กับช่องต่างๆ ทั้งที่ครั้งหนึ่งเคยปักหลักบริหารช่อง GMM 25 ทั้งช่องมาก่อน

เชื่อว่าจะมีฝุ่นในการเอาตัวรอดทางธุรกิจให้ตลบอบอวลอีกแน่นอน

ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา

และที่ดูจะเป็นความหวังอย่างหนึ่งของทางสถานีก็คือ เม็ดเงินที่มาจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม ตามที่ออกข่าว

ด้วยเม็ดเงินที่จะมาจาก “ศึกเลือกตั้ง” นี้ก็เป็นดั่งบ่อน้ำมันอันหอมหวนที่สถานีต่างๆ จะแข่งกันหยิบเม็ดเงินนี้เพื่อมา ปชส. ต้อนรับศึกเลือกตั้งกัน ทั้งเงินจากภาครัฐ และจากพรรคการเมืองต่างๆ

เรียกว่าฝุ่นการเมืองได้ฟุ้งกระจายเผื่อแผ่มาถึงภาคอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนด้วย

ฝุ่นที่ว่านี้ไม่เฉพาะฝุ่นที่เป็นเม็ดเงิน แต่รวมถึงฝุ่นที่เป็นคอนเทนต์ด้วย

เพราะสถานีก็ต้องเล่นกับกระแสการเลือกตั้ง ต้องแข่งขันกันใน นำเสนอแง่มุมที่ประชาชนสนใจ ยิ่งได้ข้อมูลที่มีความแตกต่างหรือเบื้องลึกเบื้องหลัง คนก็ยิ่งสนใจ

ดังนั้น นับวันที่งวดเข้ามา ต้องคอยจับตาดูว่าฝุ่นการเมืองจะฉาบหน้าจอด้วยประเด็นอะไรบ้าง ร้อนแรงแค่ไหน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสองพรรคฝั่งตรงข้ามกัน ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ

ข้อมูลกล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่จะกำจัดได้ง่ายๆ จะยังคงทำร้ายสุขภาพประชาชนอยู่ไปอีกนาน ยิ่งถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการแก้ไขเยียวยา รวมไปถึงการป้องกันอย่างเป็นระบบ มีแผนระยะยาว และทำอย่างจริงจัง ฝุ่นนี้ก็จะยังคงมีอยู่

และจะยังคงเปื้อนหน้าจอให้สำนักข่าวต่างๆ หยิบเป็นประเด็นมารายงานเป็นระยะๆ

 

ส่วนฝุ่นเลือกตั้ง ก็หวังว่าเมื่อฝุ่นหายตลบลงในวันที่ 24 มีนาคมแล้ว จะรีบคลายตัวออกเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ตามกำหนดเวลา จะได้ตั้งหน้าทำงานกันแบบตรวจสอบได้จริงๆ เสียที

ถึงตอนนั้น คนที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะนั่งเก้าอี้แบบเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน จะแค่ฝุ่นจับบางๆ หรือถึงขั้นเปรอะเปื้อนจนมอมแมมแค่ไหนก็ไม่รู้

และคาดเดาไม่ได้ว่า ระหว่างฝุ่นที่ปลิวมาจากดูไบ กับฝุ่นที่ปลายกระบอกปืน อันไหนจะได้เข้าวินทางการเมือง

เอาเรื่องฝุ่นๆ เท่านี้ก่อนแล้วกัน ช่วงนี้ยิ่งหายใจติดๆ ขัดๆ อยู่ด้วย

คงพอเข้าใจนะครับผม