รู้จัก “พรรคไทยรักษาชาติ” ให้มากขึ้น กางยุทธศาสตร์ แก้เกมสู้เลือกตั้ง พรรคพี่พรรคน้อง “พท.-ทษช.” รอลุ้นบัญชี “นายกฯ”

การเปิดตัวพรรค “ไทยรักษาชาติ” รวมไปถึงการเปิดตัวสมาชิกพรรค ทำให้ภาพฉายชัดถึงโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างพรรค “เพื่อไทย” และ “ไทยรักษาชาติ” ได้เป็นอย่างดี

เพราะบุคลากรที่มูฟจากพรรค “เพื่อไทย” ไปอยู่กับ “ไทยรักษาชาติ” ล้วนเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา และอยู่ในระดับยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ที่มีรากเดิมมาจาก “พรรคไทยรักไทย” ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น “จาตุรนต์ ฉายแสง” “พิชัย นริพทะพันธุ์” “สุนีย์ เหลืองวิจิตร” “นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด” “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ฯลฯ

ซ้ำยังฉายภาพชัดเข้าไปอีก เมื่อมองลงไปถึงทีมงานฝ่ายปลุกปั้นพรรคที่ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ

ไม่ว่าจะเป็น “วิม รุ่งวัฒนจินดา” อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“สุทิษา ประทุมกุล” เลขาฯ มือขวาในฝ่ายการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

หรือแม้แต่ “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” หลานสาวคนสนิทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แม้แต่หัวหน้าพรรคอย่าง “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” ก็เป็นอดีต ส.ส.ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอันมาก

“ไทยรักษาชาติ” จึงมีอีกนิกเนมหนึ่งคือ “พรรคน้อง”

ซึ่ง “น้อง” ในที่นี้คือ “น้องของทักษิณ ชินวัตร” และ “น้องของพรรคเพื่อไทย” นั่นเอง

การแตกพรรคครั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการแก้เกมรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหวังให้พรรคใหญ่คะแนน “ตัน” จนไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกต่อไป

แถมยังสอดแทรกประเด็นที่ให้อำนาจ ส.ว.จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งหมด มีสิทธิ์ร่วมยกมือโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย

ดังนั้น เท่ากับว่า คะแนนตัน ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวก็ไม่ได้ และแม้จะชนะแต่หากคะแนนน้อยกว่า ส.ว. ก็ปิดประตูที่จะได้นายกฯ จากฟากฝั่งที่ชนะอีก

การหาแนวร่วมรวมกลุ่มกันสู้จึงต้องเกิดขึ้น

แต่จะไว้ใจใครได้

ในเมื่อเกมการเมืองเปลี่ยนได้ตลอด ขึ้นอยู่กับดีลและกำลังจ่าย การแตกบ้าน ให้ได้น้องโต แต่ไม่ตีกันเอง จึงน่าจะดีกว่าการไปรอจับมือกับคนที่เดาทางกันไม่ได้

เพราะหากคำนวณคะแนนเมื่อเทียบกับตัวเลขของผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่กาให้พรรคเพื่อไทยดูแล้ว หากเพื่อไทยชนะเขตทั้งหมด 250 เขต หรือชนะแค่ 200 เขต เพื่อไทยแทบจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยสักชื่อเดียว

“ไทยรักษาชาติ” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้

นั่นคือไปเอา ส.ส.เขตมาได้ก็ดี แต่ถ้าพ่าย คะแนนของคนที่แพ้จะถูกนำมารวมกันทั้งหมดแล้วคิดเป็นจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

หากพรรค ทษช.ส่ง 150 เขต ได้คะแนนมาเขตละ 10,000-20,000 คะแนน รวมกันแล้วหารจำนวน ส.ส.ที่พึงมี (ซึ่งประเมินไว้ที่ตัวเลข 70,000) จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20-40 ที่นั่งแล้ว

เท่ากับ 2 พรรคพี่น้องจะได้ ส.ส.รวมกันแล้วประมาณ 250-270 ที่นั่ง

เมื่อนำไปรวมกับพรรคพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตย เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคอนาคตใหม่แล้ว อาจจะพอมีหวังที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

และได้นายกฯ จากฝั่งประชาธิปไตยได้

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงตัวเลขที่เกิดจากการ “คาดการณ์” และการ “คาดหวัง” เท่านั้น

เพราะเวลานี้ตัวเลขจากโพลสำรวจทั้งของส่วนกลางและของพรรคเอง พรรคไทยรักษาชาติยังน่าเป็นห่วง

เพราะการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อพรรคน้อยเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้

ดังนั้น หากจะทำภารกิจให้สำเร็จ จะต้องปรับแผนการรบ

ดังนั้น นโยบายที่ได้เห็นจากทั้ง 2 พรรคจึงไม่ต่างอะไรกับ “นโยบายฝาแฝด” ที่เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด หมดเวลาของรถถังและเผด็จการเหมือนกัน

ไปจนถึงแนวคิดที่จะต่อยอดความสำเร็จของพรรคแม่อย่างพรรคไทยรักไทยเหมือนกันอีก

ตัวผู้นำของพรรคก็เช่นกัน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ ต่างเลือกชู “เลือดไทยรักไทย”

จริงอยู่ที่พรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ ครบ 3 รายชื่อ

แต่คนที่ถูกกำหนดให้สปอตไลต์ส่องลงมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ยี่ห้อไทยรักไทยแท้

ในขณะเดียวกันฝั่งพรรคไทยรักษาชาติ แม้จะมีหัวหน้ารุ่นใหม่อย่าง “ป๋อม ปรีชาพล” เลือดเนื้อเชื้อไขเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่สปอตไลต์และทิศทางการขับเคลื่อนพรรคกลับจับโฟกัสที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอีกคนหนึ่งนอกเหนือจากนายทักษิณ ชินวัตร

เป็นยุทธศาสตร์ดึงภาพจำความสำเร็จของยุคไทยรักไทยมาฉายให้ประชาชนเชื่อมั่นแล้วตัดสินใจเลือกคนกลุ่มนี้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจอีกครั้ง

การขยับเคลื่อนไหวของพรรค “เพื่อไทย” และพรรค “ไทยรักษาชาติ” สอดประสานกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูจากการส่งตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบเขต

โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่มีทั้งหมด 30 เขต พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครทั้งสิ้น 22 เขต ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ ส่งเพียง 8 เขต

ซึ่งแต่ละเขตที่ส่งไม่มีการส่งชนกันเลยแม้แต่เขตเดียว เป็นการหลีกหลบกันอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ภาพใหญ่ที่ทำให้เห็นชัดขึ้นคือ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับ 1 ของประเทศส่ง ส.ส.ไม่ครบทุกเขต โดยเลือกส่งเพียง 250 เขต ซึ่งเป็น 250 เขตที่เป็นแชมป์เก่า หรือเป็นคนมีสิทธิ์ได้รับชัยชนะสูงในสนามเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น

ในขณะที่พรรคน้องใหม่อย่างไทยรักษาชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ส.เพียง 121 เขต

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยตีแตกได้เลยในสนามการเลือกตั้ง เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ กทม. อีสานบางเขต

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ยินข่าวว่า ล่าสุดกรรมการสรรหาของพรรคไทยรักษาชาติออกโรงไล่เคาะประตูบ้านผู้สมัคร เรียกมาเซ็นสมัครเพิ่มอีกประมาณ 58 เขต เป็น 171 เขต เพราะประเมินแล้วว่า หากส่งน้อยกว่า 150 เขต คะแนนที่จะนำมาคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คงได้น้อยไม่ถึง 25 ชื่อที่พอจะเสนอชื่อนายกฯ ในส่วนของพรรค ทษช.ได้

เท่ากับว่างานนี้พรรคพี่ พรรคน้อง จะต้องชนกันอยู่ที่ประมาณ 80 เขต

ซึ่งภาคเหนือไม่มีการส่งชนกันเลย

ในขณะที่ภาคอีสานส่งชนในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเขตที่มีในภาค

แต่ที่ชนกันแหลกคือพื้นที่ภาคใต้ที่ขอชนแล้วขอชนอีกจนทำเอานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเพื่อไทยที่คุมบัญชีภาคใต้อยู่ถึงกับฉุนหนัก เกือบแตกหักกับพรรคไปยกหนึ่ง

แต่แน่นอน เมื่อมีเหตุอันจำเป็นที่ทำให้ต้องชนเพื่อเอาคะแนน ก็ต้องยอมชน

จากนี้คือการจับตามองความเคลื่อนไหวของพรรคไทยรักษาชาติ ว่าจะขับเคลื่อนพรรคอย่างไรให้ได้แต้มตามเป้าที่วางไว้ ที่เห็นตอนนี้คือ

1. ดึงคนเก่าเลือกเพื่อไทยมาทำงาน

2. ขายยี่ห้อไทยรักไทยอย่างเต็มขั้น

และ 3. หยิบยกเอาแนวคิด “เทคซิโนมิกส์” มาเป็นนโยบายหาเสียง

จากนี้คงต้องติดตามยุทธศาสตร์ตีเมือง หรือการจัดทัพลงพื้นที่ขอคะแนนจากประชาชนในระดับที่ลึกลงไปกว่าเดิม

รวมถึงกลยุทธ์สร้างกระแส เรียกคะแนนที่ยังไม่มีออกมาให้เห็น

และที่สำคัญที่สุด ทุกสายตาคงต้องเพ่งมองไปที่ชื่อแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคไทยรักษาชาติ ที่จะยื่นต่อ กกต.วันที่ 8 กุมภาพันธ์ จะมีอะไรเซอร์ไพรส์หรือไม่