ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง! ปัญหาฝุ่น “PM 2.5” ไม่แก้วันนี้ เตรียมตัวอายุสั้นได้เลย!!

ปัญหามลพิษทางอากาศหรือค่าฝุ่นละออง “PM 2.5” เกินมาตรฐาน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่คนไทยต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ มีสาเหตุเกิดจากมนุษย์อย่างเราๆ ที่ร่วมกันสร้างมันขึ้นมานานแล้ว แต่เราอาจจะเพิ่งรู้ว่ามันได้กัดกินอายุขัยของเรามาอย่างต่อเนื่อง

หลายคนสงสัยว่า PM 2.5 คืออะไร? ทำไมเราถึงเพิ่งรู้จัก

ประเด็นนี้ “รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์” อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายว่า ในอดีต การรายงานสภาพอากาศของบ้านเราไม่ได้รวมค่าฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเข้าไปด้วย

แต่ต่อมามีหน่วยงานเอกชนและเว็บไซต์ต่างชาติได้รายงานสภาพอากาศของบ้านเราว่ามีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน จึงเกิดการตื่นตัวขึ้น

จากนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงเพิ่มสถานีตรวจอากาศกว่า 40 แห่ง และบวกค่า PM 2.5 เข้าไปในการคำนวณ

โดยมาตรฐานของค่า PM 2.5 จะต้องมีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ผลสำรวจล่าสุด ปรากฏว่าค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนกลายมาเป็นปัญหาระดับชาติและประเด็นดราม่าตั้งแต่ปลายปี 2560

รศ.ดร.วีรชัยกล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้นมีขนาดเล็กมากๆ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

ยกตัวอย่างง่ายๆ PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เมื่อเราสูดเข้าไป มันจะเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน แล้วไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย กระทั่งเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังหลายชนิด และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง

ทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

สําหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงนี้ รศ.ดร.วีรชัยเห็นว่าอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงปลายปีถึงช่วงต้นปีอย่างเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ซึ่งเรียกว่าช่วง “3 เดือนอันตราย”

เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ความกดอากาศสูงมาเจอกับลมร้อนทางภาคใต้ แล้วมาอยู่ช่วงกรุงเทพมหานครพอดี ถ้าโชคดีมีฝนตกลงมา มีการเคลื่อนไหวของอากาศ ฝุ่นเหล่านี้ก็จะมีสภาพเจือจางลงบ้าง

และหากย้อนกลับไปดูสถิติการตรวจวัดสภาพอากาศในหลายพื้นที่ จะพบว่าในช่วงฤดูฝนหรือฤดูร้อน ค่า PM 2.5 จะต่ำกว่าในช่วงฤดูหนาว

สันนิษฐานได้ว่าในช่วง “3 เดือนอันตราย” ของปีก่อนๆ ก็อาจจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานขึ้น เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง

แต่ปีนี้สภาพอากาศกลับฟ้องผ่านสายตาของประชาชนที่ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วเจอหมอกที่ไม่ชื้น แต่เป็นหมอกแห้งๆ สูดเข้าไปแล้วระคายคอ รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

นี่คือผลจากมลพิษทางอากาศอย่างชัดเจน

รศ.ดร.วีรชัยบอกอีกว่า สาเหตุการเกิดฝุ่นละอองที่ส่งผลต่อสุขภาพของพวกเรา หรือการสร้างมลพิษทางอากาศ ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ความไม่รับผิดชอบต่อสังคม ความไร้ระเบียบวินัย และการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน

หากผนวกกับจำนวนรถยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้เชื้อเพลิงก็มากขึ้นตามไปด้วย คนที่ได้รับผลเต็มๆ ในอนาคตย่อมเป็นลูกหลานของเราเอง

ส่วนวิธีป้องกันตัวเอง หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งก็ขอให้ประชาชนสวมใส่หน้ากาก แม้หน้ากากที่ใช้จะป้องกันฝุ่นได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าก็ยังผ่อนหนักเป็นเบาได้

โดยหน้ากากที่ใช้ได้ก็จะมีตั้งแต่ “N 95” คือมาตรฐานที่ป้องกันได้ตั้งแต่ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ถ้าหาหน้ากากชนิดดังกล่าวไม่ได้ก็สามารถใช้หน้ากากที่มีผงถ่านกัมมันต์ หรือ “activated charcoal” ที่เป็นถ่านสีดำฉาบอยู่

เนื่องจากว่าอนุภาคของ PM 2.5 จะมีไฟฟ้าสถิต ส่วนตัวผงถ่านคาร์บอนก็มีไฟฟ้าสถิตเหมือนกัน ทั้งสองอย่างจึงดูดจับกันได้

แต่ถ้าหาหน้ากากไม่ได้เลย ก็สามารถใช้ผ้าชุบน้ำช่วยในระยะสั้น เพราะน้ำเป็นสารที่มีขั้วนำไฟฟ้า ซึ่งมีประจุจับ PM 2.5 เช่นกัน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่พวกเราร่วมกันก่อขึ้น ตอนนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแรงร่วมใจหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เช่น กรุงเทพมหานครใช้น้ำฉีดพ่นในพื้นที่ต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการบรรเทา สามารถดักฝุ่นละอองขนาดใหญ่ได้ดี แต่ฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 จะต้องใช้น้ำแรงดันสูงฉีดขึ้นไปบนท้องฟ้าให้สูงกว่า 100 เมตร พอที่จะทำให้ละอองน้ำแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ และไปจับตัว PM 2.5 ได้

จากงานวิจัยพบว่าวิธีนี้สามารถดักจับฝุ่นได้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ และถ้าฝนตกก็จะช่วยบรรเทาลงได้อีกเนื่องจากมีสภาพอากาศที่เคลื่อนไหว

รศ.ดร.วีรชัยแนะนำว่า เรื่องใกล้ตัวที่สุดที่พวกเราสามารถทำได้ในฐานะประชาชนก็คือ

หนึ่ง ลดการเผาไหม้ต่างๆ หรือการเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การย่างอาหาร การปิ้งย่าง เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด PM 2.5

แม้กระทั่งประเด็นที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “หมูกระทะ” ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า การเผาไหม้ลักษณะนั้นจะสร้าง PM 2.5 สูงกว่ารถยนต์ถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกตัวว่า ไม่อยากจะพูดถึงกรณีดังกล่าวมากนัก เพราะเป็นเรื่องอาหารการกิน เป็นเรื่องปากท้องของคนที่จะต้องทำมาหากิน แต่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน เกาหลีใต้ ก็จะมีการรณรงค์เรื่องนี้ ว่าขอให้ใช้เตาไร้ควัน หรือเตาไฟฟ้า

สำหรับบ้านเรา พอรณรงค์แนวทางนี้ไม่ได้ผล ก็ต้องกลับมาที่อีกหนึ่งมูลเหตุสำคัญในการก่อมลพิษของกรุงเทพมหานคร นั่นคือการจราจร

ด้วยเหตุนี้ ข้อสองที่ประชาชนอย่างเราๆ จะทำได้จึงได้แก่การตรวจสอบสภาพรถยนต์ของตัวเองที่นำออกมาขับขี่บนท้องถนน ว่าเครื่องยนต์มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์หรือไม่ ถ้ารถที่เครื่องฟิตมากๆ เวลาสตาร์ตเครื่องทิ้งไว้ 10 นาที จะมีหยดน้ำออกมาจากปลายท่อไอเสีย นั่นคือการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

แต่ถ้าสตาร์ตรถไปแล้ว ท่อไอเสียแห้งๆ แม้จะไม่มีควันดำ แต่ก็อาจมีมลพิษที่มองไม่เห็นออกมาด้วย

ขณะที่ข้อสาม เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะต้องควบคุมดูแลภาคอุตสาหกรรมให้เข้มงวดมากขึ้น

รศ.ดร.วีรชัยยังเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาระยะยาวในส่วนของภาครัฐว่า ขอให้ลดการเรียกเก็บภาษีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหรือ E-Car (electric car) เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยานพาหนะประเภทนี้

พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมตอนนี้จึงมีเฉพาะคนรวยที่ได้สิทธิเข้าถึงรถยนต์ระบบไฟฟ้า เช่นเดียวกับการที่บ้านเรามีแดดเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แต่ประชาชนไม่สามารถติดแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าให้ตนเองได้

สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรบางอย่างแอบแฝงอยู่หรือไม่? อย่างไรก็ตาม นั่นคือผลประโยชน์เรื่องเงินเรื่องทอง ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์เรื่องสุขภาพของทุกคน

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีรชัยยังยกตัวอย่างการแก้ปัญหามลพิษในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ว่า จีนมีการลงทุนสร้างเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นหอที่มีความสูงประมาณ 100 เมตร สามารถช่วยกรองอากาศเสียและพ่นอากาศดีออกมาแทน

โดยรัฐจะติดตั้งเครื่องกรองอากาศลักษณะนี้ในจุดต่างๆ นอกจากนั้น เมื่อเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ทางการก็จะสั่งระงับการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยอมรับว่าที่ยกตัวอย่างนี้ ก็เพื่อต้องการจะบอกว่าคนที่มีอำนาจและสามารถสั่งการแก้ปัญหาได้โดยเด็ดขาดคือภาครัฐนั่นเอง

เพราะท้ายสุดแล้ว รัฐบาลก็เป็นมนุษย์ ประชาชนก็เป็นมนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศมีผลต่อทุกคน ไม่เลือกว่าคุณเป็นใคร ไม่เลือกว่าคุณรวยแค่ไหน หรือทำอาชีพอะไร ทุกคนได้รับผลกระทบเท่ากันหมด

และโดยส่วนตัว รศ.ดร.วีรชัยเห็นว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเข้าขั้น “วิกฤต” แล้วต่อตัวเรา เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ส่วนภาครัฐก็ต้องมีมาตรการแก้ไข และป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างเข้มงวด

นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้หวังว่าในปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะไม่เกิดปรากฏการณ์ใส่หน้ากากทั่วบ้านทั่วเมืองดังเช่นปีนี้อีก

เพราะถ้าปีหน้าสถานการณ์ PM 2.5 ยังคงดำเนินไปในลักษณะนี้ ค่ามาตรฐานทางอากาศหรือค่าฝุ่นละอองยังสูงแบบนี้ คนไทยก็เตรียมตัวอายุสั้นได้เลย

“ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าอาจเป็นการเผาจริง!” คือคำเตือนจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์