วรศักดิ์ มหัทธโนบล : บทเรียนจากการล่มสลายของจักรวรรดิและอำนาจราชวงศ์อันไม่แน่นอน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิที่สั่นคลอน (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นที่แน่ชัดว่าศาสนาพุทธรุ่งเรืองในยุคนี้ก็จริง แต่หลักฐานที่บ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองที่ว่าได้ดีก็คือ ถ้ำหินอวิ๋นกังและถ้ำหินหลงเหมิน ถ้ำหินอวิ๋นกังอยู่ที่เมืองต้าถงในมณฑลซันซี ส่วนถ้ำหินหลงเหมินอยู่ที่เมืองลว่อหยังในมณฑลเหอหนัน

ถ้ำหินทั้งสองนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของเป่ยเว่ย ทั้งข้อความในจารึก ประติมากรรม และจิตรกรรมในถ้ำหินทั้งสองทำให้รู้ถึงความเชื่อในศาสนาพุทธของผู้คนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

โดยในส่วนของจารึกนั้นนอกจากจะเป็นของวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ และภิกษุแล้ว ก็ยังมีที่เป็นของสมาคมศาสนาและราษฎรทั่วไปอีกด้วย

ในจารึกทำให้เรารู้ว่า ประติมากรรมและจิตรกรรมในถ้ำหินทั้งสองนี้เกิดจากการร่วมกันบริจาคของบุคคลเหล่านี้ ที่ต่างก็ถือกันว่าเป็นการบริจาคที่เป็นบุญกุศล

แต่ก็เห็นได้ในขณะเดียวกันด้วยว่า ต่างก็เป็นคำขอพรมากกว่าการตั้งคำถามในเชิงปรัชญาหรือหลักธรรมคำสอน

ผู้คนในสมัยนั้นมองพระพุทธองค์ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นผู้ที่มาโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ และนำพาสัตว์โลกไปยังแดนนิพพาน

นอกจากนี้ ถ้อยคำในจารึกส่วนใหญ่ยังมีที่เป็นคำอุทิศให้แก่ราชวงศ์

ส่วนพรที่ขอมักจะเป็นการขอให้บุพการีของตนได้รับการโปรดจากพระพุทธองค์ และขอให้พวกเขาได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์

จารึกบางที่ก็แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาในบุญ เพื่อที่จะได้ไปเกิดในสวรรค์ของอมิตาภพุทธเจ้า

บางที่ก็เป็นการขอบพระทัยพระพุทธองค์ที่ทรงบันดาลให้คำขอพรกลายเป็นจริง (เช่น การขอลูกชายหรือการหายจากการป่วยไข้) บางที่ก็เป็นการขอให้ได้ประโยชน์หรือวัตถุต่างๆ ที่ตนต้องการ

ข้อความจารึกเหล่านี้ยังได้ระบุถึงชื่อของผู้บริจาคทั้งชายและหญิง และผู้นำที่เป็นภิกษุกับภิกษุณีคนสำคัญที่จาริกไปยังชนบทเพื่อเผยแผ่ศาสนาด้วย

ท่าทีและทัศนะต่อศาสนาพุทธจากที่กล่าวมานี้จึงมีพื้นฐานที่แนบแน่นกับนิกายมหายาน

และด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่พระพุทธเจ้าจะถูกปฏิบัติดุจดั่งเทพเจ้า

การที่ลัทธิเต้าและศาสนาพุทธรุ่งเรืองในยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ทำให้เห็นว่า ถึงแม้ลัทธิขงจื่อจะถูกวางรากฐานมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นแล้วก็ตาม แต่รากฐานนี้ก็เสื่อมลงได้ก็เพราะชนชั้นนำไม่ถือเคร่งในลัทธินี้

การไม่ถือเคร่งเช่นนี้ย่อมทำให้ราษฎรสิ้นความนับถือในลัทธินี้ไปด้วย

จากเหตุนี้ ลัทธิเต้ากับศาสนาพุทธจึงเข้ามาเป็นความหวังแทนที่

ความรุ่งเรืองของสองลัทธิและศาสนาในยุคนี้นับเป็นบทเรียนที่สำคัญให้แก่ยุคต่อมา อันเป็นยุคที่หากไม่นำลัทธิขงจื่อให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นยุคที่ยกย่องลัทธิขงจื่อแต่ก็ไม่กีดกันทำลายลัทธิเต้าหรือศาสนาพุทธ

ถึงแม้ว่าในบั้นปลายแล้วลัทธิขงจื่อจะคงความสำคัญให้แก่จักรวรรดิจีนอีกยาวนานก็ตาม

 

ความลงท้าย

สิ่งที่งานศึกษาในบทนี้ได้ให้ข้อสรุปแก่เราในเบื้องต้นสุดก็คือ การล่มสลายของราชวงศ์หนึ่งใดของจีนจะมีอยู่สองลักษณะ

ลักษณะหนึ่งคือ ล่มสลายในชั่วเวลาไม่กี่ปีแล้วถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ใหม่

อีกลักษณะหนึ่งคือ ล่มสลายโดยทอดเวลายาวนานนับสิบปีกว่าที่จะมีราชวงศ์ใหม่มาแทนที่

ลักษณะแรกเห็นได้จากราชวงศ์ฉินที่ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ฮั่น ส่วนลักษณะหลังเห็นได้จากราชวงศ์โจวผ่านยุควสันตสารท (ชุนชิว) และยุครัฐศึก (จั้นกว๋อ) มาก่อน ซึ่งทอดเวลานับร้อยปีกว่าที่จะล่มสลายลงแล้วถูกแทนที่โดยราชวงศ์ฉิน

กล่าวสำหรับราชวงศ์ฮั่นนับเป็นกรณีที่อยู่ในลักษณะหลัง และตอกย้ำว่า การทอดเวลานานนับสิบปีก่อนจะล่มสลายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับราชวงศ์ของจีน และความหมายที่ลึกซึ้งก็คือ แม้จะเป็นความจริงที่ว่าราชวงศ์นั้นยังมิได้ล่มสลายโดยนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วการคงอยู่ของราชวงศ์ก็แทบจะไร้ความหมาย เพราะเป็นการคงอยู่โดยไร้อำนาจที่แท้จริง

แต่กระนั้น สิ่งที่งานศึกษาในบทนี้ชี้ให้เห็นอย่างแตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้นก็คือ การที่ราชวงศ์จิ้นก้าวขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์ฮั่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วการดำรงอยู่โดยไร้เสถียรภาพของจิ้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

การดำรงอยู่เช่นนี้มีความขัดแย้งในตัวของมันเอง คือด้านหนึ่งทำให้เห็นว่าจักรวรรดิจีนยังคงยืนต่อมาได้

แต่อีกด้านหนึ่งก็เห็นได้ด้วยว่าที่ยืนอยู่ได้นั้นเป็นการยืนอยู่ท่ามกลางศัตรูที่รายล้อมมากมาย ศัตรูเหล่านี้ไม่เพียงจะมีที่มาจากภายนอก หากแม้ภายในก็มีอยู่ไม่น้อย และศัตรูทั้งภายนอกกับภายในนี้ต่างก็มีภูมิหลังและที่มาที่ไปโดยตัวของมันเอง หาได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ โดยไร้สาเหตุไม่

หากเป็นศัตรูจากภายนอกแล้วโดยหลักก็คือชนชาติที่มิใช่ฮั่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ เพราะศัตรูกลุ่มนี้ดำรงอยู่คู่กับจีนมาก่อนหน้านี้ช้านานแล้ว ที่จะเป็นศัตรูอีกกี่ครั้งกี่สมัยก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

แต่กับศัตรูภายในแล้ว ในบทนี้แม้จะทำให้เราเห็นตัวแสดงเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็ตาม (โดยเฉพาะวงศานุวงศ์ฝ่ายมเหสีหรือราชชนนีและขันที) แต่ที่พิสดารต่างออกไปก็คือตัวแสดงที่เป็นขุนศึก

ที่ว่าพิสดารไม่ใช่เพราะเป็นตัวแสดงใหม่ (เพราะก่อนหน้านี้ขุนศึกก็เคยมีบทบาททางการเมืองมาแล้ว)

หากแต่เป็นเพราะในยุคนี้ขุนศึกกลับมีบทบาทโดดเด่นมากกว่ายุคก่อนหน้านี้ ความโดดเด่นที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นในหลายด้านด้วยกัน

เช่น จำนวนขุนศึกที่มีบทบาทโดดเด่นนี้มีอยู่นับสิบคน ขุนศึกเหล่านี้ต่างก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิหรือราชวงศ์ หรือขุนศึกเหล่านี้มีทั้งที่เป็นชนชาติฮั่นและชนชาติที่มิใช่ฮั่น เป็นต้น

ความพิสดารหรือแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าเช่นนี้จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่าลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม

 

ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงปลายฮั่นสมัยหลัง (ฮั่นตะวันออก) เมื่อมีขุนศึกกลุ่มหนึ่งเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิที่อ่อนแอ

หลังจากนั้นการเข้ามาใช้อำนาจเช่นนี้ก็เกิดขึ้นโดยทั่ว จนเมื่อฮั่นสมัยหลังล่มสลายลงแล้วจึงเกิดเป็นยุคสามรัฐ

และเมื่อยุคสามรัฐจบลงโดยถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์จิ้น การเกิดของจิ้นก็มีพื้นฐานมาจากขุนศึก

โดยระหว่างที่จิ้นตั้งอยู่มาได้นั้น บทบาทของขุนศึกในรัฐต่างๆ ก็ยังหาได้ยุติลงไม่ ตรงกันข้ามมันกลับขยายไปยังชนชาติที่มิใช่ฮั่นอีกด้วย ซึ่งก็คือยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ ครั้นราชวงศ์จิ้นล่มสลายลงบทบาทเช่นว่าของขุนศึกก็ดำรงอยู่ในรูปของยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมนับจากยุคสามรัฐจนถึงยุคราชวงศ์ใต้-เหนือสิ้นสุดลงยาวนานถึง 360 ปี และทำให้จักรวรรดิจีนในนามของราชวงศ์จิ้นตั้งอยู่อย่างไร้เสถียรภาพ ถึงแม้ราชวงศ์นี้จะมีอายุประมาณ 155 ปีก็ตาม

 

นอกจากประเด็นลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมแล้ว ประเด็นที่ควรกล่าวต่อมาก็คือ ข้ออ้างของเหล่าขุนศึกที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งก็คือข้ออ้างที่ว่าเข้ามาปราบกบฏ กรณีการเกิดขึ้นของกบฏนี้ก็ถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เป็นมิติใหม่เช่นกัน

กล่าวคือ อาจนับเป็นครั้งแรกของจักรวรรดิจีนก็ว่าได้ที่กบฏที่เกิดขึ้นนี้สมาทานลัทธิเต้า และเพื่อให้ความเชื่อนี้ดูขลังและจูงใจผู้คนให้เข้าร่วม ผู้นำกบฏจึงใช้สิ่งที่เหนือจริงมาโน้มน้าวเหล่าสมาชิก โดยที่หากสกัดเอาสาระที่แฝงอยู่ในความเหนือจริงแล้วก็จะพบว่า สาระนั้นก็คือดินแดนในอุดมคติที่อบอวลไปด้วยสันติสุขและสันติธรรม

สาระนี้ทำให้ลัทธิเต้ามีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในยุคนี้

ส่วนอีกความคิดความเชื่อหนึ่งที่มีบทบาทในยุคนี้ก็คือศาสนาพุทธ ความคิดความเชื่อชุดนี้มิได้ถูกอ้างเพื่อก่อกบฏ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่แฝงอยู่ในหลักการปกครอง โดยชนชั้นปกครองที่ใช้มีทั้งชนชาติฮั่นกับชนชาติที่มิใช่ฮั่น และใช้ในระดับที่แตกต่างกันไป จะมีเหมือนกันก็ตรงที่ต่างใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนทั้งในภพนี้และภพหน้า มิได้ใช้ในแง่ที่เข้าถึงหลักธรรมคำสอนอันมุ่งสู่นิพพาน

และทั้งหมดนี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคที่ลัทธิเต้าและศาสนาพุทธรุ่งเรืองมากยุคหนึ่ง

 

ประเด็นสุดท้ายคือ การศึกษาในบทนี้ได้ทำให้เห็นว่า ยุคนี้เป็นยุคแรกๆ อีกเช่นกันที่ได้ปรากฏบทบาททางการเมืองของชนชาติที่มิใช่ฮั่น

บทบาทนี้มีความโดดเด่นกว่ายุคก่อนหน้านี้ ที่แม้จะเป็นศัตรูกับชนชาติฮั่นและมิอาจสั่นคลอนจักรวรรดิจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ

แต่กับยุคนี้แล้วชนชาติที่มิใช่ฮั่นกลับสามารถทำให้จักรวรรดิจีนตั้งอยู่อย่างไร้เสถียรภาพ คือตั้งอยู่ได้โดยที่มิได้มีอำนาจเยี่ยงที่จักรวรรดิพึงมี

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกด้วยว่า การที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นมีอิทธิพลมากเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ชนชั้นปกครองของชนชาติเหล่านี้ทำราชวงศ์ของตนให้เป็นจีนหรือจีนาภิวัตน์

การทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะเห็นประโยชน์ที่วัฒนธรรมจีนมีในการปกครอง

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่า รัฐที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นตั้งตนเป็นใหญ่นั้นต่างมีชนชาติฮั่นอาศัยอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น

จีนาภิวัตน์ที่ชนชาติเหล่านี้ใช้ส่วนหนึ่งจึงอาจมาจากการเล็งเห็นผลเช่นนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จีนาภิวัตน์ของชนชั้นปกครองที่มิใช่ชนชาติฮั่นแม้จะเกิดขึ้นกับบางคนบางกลุ่มก็จริง แต่ปรากฏการณ์นี้ต่อมาจะได้กลายเป็นโจทย์สำคัญให้แก่ชนชาติเหล่านี้ ว่าหากตนจะครอบครองจักรวรรดิจีนให้มีเสถียรภาพแล้ว ตนควรใช้วัฒนธรรมเดิมของตนหรือของฮั่น ในขณะที่ฮั่นคือชนชาติส่วนใหญ่ของจักรวรรดิ

จากที่สรุปมานี้ทำให้เราเห็นภาพรวมได้ประการหนึ่งคือ ภาวะที่จักรวรรดิไร้เสถียรภาพดังเห็นได้ในกรณีราชวงศ์จิ้นก็ดี การเกิดขึ้นของลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมก็ดี การผงาดขึ้นของชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็ดี หรือการเข้ามามีบทบาทของลัทธิเต้าและศาสนาพุทธก็ดี ทั้งหมดนี้ถูกประมวลเรียงร้อยเข้าเป็นภาพภาพเดียว

และทำให้เห็นว่า การที่จักรวรรดิตั้งอยู่ด้วยความสั่นคลอนนั้นก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน