“ทิม พิธา” ชี้วัฒนธรรม “ปิตาธิปไตย” ปิดกั้นเยาวชนมีส่วนร่วม

วันที่ 22 มกราคม 2562 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษานโยบายด้านการเกษตรพรรคอนาคตใหม่ ร่วงวงเสวนาวิชาการ Bangkok International Student Conference 2019 ในหัวข้อ “Youth Engagement in Politics” (การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการเมือง) ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมกับตัวแทนเยาวชนจากพรรคการเมืองต่างๆ

โดยนายพิธาระบุว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เยาวชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนับรวมได้ประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งหากนำสัดส่วนนี้เข้าไปอยู่ในสภา จะสามารถนับได้เป็น 12% ของผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งสามารถเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับประเทศได้ ในแง่นี้ เยาวชนจึงถือเป็นพลังสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ประเทศในอนาคต แต่ปัญหาที่ผ่านมาของประเทศไทย คือการอยู่ภายใต้รูปแบบของการเมือง “ปิตาธิปไตย” ซึ่งกีดกันสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเฉพาะของเยาวชน ออกจากการตัดสินใจต่างๆ และฝังลึกลงในวัฒนธรรมผ่านการสั่งสอนให้เยาวชนต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ และให้หลีกเลี่ยงจากการโต้เถียงหรือมีส่วนร่วมโดยใช้เหตุผล

“สิ่งที่เยาวชนไทยทุกคนถูกสอนเป็นอย่างแรกๆคือการเชื่อฟัง มากกว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆผ่านการใช้เหตุผล สิ่งนี้คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้สังคมไทยขาดการมีส่วนร่วมจากเยาวชน” นายพิธา กล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน นายพิธาเห็นว่าเยาวชนเองก็ต้องมีความตระหนักรู้ด้วยเช่นกัน ว่าตนเป็นหนึ่งในพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะหากเยาวชนไม่ยอมเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคม และมีความรู้สึกว่าต้องร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เสรีภาพของเยาวชนก็จะถูกกีดกันในลักษณะเดียวกันต่อไป

“ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องของเสรีภาพและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะในครอบครัว ห้องเรียน สังคม หรือประเทศชาติ สังคมไม่สามารถเดินไปได้หากมีคนอยู่กลุ่มเดียวที่มีส่วนรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง หากเราต้องทำงานกลุ่มร่วมกัน แต่มีคนอยู่แค่คนเดียวที่รับผิดชอบงานนี้ กลุ่มนั้นคือกลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จและจะล่มสลายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นเยาวชนทุกคนควรตระหนักว่าคุณเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องมีส่วนร่วมในสังคมนี้ มีปากมีเสียง แสดงฉันทามติออกมา” นายพิธากล่าว