เปิดปมไฟใต้ระอุซ้ำ! จากถล่ม‘โต๊ะอิหม่าม’ คาร์บอมบ์-บึ้ม3จว. ชี้ผลกดดันบีอาร์เอ็น

ยังคงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไข สำหรับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่แม้จะทุ่มเทงบประมาณ กำลังคนลงไปอย่างมหาศาล แต่สถานการณ์แทนที่จะสงบลง กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ก่อนหน้านี้จะมีความหวังเกิดขึ้น เมื่อมีความพยายามที่จะเข้าใจปัญหา และเดินหน้าเปิดโต๊ะเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ

เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง

ดังที่เกิดขึ้นด้วยข้อตกลงว่าไม่ก่อเหตุเป้าหมายอ่อนแอ และยกเว้นในช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์อย่างเดือนรอมฎอน

น่าเสียดายที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล แม้การเจรจาจะถูกยืนยันว่าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กลับไม่มีผลสัมฤทธิ์ใดๆ เป็นรูปธรรม!??

แถมยังเพิ่มระดับเป็นการลงมือในโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหว!??

กลายเป็นคำถามว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้เรามาถูกทางจริงหรือ

❐ ไฟใต้โชน–รัวยิงโต๊ะอิหม่าม
แม้เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นมานาน แต่ที่ช่วงนี้มีสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง หากพิจารณาแล้วก็มีจุดเริ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 โดยเมื่อเวลา 21.00 น. ขณะที่นายสะมาแอ เจะมะ อายุ 45 ปี โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านท่าราบ ม.1 ต.กะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำศาสนกิจเสร็จ และเดินออกจากมัสยิด

ก็ถูกกลุ่มคนร้าย 3 คนที่ซุ่มอยู่หลังกำแพงกุโบร์ข้างมัสยิด ใช้ปืนอาก้า และลูกซองยิงถล่มเข้าศีรษะและลำตัวหลายนัด เสียชีวิตคาที่

และยังจับมือใครดมไม่ได้ว่าเป็นฝีมือกลุ่มใดกันแน่!??

ขณะที่กลางดึกคืนวันเดียวกันก็เกิดเหตุวางระเบิดถังแก๊ส ถล่มรถตำรวจสภ.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ริมถนนเพชรเกษม บ้านบาตู หมู่ 6 ต.ปะลุกาสาเมาะ ส่งผลให้ ส.ต.อ.ยุทธพงศ์ นุ่ยแก้ว ผบ.หมู่งานป้องกันฯ สภ.ปะลุกาสาเมาะ เสียชีวิต และมีตำรวจบาดเจ็บอีก 4 นาย

ต่อด้วยคืนวันที่ 26 ธ.ค. เกิดเหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือกทอง และรูปปั้นหนูกับแมว 2 จุด ที่หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา และระเบิดเสาไฟฟ้าอีกหลายจุดใน อ.ควนเนียง

ขณะที่วันที่ 28 ธ.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครอง ต.กาลิซา บ้านกะหนัวะ ม.5 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ยิงปะทะกันนานกว่า 30 นาทีจนล่าถอยไป ขณะที่ อ.จะแนะ ยังมีเหตุลอบวางระเบิดอีก 4 จุด ที่ อ.ศรีสาคร วางระเบิด 2 จุด เหตุการณ์ทั้ง 3 อำเภอมีผู้บาดเจ็บ 5 ราย

นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่านอกจากคนร้ายจะปาระเบิดถล่มฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครอง ต.กาลิซา ยังทุบรั้วอาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา และบุกเข้าไปคุมตัวเจ้าหน้าที่ 4 คน เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการบุกฐานปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. คนร้ายดักยิงนางกัญญารักษ์ ยศอักษร อายุ 59 ปี ขณะขี่จยย.กลับจากตลาดนัด ริมถนนสายโคกโพธิ์–ป่าบอน จ.ปัตตานี พร้อมทิ้งข้อความที่เขียนใต้ศพ ระบุว่า “จะทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่”

โดยช่วงค่ำคนร้ายวางระเบิดเสาไฟฟ้า และรางรถไฟ และเสาส่งสัญญาณมือถือ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย อ.ศรีสาคร อ.เจาะไอร้อง อ.รือเสาะ และ อ.ระแงะ รวม 5 จุด

เกิดขึ้นเป็นลำดับช่วงส่งท้ายปี

❐ คาร์บอมบ์–บุกยิงในโรงเรียน
เมื่อเริ่มปี 2562 สถานการณ์ความไม่ สงบก็ปะทุโชนขึ้นมาอีก คราวนี้ถึงขั้นใช้ คาร์บอมบ์

โดยเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 8 ม.ค. เกิดเหตุคนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องบรรจุถังแก๊ส 2 ถัง น้ำหนักรวม 50 ก.ก. ซุกในรถปิกอัพอีซูซุ ทะเบียนบพ 1331 สงขลา จอดทิ้งไว้ที่หน้าหน่วยเฉพาะกิจ ตชด.สงขลา อ.เทพา จ.สงขลา

แล้วกดระเบิดถล่ม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 6 นายประกอบด้วย ร.ต.ท.สมนึก แก้วหมุน ผบ.หมวด ตชด.43 ร.ต.อ.หญิง สินีนาถ คงพุทธ ร.ต.อ.หญิงยุภาพร ศิริมุสิกะ ร.ต.อ.หญิงศิรดา ริยาพันธ์ ส.ต.ท.หญิงอารีนา บินสมิน และ ส.ต.ท.หญิงรัตติกาล ดีชู

ตรวจสอบจากทะเบียนปิกอัพที่ทำคาร์บอมบ์ พบว่าเป็นของนายอมตะ สโมทานทวี อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการครู บ้านอยู่ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เมื่อรุดไปตรวจสอบพบว่านายอมตะถูกฆ่าแขวนคอ โดยคนร้ายบุกมาฆ่า แล้วชิงรถปิกอัพไปทำคาร์บอมบ์

นอกจากนี้ที่หน้าที่ทำการศึกษานอกโรงเรียน ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีคนร้ายลอบวางระเบิดซุกใต้โต๊ะหินอ่อน ส่งผลให้ ส.ต.ศราวุธ อะมะมูล ชุดรปภ.ครู สังกัดร้อยทพ.2201 ฉก.ทพ.ที่ 22 บาดเจ็บสาหัส

ต่อมาวันที่ 10 ม.ค. คนร้ายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่บุกเข้ามาในโรงเรียนบ้านบูโกะ ม.5 ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำทีคล้ายมาตรวจความเรียบร้อยในโรงเรียน ทักทายจนท.ต่างๆ แล้วใช้อาวุธสงครามกระหน่ำยิงนายสุไลมาน แวอุเซ็ง นายมูฮัมหมัด เต๊ะเด็ง นายอับดุลเลาะ สาและ และนายบือราเฮง จิ 4 อส.ที่ดูแลความเรียบร้อยในโรงเรียนเสียชีวิต

ก่อนชิงอาวุธปืนเอชเค 4 กระบอกหลบ หนีไป

กระทั่งวันที่ 12 ม.ค. กำลังเจ้าหน้าที่กว่าร้อยนาย บุกปิดล้อมบ้านพักใน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนจับนายอับดุลเลาะ เจ๊ะหลง และนายอับดุลเลาะ สาแม ทั้งคู่มีหมายจับในคดีความมั่นคง

ไม่เพียงแค่นั้น เที่ยงของวันที่ 13 ม.ค. คนร้าย 6 คน ขี่จักรยานยนต์ 3 คัน บุกใช้ปืนเอ็ม 16 อาก้า ปืนพกสั้น กราดยิงใส่ป้อมตำรวจทางเจ้าโรงพักสภ.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่งผลให้ ส.ต.อ.เฉลิมพล คมขำ เสียชีวิต คาดตอบโต้การจับตาย 2 ศพ

ขณะที่ช่วงค่ำวันที่ 13 ม.ค. คนร้ายบุกยิงนายวาริน แสงจันทร์ ว่าที่ผู้สมัครส.ส.พรรคพลังชาติไทย และนางรอกีเยาะ สะแปอิง ภรรยา เสียชีวิตในบ้านพัก อ.กาบัง จ.ยะลา ต่อหน้าลูกชายวัย 5 ขวบที่หนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ต่อมารุ่งเช้าวันที่ 18 ม.ค. คนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องหนัก 10 ก.ก. กดบึ้มเจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อยทพ.4814 ที่ริมถนนเลียบทางรถไฟสายโต๊ะเด็ง–เทศบาลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ส่งผลให้ทหารพรานที่ออกลาดตระเวนบาดเจ็บ 5 นาย

ส่วนที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าล้อมสวนยางพาราบ้านคือกอ พบชาย 5 คนผูกเปลสนาม และยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ จนเกิดการวิสามัญฯ คนร้ายตาย 1 คน ส่วนอีก 4 คนหลบหนีไปบนภูเขาได้สำเร็จ

ที่ริมถนนภายในหมู่บ้าน ม.4 บ.ท่ายาลอ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คนร้ายกดระเบิดถล่มชุดคุ้มครองครู 4 นาย 2 นายบาดเจ็บ ขาขาด

ทั้งหมดคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

❐ ชี้ปมกดดันพูดคุยเพิ่มรุนแรง
สำหรับสาเหตุของความรุนแรงที่คุโชนขึ้นมารอบใหม่ นายศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า น่าจะเกิดจากกระบวนการพูดคุย ที่มาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก และพยายามสร้างแรงกดดันให้ผู้นำบีอาร์เอ็นเข้าพูดคุย จึงตอบโต้แสดงความไม่พอใจ

การแก้ปัญหาจึงไม่ควรใช้การกดดันหรือบังคับให้เข้าร่วม เพื่อ ให้เกิดการเจรจาโดยสมัครใจ ลดความตึงเครียด ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่าย ไทยส่งสัญญาณได้ ว่าไม่ต้องการใช้กำลัง หรืออาจจะใช้วิธีแยกกลุ่มพูดคุย

ขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ บ.ก.เว็บไซต์ Deep South Watch ระบุว่า น่าจะมี 5 สาเหตุ 1.การปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยและโครงสร้างการทำงานของไทย รวมทั้งการกดดันให้บีอาร์เอ็นบางส่วนเข้าร่วมเจรจา

2.เหตุรุนแรงตามวงรอบปกติ ของลักษณะการโจมตีแบบกองโจร 3.การตอบโต้เอาคืนกันไปมา 4.การแสดงนัยยะทางการเมือง ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่ เป้าหมายอยู่ที่พลเรือนที่อ่อนแอ มีการก่อเหตุใน โรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นในกติกาสงครามสากล จึงอาจตีความว่าเป็นการแสดงออกให้ต่างชาติเข้ามาร่วมแก้ปัญหา อาจจะเป็นประเทศที่สาม หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยาน การพูดคุย

5.พลวัตตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่อุดมด้วยความขัดแย้งอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ในความขัดแย้งใหญ่นี้

เรื่องใหญ่อย่างในการพูดคุย คือการเปลี่ยนชื่อจากพูดคุยสันติภาพ เป็นสันติสุข เพื่อจำกัดไม่ให้ทิศทางการพูดคุยไปสู่ทิศทางการยกระดับให้ต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศนอกจากรัฐบาลมาเลเซีย มาร่วมอำนวยความสะดวก ซึ่งสวนทางกับข้อเรียกร้อง ของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่อยากให้มีองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นคนกลางรับฟังอีก

รวมทั้งกรณีที่หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก มาเลเซีย เร่งรีบขีดเส้นตาย 2 ปีจบ อาจถูกนำมาเป็นเรื่องการเมืองภายในของแต่ละประเทศ นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้กลุ่มก่อความไม่สงบ

กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลาย