บทวิเคราะห์ : มหากาพย์ “หัวเว่ย” สะเทือนความมั่นคง สะเทือนธุรกิจ

ยังคงไม่จบสิ้น สำหรับมหากาพย์ “หัวเว่ย”

นับตั้งแต่เกิดเหตุทางการแคนาดาจับกุมตัวนางเมิ่ง หวั่น โจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ ของหัวเว่ย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีน

จนนำไปสู่การที่ทางการจีนจับกุมตัวชาวแคนาดาหลายคน ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ล่าสุดมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวจีนของหัวเว่ย ที่ทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานที่ประเทศโปแลนด์ถูกทางการโปแลนด์ควบคุมตัวเอาไว้ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีชาวโปแลนด์อีกคน ฐานสมคบกันกระทำจารกรรมให้กับทางการจีน

ชาวจีนที่ถูกทางการโปแลนด์ควบคุมตัวคือนายหวัง เว่ย จิง โดยก่อนหน้าที่จะทำงานกับหัวเว่ย นายหวังเคยทำงานให้กับสถานกงสุลจีนที่เมืองกดัญสก์มาก่อน และเมื่อย้ายมาทำงานที่หัวเว่ย ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์อยู่นานกว่า 5 ปี ก่อนที่จะย้ายไปทำตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายเมื่อปี 2017 จนถึงปัจจุบันก่อนถูกจับกุมตัว

ในขณะที่ชาวโปแลนด์อีกคนที่ถูกจับ มีรายงานว่าทำงานให้กับสถาบันของรัฐหลายแห่งด้วยกัน

โดยทั้งคู่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐของจีน เพื่อก่อความเสียหายให้แก่โปแลนด์

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สหรัฐอเมริกาออกมาเรียกร้องให้บรรดาชาติยุโรปร่วมมือกันบอยคอตการทำธุรกิจของหัวเว่ย

แม้ว่าหัวเว่ยจะออกมายืนยันว่าได้ไล่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวออกจากบริษัทไปแล้ว และยืนยันว่า การกระทำใดๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวถูกสงสัยว่าเป็นการจารกรรมให้กับทางการจีนนั้นถือเป็น “พฤติกรรมส่วนตัว” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนโยบายของบริษัทแต่อย่างใด

หลังการเรียกร้องของสหรัฐ ก็ปรากฏว่ามีหลายประเทศในยุโรปที่ออกมาแสดงท่าทีตอบรับ แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบหรือมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าหัวเว่ยมีเจตนาที่จะทำจารกรรมความลับในประเทศเหล่านั้น

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศแบนบริษัทหัวเว่ย ไม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเครือข่าย 5 จี ของประเทศตามการเรียกร้องของสหรัฐ เนื่องจากเกรงเรื่องความมั่นคงของข้อมูลเช่นกัน

ขณะที่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทบีที ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ได้ประกาศจะถอดอุปกรณ์ของหัวเว่ยออกจากโครงข่ายเซลลูลาร์ หลังจากสำนักงานข่าวกรองต่างประเทศพบว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ

โดยนายเกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษ ยอมรับว่ากระทรวงกลาโหมอังกฤษกังวลอย่างมากต่อการที่หัวเว่ยเข้าไปรับผิดชอบในการพัฒนาเครือข่ายไร้สาย 5 จีของประเทศ

ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของสาธารณรัฐเช็กเปิดเผยข้อมูลว่า กฎหมายของจีนบังคับให้บริษัทเอกชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในจีนต้องให้ความร่วมมือกับสำนักงานข่าวกรองของทางการจีน

ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับหัวใจสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ

ด้านนอร์เวย์ซึ่งใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นส่วนใหญ่ในระบบเครือข่ายไร้สาย ซึ่งรัฐมนตรีกิจการโทรคมนาคมและการขนส่งได้ออกมายอมรับว่า กำลังพยายามหาทางที่จะลดความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการแทรกแซงจากประเทศ ซึ่งนอร์เวย์ไม่มีความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกันอยู่ ซึ่งก็หมายถึงประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างโปรตุเกส ซึ่งเพิ่งลงนามในสัญญาให้หัวเว่ยพัฒนาเครือข่าย 5 จี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทำนองเดียวกับเยอรมนี ที่มีรายงานว่าถูกสหรัฐกดดันอย่างหนักให้แบนหัวเว่ยด้วยนั้น

สำนักงานที่รับผิดชอบด้านไอทีของเยอรมนียังคงยืนยันว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหัวเว่ยใช้อุปกรณ์ของตนเพื่อทำจารกรรมให้จีนแต่อย่างใด

 

นายเด็กซ์เตอร์ ทีเลียน นักวิเคราะห์ของฟิตช์ โซลูชั่น ชี้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในยุโรปยังลังเล เป็นเพราะศักยภาพเทคโนโลยี 5 จีของหัวเว่ยยังคงชวนดึงดูดใจ เพราะพัฒนาไปก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยีของอีริคสันจากสวีเดน, โนเกียของฟินแลนด์ หรือแม้กระทั่งของซัมซุงจากเกาหลีใต้ นอกจากนั้น ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังยอมรับว่าหัวเว่ยมีนวัตกรรมสูงกว่าและดีกว่าในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี 5 จี ถึงแม้ว่าราคาสูงกว่ามากก็ตาม แต่คุณภาพเหนือกว่ามากเช่นกัน โอเปอเรเตอร์บางรายตัดสินใจไม่ใช้หัวเว่ยในบางประเทศที่อ่อนไหวแต่ยังเลือกใช้ในอีกบางประเทศอีกด้วย

โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกมาเตือนชาติสมาชิกว่าควรจะมีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับบริษัทหัวเว่ยและบริษัทอื่นๆ ของประเทศจีน

ซึ่งทางหัวเว่ยเองออกมาปฏิเสธข้อกังวลดังกล่าว และว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติใด

 

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ธุรกิจของหัวเว่ยถือว่าอยู่ในยุคที่รุ่งเรืองอย่างมาก

โดยธุรกิจสมาร์ตโฟนเอง หัวเว่ยผงาดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แซงไอโฟนของแอปเปิ้ลได้

และเมื่อปีที่ผ่านมา หัวเว่ยเพิ่งจะลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องอุปกรณ์ 5 จี กับโอเปอเรเตอร์ 45 ราย ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

ซึ่งก็ไม่รู้ได้ว่า หากสถานการณ์ของหัวเว่ยเรื่องความมั่นคงยังคงสั่นคลอนเช่นนี้ต่อไป ธุรกิจของหัวเว่ยอาจจะได้รับผลกระทบก็เป็นได้