สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/เห็ดพิมาน และเห็ดซางฮวง เห็ดในสกุลฟิลินัส (2)

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

เห็ดพิมาน และเห็ดซางฮวง

เห็ดในสกุลฟิลินัส (2)

 

มีการกล่าวถึง “เห็ดพิมาน” นำมาใช้ประโยชน์ทางยากันมาก

แต่ปรากฏว่าชื่อเรียกเห็ดชนิดนี้สร้างความสับสนพอสมควรว่าเป็นเห็ดชนิดไหนกันแน่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แนะนำให้รู้จัก โดยการแยกแยะชนิดเห็ดด้วยหลักวิชาการ คือการเรียกตามชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เห็ดชนิดนี้ใช้ได้อย่างถูกชนิด และถูกวิธี

ทวนความให้ฟังอย่างย่อ ขอเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า เห็ดในสกุลฟิลินัส (Phellinus) เป็นเห็ดที่จะเจริญเติบโตจำเพาะกับต้นไม้เท่านั้น

คนไทยเรียก “เห็ดพิมาน” ก็ย่อมเข้าใจว่าเกิดกับต้นพิมานหรือกระถินพิมาน (Acacia tomentosa Willd.) ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่าเห็ดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phellinus rimosus

แต่นักวิชาการในปัจจุบันพบว่าที่ขึ้นกับต้นพิมาน คือชนิด Phellinus pomaceus (Pers.) Maire

ส่วนเห็ดที่เคยเรียกเห็ดพิมาน ชนิด Phellinus rimosus กลับพบว่าอยู่กับ ต้นแดง (Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub.)

ต่อไปน่าเรียกในภาษาไทยว่า “เห็ดหิ้งต้นแดง”

 

ในประเทศจีนมีการใช้เห็ดสกุลฟิลินัสมาอย่างยาวนาน พบว่าเป็นชนิด Phellinus igniarius (คนละชนิดกับไทย) ซึ่งคนไทยเรียกเห็ดจากจีนนี้ว่า “เห็ดซางฮวง” หรือเรียกอีกชื่อว่า “เห็ดอุ้งตีนหมี” เห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีบนต้นเต็ง (Shoreaobtusa Wall. ex Blume)

แต่ก็ยังมีเห็ดในสกุลฟิลินัสที่มีการใช้กันในจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี อีกชนิดหนึ่ง ชนิด Phellinus linteus นี้คนไทยก็เรียกชื่อซ้ำกันอีกว่า “เห็ดซางฮวง”

แต่ควรเรียกให้ต่างกัน เนื่องจากเห็ดที่ว่านี้ ถ้าเรียกให้ไม่ซ้ำกันควรยึดหลักว่า ในเอเชียเห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีบนต้นเค็ง (Dialium cochinchinense Pierre)

น่าจะเรียกกันง่ายๆ ว่า “เห็ดเค็ง”

ในการใช้ประโยชน์ ซึ่งมีการพูดกันมากทั้งปากต่อปากและในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการกล่าวถึงเห็ดสกุลฟิลินัส ที่มักเรียกรวมๆ กัน แต่อยากให้ลองฟังข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ตรงเป้า

เริ่มจากความรู้ดั้งเดิมของชาวจีน มีการให้ “เห็ดซางฮวง” หรือ “เห็ดอุ้งตีนหมี” คือชนิด  Phellinus igniarius ใช้เป็นยาบำรุง ปรับสมดุลโลหิต โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปกติ

และต่อมามีการพัฒนายาเป็นสารสกัดเพื่อให้กับผู้ป่วยก็พบว่าทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้เป็นอย่างดี

โดยความรู้ที่ได้บอกว่าการให้ผลทางยาที่ดี ต้องกินสารสกัด ไม่ใช่กินเนื้อเห็ดโดยตรง ซึ่งสามารถสกัดโดยใช้น้ำร้อนหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ก็ได้

 

ในเวลานี้มีงานศึกษาวิจัยซึ่งเกี่ยวกับเห็ดในสกุลฟิลินัสที่ทำไว้ไม่น้อยกว่า 3,500 ชิ้น ซึ่งเห็ดที่ศึกษากันมากเป็นเห็ดซางฮวง ชนิด Phellinus linteus คือเห็ดที่เจริญได้ดีบนต้นเค็ง เรียกแบบไทยๆ ว่า “เห็ดเค็ง”

ตัวอย่างการศึกษาวิจัย พบว่ามีสารสำคัญคือ พอลิแซ็กคาไรด์หรือเบต้ากลูแคนชนิด 1-3 และ 1-6 จากการศึกษาทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสามารถควบคุมให้ความสมดุลระหว่างภูมิคุ้มกันในรูปแบบของเซลล์ เช่น มาโครฟาจ

และมีการศึกษาระบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันในรูปแบบฮอร์โมน จากการศึกษาของ Collin และคณะ (Br J Cancer. 2006 Aug 7;95(3) : 282-8. Epub 2006 Jul 25.) พบว่าการใช้พอลิแซ็กคาไรด์ที่สกัดได้จากเห็ดชนิด Phellinus linteus ร่วมกับยา doxorubicin ในปริมาณต่ำๆ สามารถทำให้เกิดกระบวนการยับยั้งมะเร็งที่ต่อมลูกหมากได้

กลไกที่พบในการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเห็ดซางฮวงนี้ ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายของเซลล์มะเร็งหรือที่ศัพท์เทคนิคเรียกว่า อพอพโตซีส (Apoptosis) เป็นการศึกษาของ Hye-Jin Park และคณะ (Journal of Functional Foods Volume 14, April 2015, Pages 289-298)

นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเห็ดซางฮวง ชนิด Phellinus linteus สามารถยับยั้งการแพร่กระจายตัวของมะเร็งจากลำไส้ใหญ่ไปยังอวัยวะอื่นๆ รวมทั้งทำให้ขนาดของก้อนมะเร็งเล็กลง

จากการวิเคราะห์ของ Daniel Sliva (Exp Ther Med. 2010 May-Jun; 1(3) : 407-411.) พบว่าสารสกัดจากเห็ดซางฮวงสามารถรักษามะเร็งได้ในผู้ป่วย 3 ราย โดยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง

นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำว่า การกินสารสกัดจากเห็ดซางฮวง ชนิด Phellinus linteus ในรูปแบบเสริมอาหารมีศักยภาพในการช่วยรักษามะเร็งได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดังเช่นในประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น มีการจำหน่ายเห็ดซางฮวงทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต โดยนำก้อนเห็ดเหล่านี้ไปชงเป็นชาดื่มแทนน้ำหรือนำไปต้มทำน้ำซุป (Chang Moo Kang และคณะ (2013) Anticancer Effect of Phellinus linteus; Potential Clinical Application in Treating Pancreatic Ductal Adenocarcinoma. J Carcinogene Mutagene S9 : 001. doi : 10.4172/2157-2518.S9-001)

และยังมีการทดลองเบื้องต้นถึงสารสกัดจากเห็ดซางฮวงชนิด Phellinus linteus พบว่ามีศักยภาพในการนำไปใช้ในการรักษามะเร็งที่ตับอ่อนได้

 

ตัวอย่างข้อมูลการศึกษาวิจัย แสดงให้เห็นว่าเห็ดในสกุลฟิลินัสมีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นยาหรืออาหารเสริม

แต่คงมีผู้สงสัยว่าทำไมเห็ดชนิดนี้จึงเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่มีสรรพคุณทางยาและพบการบันทึกในเอกสารโบราณในหลายประเทศ

คำตอบคือ เห็ดชนิดนี้ส่วนใหญ่เจริญได้ดีบนต้นไม้ที่ยังมีชีวิตและอยู่ในป่าลึกที่มีความชื้นสูง

ปัจจุบันมนุษย์ทำให้สภาพของระบบนิเวศของป่าไม้กลายเป็นเมือง สภาพป่าที่เหมาะสมต่อการเจริญของเห็ดชนิดนี้จึงลดน้อยลงไปด้วย

ขณะนี้ประเทศจีนกำลังให้ความสนใจอย่างมาก และเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ทางการจีนร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำนับ 10 แห่งจัดประชุมเรื่องเห็ดนี้ มีผู้ร่วมกว่า 1,000 คน

แสดงว่ามังกรจีนขยับตัวให้ความสนใจมาก จีนต้องการยกระดับจากการใช้เห็ดแบบพื้นบ้าน โดยนำชิ้นส่วนของเห็ดซางฮวง ต้มในน้ำร้อนประมาณ 30 นาที นำมาดื่มเป็นยารักษามะเร็ง สู่ความก้าวหน้าเป็นสารสกัดในรูปแบบต่างๆ

ในประเทศไทยเราก็เริ่มมีผู้ทุ่มเททำงานเรื่องนี้กันบ้างแล้ว ในลักษณะศูนย์วิจัยเห็ดฟิลินัสธรรมชาติ ซึ่งกำลังมีโครงการปลูกเห็ดซางฮวงในป่าธรรมชาติ หวังว่าจะช่วยให้คนไทยมียาดี ราคาไม่แพงใช้กันได้ถ้วนหน้าต่อไป