คุยกับทูต ‘อันดรีย์ เบชตา’ ยูเครนกับความท้าทายใหม่

คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา ยูเครนกับความท้าทายใหม่ (จบ)

ประเทศยูเครนและรัสเซียต่อสู้กันทางภาคพื้นดินมาหลายปีแล้ว

แต่ความขัดแย้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเพราะทั้งสองเกิดการปะทะกันทางทะเลเมื่อไม่นานมานี้

ความขัดแย้งทางทะเลที่เห็นเด่นชัดในการเมืองโลก ได้แก่ความขัดแย้งทางทะเลของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเตียวหยู (Diaoyu) หรือเกาะเซนกากุ (Senkaku) หมู่เกาะแพราเซล (Paracels) และหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly) ตลอดจนแนวปะการังอื่นๆ ที่ได้สร้างกรณีพิพาททางทะเลซึ่งกันและกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1991

เมื่อความขัดแย้งที่ยังไม่ยุติถูกแช่แข็งเอาไว้ (frozen conflict) จนในที่สุดเกิดการเผชิญหน้ากันบริเวณช่องแคบเคิร์ชที่เชื่อมระหว่างทะเลอะซอฟและทะเลดำ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นจุดรวมศูนย์ของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ

และสถานการณ์ความขัดแย้งอาจตึงเครียดขึ้นไปอีก เมื่อรัฐสภายูเครนประกาศกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ของประเทศเป็นเวลา 30 วัน

โดยที่เคียฟยืนกรานว่าตนเองมีสิทธิที่จะแล่นเรือผ่านช่องแคบแห่งนี้ ตามสนธิสัญญาที่ได้ทำไว้กับรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2003

แต่มอสโกยืนยันว่าเวลานี้ตนมีอภิสิทธิ์แห่งอำนาจอธิปไตยในการควบคุมช่องแคบเคิร์ชแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากที่ผนวกคาบสมุทรไครเมียในปี ค.ศ.2014 รัสเซียก็ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำของคาบสมุทรดังกล่าว ขณะที่ยูเครนปฏิเสธการอ้างสิทธิของรัสเซีย

นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า

“ในบทที่แล้วผมได้พูดถึงกรณีรัสเซียเข้ามารุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 เริ่มจากคาบสมุทรไครเมีย ดอนบัสส์ และปัจจุบันเขตทะเลอะซอฟ และทะเลดำ เรายังคงตั้งใจอย่างแน่วแน่เพื่อปกป้องดินแดนของเราทุกตารางนิ้ว ในขณะเดียวกันก็พยายามหาวิธีการที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อยุติความขัดแย้งโดยสันติและคืนความสมบูรณ์แห่งดินแดนของเรา ทั้งลำดับความสำคัญของพหุภาคี จากการสนับสนุนสหประชาชาติ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) สภายุโรป องค์กรระหว่างประเทศและกลไกอื่นๆ”

“ได้มีการดำเนินการกับฝ่ายรัสเซียหลายคดีในศาลระหว่างประเทศ และเราบรรลุผลสำเร็จในหลายคดีที่สำคัญแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติ 5 ข้อโดยมีคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายของกรุงมอสโกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางเครมลินย่อมจะได้รับรู้ถึงความเข้มงวดของกฎข้อบังคับในกฎหมายระหว่างประเทศ”

“เราขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและความสมัครสมานที่แข็งแกร่งจากพันธมิตรของเราทั่วทั้งมหาสมุทรแอตแลนติก ผมขอย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2014 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7)ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรปได้ประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพรียงและหนักแน่นในการต่อต้านรัสเซีย และไม่ยอมรับเข้าร่วมประชุมด้วย นับตั้งแต่รัสเซียได้ผนวกไครเมีย ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงต่อรัสเซีย จนกว่าข้อตกลงมินส์ก (Minsk agreements) จะมีการปฏิบัติอย่างเต็มที่โดยสหพันธรัฐรัสเซียจะต้องคืนแหลมไครเมียแก่ยูเครน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องรักษาแรงกดดันที่มีต่อรัสเซียภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ”

“ผ่านมาแล้วเกือบ 5 ปีกลายเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวยูเครน เท่ากับเป็นการทดสอบความมุ่งมั่น และการรวมคนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาและมีศรัทธาต่อกัน เราจึงไม่ควรลืมมูลเหตุของสงครามนี้ ชาวยูเครนมีอิสระในการตัดสินใจเพื่อดำเนินชีวิตตามแบบของตัวเองและส่งเสริมโลกเสรีโดยยึดค่านิยมและกฎเกณฑ์ตามระบอบประชาธิปไตย แต่มอสโกต้องการที่จะลงโทษยูเครนที่ตัดสินใจเลือกทางเดินแบบนี้”

“ประหนึ่งว่ามีมือรัสเซียคอยกุมอยู่รอบคอยูเครนอย่างแน่นหนา เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้หายใจไม่ออกจนกระทั่งเงียบไปในที่สุด เมื่อใดที่ยูเครนอ่อนแอล้มเหลวก็จะนำกลับเข้าไปรวมในโครงการใหม่ของจักรวรรดิรัสเซีย”

ยูเครนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงในปี ค.ศ.1991 ซึ่งส่งผลให้ดินแดนต่างๆ แยกตัวออกเป็นประเทศเอกราช

โดยที่ยูเครนมีพรมแดนทางตะวันออกเกือบทั้งหมดติดกับรัสเซีย ประชากรส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกมีแนวคิดและวิถีชีวิตคล้ายคลึงไปในทางรัสเซีย และใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ

ขณะที่ประชากรในฝั่งตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ติดกับยุโรปกลับมีแนวคิดและวิถีชีวิตใกล้เคียงกับชาวยุโรป และเริ่มเปิดรับระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกและตะวันออก ส่งผลให้ประชาชนในประเทศซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ฝักใฝ่สหภาพยุโรป (Pro-Euromaiden) และฝ่ายที่ฝักใฝ่รัสเซีย (Pro-Russian) มีปัญหาความไม่ลงรอยกันมาโดยตลอด

“เราได้ผ่านจุดที่ไม่สามารถหวนกลับไปได้แล้ว (point of no return) เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาคนยูเครนได้เลือกวิถีทางของตะวันตก หันหน้าสู่สหภาพยุโรป นาโต และประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก จากการกระทำที่โหดร้ายของรัสเซียตลอดหลายปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ทางเลือกของยูเครนถูกต้องและเป็นสิ่งเดียวที่สอดคล้องกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของเรา และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐสภายูเครนผ่านกฎหมายที่รวมอยู่ในรัฐธรรมนูญอันเป็นข้อผูกพันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโตและสหภาพยุโรป”

อันทำให้ยูเครนกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับยุโรป แทนการเป็นประเทศที่อยู่ใต้ร่มเงาของรัสเซียเหมือนที่ผ่านมา

“แต่รัสเซียไม่สามารถยอมรับทางเลือกนี้ได้ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมรัสเซียจึงเริ่มต้นการรุกรานในปี ค.ศ.2014 และจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำลายยูเครน ซึ่งเราก็จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องประเทศและเสรีภาพของเรา” ท่านทูตยูเครนกล่าวย้ำ

“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เราพยายามเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีเพียงระบอบประชาธิปไตย ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของกฎหมายยูเครน เราจะสามารถป้องกันตัวเองจากศัตรูได้”

“แม้จะมีสงครามอย่างต่อเนื่องและมากกว่า 5% ของจีดีพี เป็นค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศและการรักษาความปลอดภัย รัฐบาลยูเครนได้ทำการปฏิรูปในวงกว้างด้วยการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศของเรา ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ยูเครนจึงมีความก้าวหน้าในการปฏิรูปมากกว่าในช่วง 23 ปีก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1991”

“เราจึงมั่นใจว่าคนยูเครนรุ่นนี้มีโอกาสในการปฏิรูปประเทศของเรา เพื่อชนรุ่นต่อไป”

“ความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของยูเครนได้ฟื้นตัวอย่างน่าประหลาดใจจากการลดลงของจีดีพี 9% ในปี ค.ศ.2014 และ 6%, 8% ในปี ค.ศ.2015 อันเป็นผลมาจากการรุกรานของรัสเซีย มีการเติบโต 2%, 3% ในปี ค.ศ.2016 และ 2%, 5% ในปี ค.ศ.2017 เกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพโดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารโลกได้ปรับปรุงการคาดการณ์สำหรับการเติบโตของยูเครนในปี ค.ศ.2018 ถึง 3.5% ในขณะที่การคาดการณ์สำหรับปี ค.ศ.2019 ได้รับการแก้ไขสูงขึ้นถึง 4%”

“เราได้เปิดตัวในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เหลือรวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดกลางผ่านระบบประมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่โปร่งใส การแนะนำการกำกับดูแลกิจการที่ทันสมัยให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐ เช่น การรถไฟและบริการไปรษณีย์ ในกรอบของการปฏิรูปกฎระเบียบ ส่วนบทบัญญัติ 760 บทที่ขัดขวางการพัฒนาธุรกิจได้ถูกยกเลิก เป็นผลให้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ยูเครนขึ้นอยู่ในลำดับที่ 25 ของดัชนีการทำธุรกิจ”

“ยูเครนประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในเส้นทางยุโรปซึ่งมีผลบังคับใช้และการดำเนินการตามข้อตกลงของสมาคมการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (DCFTA) และการแนะนำระบบวีซ่าฟรีกับสหภาพยุโรป ยูเครนได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในภูมิศาสตร์การค้า โดยมีสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนในปัจจุบัน”

“เศรษฐกิจของยูเครนได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับการก้าวอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย (อุตสาหกรรม 4.0) รวมถึงการผลิต (ยานยนต์ อาหารเกษตร การบินและอวกาศ) ความคิดสร้างสรรค์ (แฟชั่น การออกแบบกราฟิก การทำภาพยนตร์) ดิจิตอลและพลังงาน (แสงอาทิตย์ ลม พลังงานชีวภาพ)”

“มูลค่าของการลงทุนในยูเครนจะเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่ง เพราะยูเครนอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางในยุโรปพร้อมระบบขนส่งโดยตรงไปยังเอเชียโดยผ่านทะเลดำ ทำให้เหมาะสำหรับการผลิตและการค้าขาย”

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนกล่าวอีกว่า

“การปฏิรูปที่ครอบคลุมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของยูเครนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยูเครนกลายเป็นแหล่งในการลงทุนแห่งใหม่ ณ ประตูสู่ยุโรป โอกาสการลงทุนในยูเครนทางด้านการเกษตร พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และการผลิตโตขึ้นอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อรวมกับพนักงานที่มีทักษะสูง และค่าใช้จ่ายที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมเชื่อว่า เรามีสิ่งที่จะนำเสนอนักลงทุนมากมาย”

“ไทยได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมอยู่ในตลาดสำคัญ 20 อันดับแรกสำหรับการส่งออกของยูเครน หลายปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีมีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ประมาณครึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีศักยภาพสูงมากสำหรับการค้าระหว่างประเทศของเรา”

“เนื่องจากยูเครนมีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมจึงมีโอกาสสำหรับความร่วมมือภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย ที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ไอที การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และยา”

“เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2017 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครน นายพาฟโล คลิมคิน (Pavlo Klimkin) เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ได้เน้นย้ำถึงความสนใจร่วมกันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและหารือเกี่ยวกับมุมมองระยะกลางในแง่ของการเจรจาทางการเมือง การค้าและการลงทุน และการติดต่อระหว่างประชาชน”

“ในระหว่างการเยือนนั้น ได้มีการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างรัฐบาลยูเครนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการการค้าร่วมครั้งแรกซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของข้อตกลงการค้าพร้อมกับการประชุมนักธุรกิจยูเครน-ไทยในปีนี้ ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านการค้าและการลงทุน”

ภายหลังการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและยูเครนได้ลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยกับยูเครนด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกระหว่างทั้งสองประเทศในคดีอาญา

เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย นายอันดรีย์ เบชตา ให้ความเห็นโดยสรุปว่า

“เราตระหนักดีว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประตูสำหรับยูเครนในภูมิภาคนี้ ด้วยศักยภาพทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ที่สำคัญและทรัพยากรการเกษตร ยูเครนจึงสามารถเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและเป็นประตูสู่ยุโรปซึ่งยูเครนมีเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป”

“ดังนั้น ผมจึงมองในแง่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาและการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศไทยในทุกด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”