ฐากูร บุนปาน :”ท่านเจ้าคุณประยุทธ์”

รู้จัก “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์” เอาครั้งแรกเมื่อตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ

ตอนนั้นพ่อนอนป่วยหนักอยู่ที่โรงพยาบาล

อาผู้ชายคนเดียวที่สนิทกันมากกับพี่ เพราะมีพี่น้องผู้ชายกันอยู่สองคน มาเยี่ยมพร้อมกับหนังสือเล่มหนาปึ้กปกสีน้ำเงิน

ชื่อ “พุทธธรรม” คนเขียนชื่อ ประยุทธ์ ปยุตฺโต (ประยุทธ์ อารยางกูร)

เขียนไว้ที่หน้าแรกข้างในว่าให้อ่านเพื่อทำใจให้สงบ

พ่อไม่รอดจากป่วยหนนั้น แต่หนังสือไม่ได้หายไปไหน

เป็นมรดกให้ลูกๆ เรื่อยมา

 

หนังสือเล่มใหญ่ ยกอ่านแทบไม่ไหว เลยกลายเป็นหนังสือใช้เฉพาะเวลาจะอ้างอิงอะไรหรือมีข้อสงสัยในธรรมบท

จนไม่กี่ปีต่อมา มี “พุทธธรรมฉบับย่อ” ตีพิมพ์ คราวนี้ถึงได้อ่านจริงจังมากขึ้น

และโดยงานทำให้ต้องอ่าน ต้องค้นความคิดข้อเขียนของท่านมากขึ้น

นานๆ เข้าก็ถือตัวเองเป็นลูกศิษย์นอกกุฏิประเภท “ครูพักลักจำ” เหมือนที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นลูกศิษย์ของปราชญ์ท่านอื่นๆ

ฉะนั้น ในฐานะศิษย์ (ที่ครูแทบไม่รู้จัก) เมื่อเห็นข่าวว่า ในรายชื่อพระเถรานุเถระที่มหาเถรสมาคม (มส.) พิจารณาเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อจะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์จำนวน 159 รูป เนื่องในวาระวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 5 ธันวาคม 2559 มีชื่อของครูอยู่ด้วย

ก็ต้องยินดีเป็นธรรมดา

และยินดียิ่งกว่าเมื่อสมณศักดิ์ที่ท่านได้รับครั้งนี้คือตำแหน่ง “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”

ตำแหน่งของปราชญ์ในพุทธศาสนายุครัตนโกสินทร์

สมกับความเป็นปราชญ์ของท่าน

ในจำนวนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยุครัตนโกสินทร์ เท่าที่ความรู้ระดับงูๆ ปลาๆ พอจะรู้จักอยู่บ้างนั้นก็มี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) องค์ที่ 8 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พ.ศ.2422 ที่ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเป็นรูปเดียวที่สอบเปรียญ 9 สองครั้ง จนได้ฉายาว่า “สังฆราชสา 18 ประโยค”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) องค์ที่ 12 วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ.2471 ซึ่งเป็นปราชญ์คู่กันมากับสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุฯ

จดหมายโต้ตอบระหว่างสองพระองค์และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เอามารวมตีพิมพ์ในชื่อ “สามสมเด็จ” เป็นแหล่งความรู้มหาศาล

ฉะนั้น ท่านใดที่ระลึกได้ว่าหยิบยืมไปจากที่บ้านข้าพเจ้าโดยมิได้แจ้ง จะแอบๆ นำมาคืนก็จะเป็นพระคุณยิ่ง (ฮา)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) องค์ที่ 13 วัดสระเกศฯ พ.ศ.2496 ต่อมาก็เป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) องค์ที่ 14 วัดราชบพิธฯ พ.ศ.2506

ต่อมาก็เป็นสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน

 

และท่านใดที่เป็นศิษย์หรือสนใจในประวัติความเป็นมาของท่านเจ้าคุณ

ก็จะรู้ว่าท่านคือสามเณรเปรียญ 9 รูปที่สองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

รูปแรกนั้นคือ ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ส่วนที่มาของหนังสือพุทธธรรม ซึ่งถือกันว่าเป็นตำราอรรถาธิบายพุทธศาสนาเถรวาทครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่งนั้น

เดิมทีท่านเขียนเป็นบทความขนาดยาว ลงพิมพ์ในหนังสือ “วรรณไวทยากร” เป็นอนุสรณ์วาระชนมายุครบ 6 รอบพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระองค์วรรณฯ

ต่อมาจึงขยายบทความชิ้นนั้นมาเป็นหนังสือขนาดย่อม ก่อนจะขยายเป็นฉบับบริบูรณ์

ความเป็นพระนักวิชาการของท่านได้รับการยกย่องทั้งในประเทศและทั่วโลก

ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ

เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากกว่า 15 สถาบัน

แต่สำหรับศิษย์ทั่วไปแล้ว ที่สำคัญกว่าความเป็นปราชญ์ก็คือ วัตรปฏิบัติที่สมถะสมความเป็นภิกษุ

กุฏิเหมือนพระป่า นอกจากอัฐบริขารแล้วก็มีแต่หนังสือ

ไปกราบไปไหว้แล้วสนิทใจว่าไหว้พระจริง ไม่ใช่หลุดเข้าไปห้องเศรษฐีอาเสี่ยที่ไหน

กราบแสดงมุทิตาจิตกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้