จาก “กปปส.” ถึง “คสช.” ตีปี๊บ “ปฏิรูปตำรวจ” 4 ปี ย่ำวน (หรือจะ) ล้มเหลว

ย้อนไปในปี 2557 ก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจปกครองสำเร็จ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน มากกว่า 4 ปี

ก่อนนั้นการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของกลุ่มการเมือง กปปส. ที่มี “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในปัจจุบัน เป็นแกนนำ เคลื่อนไหวดาวกระจาย ชัตดาวน์ทั่วเมือง ประเด็นใหญ่เงื่อนไขการเรียกร้องล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หนึ่งปมสำคัญคือต้อง “ปฏิรูปตำรวจ”

กปปส.เรียกร้อง “ยุติรัฐตำรวจ” และ “ตำรวจไทยต้องเปลี่ยน”!!

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รู้ปัญหาตำรวจดีกว่าใคร เพราะเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

เคยนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. บอร์ดใหญ่สีกากี จึงจี้จุดสารพัดปัญหาองค์กรตำรวจไทยแบบตรงเผง

ทั้งการอำนวยความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม การไม่สนองความคาดหวังของประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายบริหารบุคคลที่ไม่เป็นธรรมเพราะใช้อำนาจรวมศูนย์และถูกแทรกแซง ขวัญกำลังใจที่อ่อนแรงด้วยงบฯ น้อย สวัสดิการจำกัดจำเขี่ย

เหล่านี้เป็นเหตุเงื่อนไขให้ต้องปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนรัฐบาล!!

เมื่อเกิดรัฐประหาร เปลี่ยนรัฐบาล คสช.และรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีเข้ามา มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กุมบังเหียนตำรวจไทย

ประเด็นการปฏิรูปตำรวจถูกจุดพลุหลายระลอก

แต่ก็เป็นดั่งพลุสว่างวาบแล้วหายไป

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เกิดคณะกรรมการ คณะทำงานหลายชุด ตั้งประเด็นปฏิรูปตำรวจ โยนหินให้สังคมและวงการสีกากีถกแถลงหลายเวที

แต่ไม่มีข้อสรุปไหนได้ใช้จริงสักที

ขณะที่ คสช.ออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด ทั้ง ก.ตร. และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปจนถึงผู้บังคับหมู่ เปลี่ยนกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายหลายขยัก เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของการบริหารองค์กรตำรวจ

แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าเปลี่ยนแบบลวงๆ แต่ก็เป็นความพยายามปฏิรูปตำรวจโดยรัฐบาลและ คสช.

ท่ามกลางความเห็นต่าง เสียงก่นวิจารณ์ แรงต้านจากคนในองค์กรสีกากี

ขนานกับองค์กรตำรวจเองก็พยายามปฏิรูปตัวเองด้วยตัวเอง ตั้งคณะทำงานบิ๊กสีกากีปฏิรูปองค์กร ออกแบบโครงสร้างตำแหน่ง ชงกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย

ระบุวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรตำรวจดีขึ้น ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ดีขึ้นเป็นลำดับแรก ล่าสุดกำหนดมาตรฐานตำแหน่งสอดรับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (ฉบับก่อนรัฐประหาร)

ทว่าตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา เหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งย่ำอยู่กับที่

ผลสัมฤทธิ์ของการปรับแก้กฎเกณฑ์กระบวนการต่างๆ ระหว่างรอการปฏิรูป ถามว่าการแต่งตั้งตำรวจปัญหาใหญ่ของชาวสีกากีดีขึ้นหรือไม่

ต้องถามตำรวจที่ได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโดยตรง

และหากอยากได้คำตอบที่จริงชัดให้ถามกันในทางลับ!?

ด้านหนึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาในแง่การบริหารจัดสรรงบประมาณ ต้องยอมรับว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ตร.ภายใต้ คสช.ได้รับการอุดหนุนงบฯ ลงทุนหลายอย่าง ในการซื้อ สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ ครุภัณฑ์ อสังหาฯ ที่ทำการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพ

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการทำงบประมาณของ ตร.ในยุคก่อน คสช.

ยุคนี้จึงเห็นตำรวจจบใหม่ได้ปืนราชการ คอมพิวเตอร์พกพา ใช้ฟรีไม่ต้องควักตังค์ มีเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินเจ๊ตลำใหม่ ฯลฯ

กลับมาที่การปฏิรูปตำรวจ ผลสรุปจากคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่านับแต่ปี 2557 ถูกพับเก็บ

การปฏิรูปตำรวจทำทีคล้ายจะเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และกำหนดไว้ในมาตรา 258 และ 260 ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ให้เวลาศึกษา แก้ปัญหา ออกแบบกฎหมายตำรวจใหม่ภายใน 1 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานกรรมการ

ตอนนั้น “บิ๊กตู่” ตีปี๊บเองเชิญกรรมการปฏิรูปตำรวจทุกคนเข้าพบ ให้การบ้าน 13 ข้อ แนวทางปฏิรูปตำรวจที่นายกรัฐมนตรีคิด เป็นโครงร่างตั้งต้น คณะกรรมการของ พล.อ.บุญสร้างใช้เวลาตามกำหนด ก่อน 6 เมษายน 2561 (1 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้) มีข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ ออกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ท่ามกลางเสียงเล่าลือว่าในคณะกรรมการชุดนี้ที่สัดส่วนครึ่งหนึ่งเป็นตำรวจ อีกครึ่งคนนอกออกความเห็นถกแถลงกันอย่างเผ็ดร้อน

ก่อนได้บทสรุป!!

ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับ พล.อ.บุญสร้าง ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการ แต่แล้วก็เป็นหมัน!!

เมื่อส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวน ได้มีความเห็นตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เป็นคณะกรรมการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … โดยพฤตินัยคือคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดใหม่นั่นเอง มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธาน และเผยแนวทางร่างกฎหมายใหม่

คนละเวอร์ชั่นกับฉบับ พล.อ.บุญสร้าง ต่างกันสิ้นเชิง!!??

ล่าสุดกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … และการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … ร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตำรวจ 2 ฉบับ

โฟกัสร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย 173 มาตรา ลงลึกหลักเกณฑ์เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย โครงสร้างตำแหน่ง เช่น

มาตรา 70 ภายใต้บังคับมาตรา 75 (การประเมิน) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ ยกมา (3) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโทและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการสอบสวน หรือจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี (4) ตำแหน่งผู้บัญชาการ

และจเรตำรวจจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีหรือพลตำรวจโทและเคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการสอบสวน หรือรองจเรตำรวจ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

ยกมาพอเป็นตัวอย่าง

ขณะที่รัฐธรรมนูญผูกเงื่อนเขียนไว้ออกกฎหมายใหม่ไม่เสร็จทัน 1 ปี การแต่งตั้งตำรวจต้องใช้หลักอาวุโส สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกประกาศหลักอาวุโส ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ขรมในแวดวงตำรวจปฏิรูปปลอมๆ และเป็นปัญหาอีนุงตุงนังจนวันนี้

ในวงการสีกากีวิจารณ์ ดราฟต์ พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนายมีชัย โอกาสเจอแรงต้านจากในองค์กรตำรวจสูง ด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่สวนทางกับสถานการณ์ ฐานอำนาจการเมืองในองค์กรในปัจจจุบัน และหลายประเด็นหลายมาตราที่คนนอกคิด ทำนองคนคิดทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิดทำ

อย่างไรก็ตาม ดราฟต์สุดท้าย พ.ร.บ.ตำรวจฯ และร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาฯ ถูกส่งกลับไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อชงเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ทว่าล่าสุดมีการส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไปพิจารณาในรายละเอียดกฎหมาย มีการแจกหน่วยที่เกี่ยวข้องภายในกลับไปดู จนตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า!!

ตามขั้นตอนเมื่อเสร็จในกระบวนการขั้นต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติคิดเห็นอย่างไรต้องส่งกลับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนจะพิจารณาส่งต่อ สนช.ให้เห็นชอบออกกฎหมายต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลา

ตั้งแต่ กปปส.จนมี คสช. ร่ำๆ จะ 5 ปี อำนาจเต็มที่ในมือ คสช. ยังปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ การแต่งตั้งโยกย้ายปัญหาใหญ่ที่ตั้งใจจะแก้ไขยังไม่พ้นวังวนเดิม!!??