ลึกๆ ในใจ อยากเป็น ส.ว. หรือเปล่า? คุยเปิดอก “วันชัย สอนศิริ” ผ่าแนวคิดรัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์เพื่อใคร ?

วันชัย สอนศิริ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง และอดีต สปท. ตอบทันทีเรื่องที่มีคนมองว่าอยากจะเป็น ส.ว.หรือเปล่า?

“เราจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็น มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา ผมว่าความอยาก อยากดีอยากเด่นอยากดังอยากทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ ผมว่าคุณก็อยากนะ แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ คนจะนิยมชมชอบหรือไม่ มันอยู่ที่ประชาชนเหมือนกัน ถ้าถามความอยากเราก็อาจจะอยาก แต่เราเป็นคนตั้งตัวเองหรือเปล่า?”

“ผมว่าเวลาผมทำงานในสภา ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมอยากจะเป็นอะไรหรือไม่ได้เป็นอะไร แต่คิดว่าสิ่งที่ผมทำออกมานั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือประชาชนหรือเปล่า แม้แต่เรื่องของคำถามพ่วงก็มาจากการคิด ผมไม่ได้มองจากจินตนาการจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษ-อเมริกาเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ เพ้อฝันกันไป ผมมองจากบริบททางการเมืองในบ้านเรา บนความเป็นจริงว่า ทหารมีส่วนสำคัญ เลือกตั้งก็สำคัญ เราก็คิดว่า ถ้าประนอมกันได้ช่วยกันได้ ผมจึงตั้งเป็นคำถามพ่วง ถามว่าคิดหรือคาดการณ์ไว้หรือเปล่าเพราะเวลาตอนนั้น (ปี 2559) มันอีกนานมากกว่าจะมาถึงการเลือกตั้งหนนี้ (ปี 2562) ซึ่งเขาจะตั้ง ส.ว.หรือไม่ได้ตั้ง ไม่ได้เกี่ยวกับตัวผมเลย”

“แม้แต่คลิปที่ออกไปผมก็เล่าในหมู่เพื่อนฝูงฟัง ไม่ได้มีเจตนาจะมาสร้างราคา แถมจะกลายเป็นเรื่องของความหมั่นไส้ให้ไม่ได้เป็น ส.ว. ซึ่งมันก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เวลาผมทำอะไรผมมองเรื่องส่วนรวมเป็นหลัก”

: กติกาการเลือกตั้ง-รัฐธรรมนูญนี้มีผลอะไรต่อบ้านเมือง?

เชื่อว่ากติกาและการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ปี 2562 นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดี เพราะว่าคนเขาเห็นการเมืองแบบเต็มใบ ที่นักการเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเต็มที่ เป็น “ประชาธิปไตยจ๋า” นำมาซึ่งความเหลวแหลก จนเข้าสู่วงจรปฏิวัติรัฐประหาร มันก็เกิดความเป็นเผด็จการเต็มใบอีก คนเขามองดูแล้วว่า ถ้าขืนปล่อยให้ทั้งเผด็จการและประชาธิปไตยจ๋าเป็นแบบนี้ บ้านเมืองมีปัญหาแน่ ไม่ว่าจะปล่อยให้อยู่ในรูปแบบใด ประชาชนก็เบื่อหน่ายกับการทะเลาะเบาะแว้ง เบื่อกับการแตกแยกและความเหลวแหลกทางการเมือง

เราจะสังเกตเห็นได้ว่าตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา นักการเมือง-พรรคการเมือง เริ่มกระจัดกระจายเพราะรู้ว่าหากยังเล่นบทเดิม ใช้วิธีการแบบเดิมๆ กับคนเดิมๆ จะไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะว่าประชาชนรวมถึง “บริบททางการเมือง” เปลี่ยนไปแล้ว

ดังนั้น ผลของประชามติ 15 ล้านเสียง เขาเห็นว่าคน 2 กลุ่ม คือทหารและการเมือง ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนอำนาจได้ ถ้ายังปล่อยให้ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งแตกแยกกันก็มีปัญหาอีก

ฉะนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญในคราวนี้จึงออกแบบในลักษณะให้ 2 กลุ่มประนอมอำนาจกัน คสช.ตั้ง ส.ว. 250 คนให้มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ขณะเดียวกันฝ่ายเลือกตั้งต้องมีเสียงเกินกว่า 250 เสียงจัดตั้งรัฐบาล เรียกว่า ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเลือกตั้งต้องร่วมกันประคับประคองประนอมอำนาจกันในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองช่วง 5 ปีนี้

ผมมีความมั่นใจจากสถานการณ์และรูปแบบการบริหารที่มีการวางกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิด “ความสมดุลทางการเมือง” ความขัดแย้งและความแตกแยกจะลดน้อยถอยลงไป บ้านเมืองจะเดินไปได้ในทางที่ดีขึ้น

: แต่คนยังเชื่อว่า “เพื่อไทย” จะได้อันดับ 1 จะวุ่นวายไหม ถ้าเขาชนะแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้?

ไปคิดเอาเองว่าพรรคเพื่อไทยจะได้อันดับหนึ่ง ขณะนี้ถ้าเรามองพรรคเพื่อไทยเนื้อๆ ก็เห็นว่าไม่มีทางได้อันดับหนึ่งอยู่แล้ว เพื่อไทยเองก็แตกมาเป็นไทยรักษาชาติ และไทยรักษาชาติก็ไม่มีทางที่จะได้อันดับหนึ่ง รวมทั้งสองพรรค (ตีว่าเป็นพรรคเดียวกัน) ก็ยังแตกฉานซ่านเซ็น จะเป็นอันดับหนึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะเป็นไปได้ก็ประมาณ 150 เสียง ไม่ใช่เสียงชนิดที่เรียกว่านำโด่งเหมือนในอดีต ดังนั้น คุณอาจได้ที่ 1 จริง แต่คุณจะต้องมีเสียงในสภาถึง 376 เสียง

สมมุติว่ามีการเปิดโอกาสให้รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ถ้าคุณรวมได้ 376 จริงๆ มันก็ไม่มีปัญหาเพราะดูรูปแบบผมเชื่อเหลือเกินว่าในหลักการเขาต้องปล่อยให้มีการโหวตกันเองก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ ส.ว.จะเข้ามาเลย ว่าจะเอาคนนู้นคนนี้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายเลือกตั้งเขารวมเสียงก่อน ถ้าในบรรดา ส.ส.รวมได้ ก็ต้องยอมให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ถ้ารวมไม่ได้เมื่อไหร่ ส.ว.จะต้องเข้ามามีบทบาท ช่วยกันประคับประคอง

มองจากบริบทของความเป็นจริงที่เราเห็นอยู่ยังไงๆ แทบจะรวมกันไม่ได้อยู่แล้ว รวมได้ต่อเมื่อเพื่อไทยทั้งหมดต้องไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรวมพรรคภูมิใจไทย เผลอๆ ต้องรวมพลังประชารัฐถึงจะได้เยอะขนาดนั้น คุณลองคิดดูว่าความเป็นจริงมันเป็นไปได้หรือเปล่า? เพื่อไทยเองเขาก็รู้ว่าความนิยมชมชอบแบบเก่าไม่ได้เยอะขนาดนั้นแล้ว หากจะดันทุรังแบบเอาเป็นเอาตาย บ้านเมืองก็จะมีปัญหา

: แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากเสียง ส.ว.ตั้งได้ แต่การบริหารสะดุดแน่ เพราะเสียง ส.ส.ต้องแข็งแรง

การบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ ต้องอาศัยซีกเพียงแค่การเมือง คนจะเป็นรัฐบาลได้หรือเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีเสียงในสภาอย่างน้อยที่สุด 280 เสียง หรือเกือบ 300 เสียงจึงจะมีความมั่นคง กฎหมายทั้งหมดต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายไม่ไว้วางใจต้องผ่านสภานี้ แม้แต่งบประมาณก็ตาม

ดังนั้น เมื่อคุณจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หัวใจทั้งหมดต้องมาจาก ส.ส.ที่มาจากประชาชนเต็มๆ เมื่อเกิดเวลาวิกฤตเท่านั้น ส.ว.ถึงจะเข้ามาช่วยได้

พูดง่ายๆ ว่า คุณอาจจะล้มรัฐบาลได้ แต่เวลาจะตั้งรัฐบาล ผมไม่แน่ใจนะว่าคุณจะรวมเสียงได้สำเร็จหรือเปล่า

จะเห็นได้ว่ามันเป็นการถ่วงดุลกัน ตอนตั้ง ส.ว.ช่วยได้ แต่ล้มข้างล่างมีสิทธิ์ล้ม ถามว่าล้มเสร็จจะตั้งใหม่ต้องอาศัย ส.ว.

มันเป็นการสร้าง “สมดุลยภาพทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน”

: กว่าจะพ้นวิกฤตนี้ ต้องรอให้ผ่านพ้นช่วง 5 ปีไปแล้ว?

ผมว่าประชาชนที่เขาโหวตรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมถึงคำถามพ่วงที่เราพูดถึง ส.ว. ประชาชนเขาโหวต 15 ล้านเสียง เขาได้เห็นว่าถ้าหากทั้งสองอำนาจ ทหารและการเมืองยังมีส่วนสำคัญต้องหาทางร่วมกันจับไม้จับมือในระยะเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง บ้านเมืองจะเจริญเดินไปได้อย่างมีเสถียรภาพมั่นคง ไม่ใช่เป็นการล้มกันไปล้มกันมา

การปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่น่าจะเกิดเพราะว่า ผบ.เหล่าทัพก็นั่งอยู่ในสภา ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นฝ่ายการเมืองโดยตรง

มิอย่างนั้นในอดีตเกิดความขัดแย้งระหว่างทหารกับฝ่ายการเมืองเดี๋ยวก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบคราวนี้ เขาเอา ผบ.เหล่าทัพนั่งอยู่ด้วย เพื่อให้คุณมานั่งดูรับรู้และร่วมกันแก้ปัญหา ร่วมกันชี้แนะ

เขาไม่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ไปคาดเดากันว่าจะไม่มีเสถียรภาพ จะเศรษฐกิจไม่ดียังมีวิกฤติจากนี้

ซึ่งผมมองว่ารัฐบาลจะมีความมั่นคงกว่า รัฐบาลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานั่นแหละที่ส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชน

: คิดเห็นอย่างไรมีพรรคการเมืองชูแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลัก

การออกแบบรัฐธรรมนูญ เขาต้องการให้ใช้ ไม่ใช่ว่าจะให้คุณมาแก้กันง่ายๆ คุณลองใช้ดูก่อนสิ

ถ้าใช้สุดๆ แล้วพบว่าในที่สุดไม่ได้เรื่อง ผมว่าถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล หรือทำประชามติมาก็ต้องแก้ได้

แต่ถ้าคุณมีนโยบายจะแก้โดยที่คุณพูดโฆษณามาตั้งแต่ต้นยังไงก็ไม่ผ่าน เพราะว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือใช้ไปแล้ว มันดีหรือไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหา แก้ปัญหาหรือเปล่า

คนที่จะชูนโยบายหาเสียง ผมว่าเป็นลีลาภาษาทางการเมืองในช่วงของการหาเสียงมากกว่า

: คิดเห็นอย่างไร มีคนวิจารณ์ 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็ใช้ประชานิยม แม้แต่รัฐบาล คสช.ยัง “แจกเงิน”

ต้องมองดูว่าสิ่งที่ทำนั้นคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

สำคัญที่สุด เวลาเราหาเสียงหรือทำประชานิยมต่างๆ ในอดีต เรามักไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า

และความเสี่ยงที่จะตามมา แปลว่ารัฐบาลชุดนี้ที่เขาออกนโยบายต่างๆ มา เขาประเมินความคุ้มค่าและความจริงแล้ว ไม่ใช่เอาเงินมาทิ้ง ไม่ใช่จำนำข้าวเอาเงินมาจ่าย 15,000 แต่ไม่คำนึงถึงความเสียหาย หรือการขึ้นเงินเดือนก็ไม่ได้คำนึงว่าควรทำอย่างไร มุ่งหาเสียงอย่างเดียว

ซึ่งรัฐบาลชุดนี้เวลาเขาทำโครงการใดๆ เขาได้มีการประเมินพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้วว่าคุ้มค่า มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดต่องบประมาณแผ่นดิน

ฉะนั้น การกล่าวหาโจมตีเป็นเรื่องปกติในระยะนี้ ทางฝ่ายใดเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือ คสช. ต้องหาเรื่องโจมตีทุกเม็ดทุกดอก

: เมื่อไหร่ทหารจะไม่อยู่ในกระดานการเมือง?

โดยหลักทหารไม่ควรมายุ่งกับการเมือง ตัวอย่างการปกครอง หลักของประชาธิปไตย ทั่วโลกที่เต็มใบ ก็ไม่มีทหารที่ไหนเข้ามายุ่ง มายุ่งถือว่านอกเรื่อง เสียผู้เสียคนหมด

แต่ว่าบ้านเมืองของเรา ประชาธิปไตยเราเล่นกันจนเละ มันเลยทำให้ทหารเข้ามาเกี่ยว ทั้งหมดเกิดจากการเมืองที่เละเทะเหลวแหลกทำให้ต้องดึงทหารเข้ามา พอทหารเข้ามาเสร็จเขาก็ไม่อยากถอย แต่ผมเชื่อว่าทหารนี้ปัจจุบันเขารู้ดีว่าขืนอยู่ต่อไปวันหนึ่งเขาต้องโดนก้อนอิฐ ตอนมาอาจได้ดอกไม้ แต่ถ้ายังอยู่ต่อไปเขาต้องได้ก้อนอิฐแน่ๆ ฉะนั้น เวลาถอยต้องค่อยๆ ถอย ไม่ควรพรวดพราด ควรทำให้มันเข้าที่เข้าทาง

ผมเชื่อว่าเขาอยากช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองให้เข้าที่เข้าทาง

สามารถรับชมคลิปเปิดใจวันชัยได้ที่