เกษียร เตชะพีระ : คำถามของนักรัฐศาสตร์ ต่อ Thailand 4.0

เกษียร เตชะพีระ

โครงการ Thailand 4.0 มุ่งพาอุตสาหกรรมไทยก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีในสภาพที่ความเป็นจริงอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันยังอยู่ในระดับ 2.0

ทั้งนี้ ถือตามการจำแนกรุ่นอุตสาหกรรมโดยเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้นับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา กล่าวคือ (ดูภาพซ้ายบน https://theaseanpost.com/article/can-industry-40-change-southeast-asias-manufacturing)

อุตสาหกรรม 1.0 : การผลิตหัตถอุตสาหกรรมด้วยเครื่องจักรกลพลังน้ำและพลังไอน้ำ

อุตสาหกรรม 2.0 : การผลิตจำนวนมากด้วยพลังไฟฟ้า (อันเป็นขั้นตอนของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน)

อุตสาหกรรม 3.0 : บูรณาการอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับหัตถอุตสาหกรรมที่ผลิตด้วยเครื่องจักรซึ่งคุมโดยคอมพิวเตอร์

อุตสาหกรรม 4.0 : การผลิตด้วยเครื่องจักรแทนคนบนพื้นฐานระบบไซเบอร์-กายภาพ, ข้อมูลขนาดใหญ่, การใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลและเก็บข้อมูลขนาดมหาศาลผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ

ที่มีอินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางเชื่อมต่อราวกับเป็นกลุ่มเมฆ ฯลฯ

โดยหลักการ โครงการก้าวกระโดดทางอุตสาหกรรมที่ว่านี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดังทฤษฎีการพัฒนาแบบผสมผสาน (theory of combined development) ที่เลออน ทรอตสกี้ (ค.ศ.1879-1940) หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมของรัสเซีย ค.ศ.1917 เคยเสนอไว้ถึง “อภิสิทธิ์ของความล้าหลังทางประวัติศาสตร์” ของประเทศที่ล้าหลังกว่าทั้งหลายในยุคทุนนิยม

ทรอตสกี้ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจรัสเซียต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่า ในแง่เทคโนโลยี ประเทศล้าหลังกว่าที่มาทีหลังทางเทคโนโลยี (technological latecomers) อย่างรัสเซียสมัยนั้นสามารถลัดข้ามขั้นตอน ไม่จำต้องเดินผ่านกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีทีละจังหวะก้าวเป็นขั้นเป็นตอนตายตัวเหมือนประเทศก้าวหน้ากว่าที่มาถึงก่อนทางเทคโนโลยีในยุโรปตะวันตก และกระโดดแผล็วเข้าฉวยคว้าเอาอย่างลอกเลียนผลิตผลสำเร็จรูปอันเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของโลกที่มีตอนนั้นในรูปแบบชนิดในอุดมคติ (ideal type) ได้เลย มิหนำซ้ำประเทศล้าหลังยังสามารถปรับปรุงมันให้สมบูรณ์แบบขึ้นอีกด้วย เขาอธิบายว่า :-

“ประเทศล้าหลังผสานกลมกลืนเอาดอกผลแห่งชัยชนะทางวัตถุและภูมิปัญญาของบรรดาประเทศก้าวหน้ามาเป็นของตน แต่นี่มิได้หมายความว่า ประเทศล้าหลังต้องเดินต้อยตามบรรดาประเทศก้าวหน้าเยี่ยงข้าทาสและผลิตซ้ำขั้นตอนทั้งปวงในอดีตของบรรดาประเทศก้าวหน้านั้นอีกครั้ง…

“ถึงแม้จะถูกบีบบังคับให้ตามหลังบรรดาประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ทว่าประเทศล้าหลังหาได้ดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบขั้นตอนเดียวกันไม่ อภิสิทธิ์ของความล้าหลังทางประวัติศาสตร์ – และอภิสิทธิ์ที่ว่านั้นดำรงอยู่จริง – อนุญาตหรือจะว่าไปแล้วก็บีบบังคับเอามากกว่าให้ต้องรับเอาอะไรก็แล้วแต่ที่สำเร็จเรียบร้อยอยู่แล้วก่อนวันกำหนดแน่ใดๆ และลัดข้ามเหล่าขั้นตอนระหว่างกลางต่างๆ ทั้งชุดไป คนป่าโยนคันธนูและลูกธนูของตนทิ้งแล้วรับเอาปืนเล็กยาวมาแทนในรวดเดียว โดยมิต้องท่องเดินหนทางซึ่งอยู่ระหว่างอาวุธทั้งสองชนิดนั้นในอดีต ชาวอาณานิคมยุโรปในอเมริกาหาได้เริ่มประวัติศาสตร์ใหม่หมดตั้งแต่จุดเริ่มต้นไม่ ความจริงที่ว่าเยอรมนีและสหรัฐแซงหน้าอังกฤษในทางเศรษฐกิจแล้วตอนนี้ถูกทำให้เป็นไปได้ก็โดยความล้าหลังแห่งการพัฒนาทุนนิยมของสองประเทศนั้นนั่นเอง”

(Leon Trotsky , History of the Russian Revolution Volume I, ค.ศ.1930)

การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของญี่ปุ่นและเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และของจีนปัจจุบันในชั่ว 30 ปีที่ผ่านมาจากอุตสาหกรรม 2.0 ไปสู่ 4.0 ช่วยยืนยันทฤษฎีดังกล่าวในทางเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ที่ซื่อตรงและสายตาแจ่มใสย่อมยอมรับว่าในกระบวนการเปลี่ยนเทคโนโลยีดังกล่าวในสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนได้กับคนเสีย (winners vs. losers) เป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้หมด หรือทุกคนเสียหมด

บางคนบางกลุ่มย่อมมีโอกาสใหม่ที่จะปรับตัวก้าวหน้ามั่งคั่งรุ่งเรืองไปกับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อีกบางคนบางกลุ่มย่อมเสียโอกาสหรือไม่สามารถปรับตัวได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดและถดถอยตกต่ำลงทั้งอาชีพฐานะรายได้ไปกับเทคโนโลยีที่ตกยุค

ภาษาเศรษฐศาสตร์คงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า trade-off หรือได้อย่างเสียอย่าง

ความข้อนี้ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนาตอนหนึ่งใน การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง (ค.ศ.1995) ของสตีเว่น ลุกส์

ในการสนทนาระหว่างผู้พิพากษาถ้วนเท่ากันกับ นิโคลาส การิทัต เรื่องหลักความยุติธรรมแบบประโยชน์นคร (ซึ่งถือหลักปรัชญาประโยชน์นิยมหรือ utilitarianism อย่างสุดโต่ง) การิทัตกล่าวว่า :

“ท่านกำลังบอกว่า” นิโคลาสถาม “ถ้าหากคนทั้งห้าบริสุทธิ์ ก็จะต้องบูชายัญ (sacrificed) พวกเขาเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยังงั้นหรือครับ?”

“แหม ภาษาของคุณจัดจ้านจังศาสตราจารย์” ผู้พิพากษากล่าว “ถ้าให้ผมพูด ผมจะไม่ใช้คำอย่างบูชายัญหรอก อันที่จริงนั่นเป็นแนวคิดที่แทบไม่มีใครเข้าใจในประโยชน์นคร มันเป็นอุปมาอุปไมยทางศาสนาที่ตกทอดมาจากอดีต ไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาพการณ์ของเราเท่าไรนัก ผมชอบอุปมาอุปไมยทางเศรษฐกิจหรือการค้ามากกว่า พูดอย่างนี้เถอะว่าสิ่งที่เราเผชิญวันนี้เป็นเรื่องของการได้อย่างเสียอย่าง” (trade-off)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การได้อย่างเสียอย่าง” ที่จะมากับอุตสาหกรรม 4.0 นั้นหนักหน่วงน่าห่วงเป็นพิเศษ ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้เกาะติดศึกษาค้นคว้าอุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นให้เห็นผลกระทบทางสังคมของมันอย่างเด่นชัด ต่างจากงานโฆษณาชวนเชียร์อย่างไม่ลืมหูลืมตาของผู้บริหารและเทคโนแครตทั่วไป – คือ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงผลกระทบต่อแรงงานว่า :

“ประเทศไทยมีสัดส่วนงานที่อยู่ในกลุ่มที่ถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติสูงถึง 72%

แรงงานได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

– แรงงานใหม่

– แรงงานที่ปรับตัวได้

– แรงงานที่ปรับตัวไม่ได้ : คนงานอายุมาก & การศึกษาน้อย

ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเชิงปริมาณ แต่เชิงคุณภาพด้วย

ความมั่นคงและสวัสดิการมีแนวโน้มลดลง

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ตรงที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ฝึกอบรมได้ยาก

ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ”

(กิริยา กุลกลการ, สไลด์เรื่อง “หนุ่มโรบอท สาวโรงงาน 4.0”, อบรมเชิงปฏิบัติการ Backpack Journalist, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, 7 ธ.ค. 2561)

ขณะที่เว็บไซต์ The ASEAN Post ก็สรุปว่า อุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนอาชีพขนานใหญ่ในเอเชียอาคเนย์ เฉพาะประเทศไทยจะมีกำลังแรงงานได้รับผลกระทบถึง 12% และตำแหน่งงานสูญเสียไป 4.9 ล้านตำแหน่งในช่วงสิบปีข้างหน้า

(ดูภาพขวาบน https://theaseanpost.com/article/critical-thinking-needed-upgrade-skills)

ดังนั้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ อาจยอมรับและตั้งคำถามกับโครงการอุตสาหกรรม 4.0 ในสังคมไทยว่า ใครได้? ใครเสีย? และจะจัดการแก้ไขบรรเทาอย่างไร? นั้น

ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ ก็คงอยากตั้งคำถามแบบรัฐศาสตร์บ้างว่า ในโครงการอุตสาหกรรม 4.0 ของสังคมไทยเรานั้น

ใครถูกบูชายัญ? (ทั้งในทางเศรษฐกิจและสัมพันธภาพทางอำนาจด้านการเมือง-กฎหมายและสิทธิเสรีภาพเพื่อให้รัฐทำโครงการดังกล่าวได้โดยสะดวกแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ)

และ ใครตัดสินใจ? (ที่จะเลือกใครให้ถูกบูชายัญ…)

ซึ่งเมื่อดูตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จำกัดจำเขี่ยอำนาจจากการเลือกตั้งของตัวแทนประชาชนไว้อย่างมัดมือชกแล้ว ก็อดสะทกสะท้อนใจไปกับข้อสังเกตของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่กล่าวในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อ 6 ธันวาคม 2561 ไม่ได้ว่า :

“…แผนยุทธศาสตร์ชาติคือเครื่องมือทางการเมืองไว้ใช้หยุดยั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เช่นเดียวกับกฎหมายวินัยทางการเงินการคลัง หลักการง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนโดยทหาร เพื่อทำให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนในประเทศไทยครองอำนาจอยู่ได้ มุ่งสกัดกั้นพรรคการเมือง อำนาจประชาชน ทำให้อำนาจฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจ เคยสู้กันจนตาย สุดท้าย ส.ว.มาจากการแต่งตั้งอีกครั้ง นี่คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีวัตถุประสงค์เดียวคือ ไม่ให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศไทย

“ต้องพูดความจริงแล้วว่า ระบบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่สังคมที่เราต้องการให้ลูกหลานเราอยู่ ผมไม่เข้าใจทำไมต้องหยวนๆ ให้ระบอบแบบนี้ การที่จะผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ ต้องกล้าเผชิญกับอภิสิทธิ์ชนกลุ่มนี้ อำนาจถูกดึงไปที่ใดทรัพยากรก็ไปอยู่ที่คนกลุ่มนั้น คืนอำนาจให้ประชาชนซะ…”

(https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_153711)