เปิดข้อเรียกร้อง – เจาะลึกจุดยืน “สตรีชายแดนใต้” หลังนายกฯ ประยุทธ์ปลดล็อกและเป็นนักการเมือง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

หลัง คสช. หรือนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลดล็อกทางการเมือง รวมทั้งประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว ปี่กลองการเลือกตั้งก็ดังขึ้นทั่วประเทศ แม้แต่คนแดนไกลอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคลื่อนไหว

สำหรับชายแดนใต้ก็ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสตรีมีทั้งผู้สมัคร ส.ส. กรรมการบริหารพรรค และผู้สนับสนุน แต่ที่มากที่สุดก็น่าจะผู้ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น โซ่ข้อกลางที่ดีที่สุดคือเครือข่ายประชาสังคมสตรีที่ชายแดนใต้

กล่าวคือ เครือข่ายประชาสังคมสตรีที่ชายแดนใต้ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อนำเสนอนโยบายให้รัฐบาลปัจจุบันและแต่ละพรรคการเมืองนำข้อเสนอของพวกเขาไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนใต้กว่า 14 ปีให้มากที่สุด

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 ถึงเดือนกันยายนปี 2561 พบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 20,029 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,871 ราย ได้รับบาดเจ็บ 13,460 ราย โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตมีผู้หญิงมากถึง 630 คน และบาดเจ็บ 2,557 คน และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเสียชีวิต 210 คน และบาดเจ็บ 786 คน

ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงที่มากขึ้น ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในเวทีเสวนาครั้งนี้ โดยหลายภาคส่วนได้เสนอให้คู่ขัดแย้ง ยุติการทำร้าย และละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง

โซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) กล่าวถึงบทบาทผู้หญิงในทางการเมืองว่า แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากขึ้นในการเลือกตั้งรอบนี้ ทั้งส่งผู้หญิงเป็นผู้สมัคร ส.ส. การให้ผู้หญิงเป็นกรรมการบริหารพรรค

แต่โดยรวม ยังถือว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจในพรรค/ทางการเมืองน้อยอยู่

ในรอบนี้เราเห็นผู้หญิงจากประชาสังคมหลายคนในชายแดนใต้ ผันตนเองสู่การทำงานให้พรรคการเมือง/เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบเต็มตัว ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างสีสัน แต่จะเป็นตัวเชื่อมต่อในการทำงานระหว่างผู้หญิงประชาสังคมกับพรรคการเมืองหลายๆ พรรคได้ในอนาคต

โดยเฉพาะในการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่บรรดาสตรีและประชาชนทั่วไป

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ที่สตรีมีความยากลำบากมากจากปัญหาที่ไม่พบในพื้นที่อื่น คือ ปัญหาจากสถานการณ์ความไม่สงบ

อีกทั้งอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่อื่น จึงอยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่นี่ด้วย นอกเหนือจากนโยบายในภาพรวม ทั้งในเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ การพัฒนาศักยภาพ การยกระดับสถานภาพ/บทบาท การปกป้องคุ้มครอง/เยียวยา และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น

ผู้เขียนได้เข้าร่วมเวทีที่สะท้อนเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ 2 เวที เวทีแรก สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 28 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งจัดที่จังหวัดนราธิวาส และเวทีสัมมนา “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3-4 ธันวาคม 2561 ที่จังหวัดสงขลา”

จากทั้ง 2 เวที เครือข่ายสตรีได้มีโอกาสเสนอข้อเสนอดังนี้

หนึ่ง ดำเนินตามมติสหประชาชาติที่ 1325 ทั้งระดับประเทศและชายแดนใต้

มติ 1325 เป็นการให้คำมั่นของสหประชาชาติในการจัดการปกป้องสิทธิผู้หญิงและรองรับกระบวนการสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งแสดงถึงการให้ความใส่ใจกับประเด็นเพศสภาพหรือมิติความสัมพันธ์หญิงชาย (gender) และประสบการณ์ของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรงและหลังเสร็จสิ้นสงคราม

ด้วยเหตุที่มติของสหประชาชาติก่อนหน้านี้กำหนดอยู่บนท่าทีที่เห็นว่าผู้หญิงคือเหยื่อของสงครามและความรุนแรง ดังนั้น นักเคลื่อนไหว ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรม และนักวิชาการด้านผู้หญิง สิทธิ และความมั่นคง ต่างเห็นว่ามติ 1325 เปิดโอกาสให้สังคมเห็นประสบการณ์ที่แตกต่างระหว่างหญิงและชายในสภาวะแห่งความขัดแย้ง มีการนิยามความรุนแรงทางเพศที่เกิดในสงครามว่าเป็นอาวุธแห่งการประหัตประหารมากกว่าเป็นความโชคร้ายโดยตัวของมันเอง ตลอดจนเน้นย้ำบทบาทของผู้หญิงรากหญ้าและผู้หญิงภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

สอง การสร้าง “พื้นที่ (สาธารณะ) ปลอดภัย”

สาระสำคัญคือเรียกร้องให้ผู้ถืออาวุธทุกฝ่ายให้ตระหนักและทำให้ตลาด ถนนสาธารณะ ศาสนสถาน โรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ที่ “ปลอดภัย” สำหรับทุกคน

โดย “พื้นที่ (สาธารณะ) ปลอดภัย” จำเป็นต้องขยายให้ครอบคลุมมากกว่าเป็นเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะการปราศจากความรุนแรงทางตรงเท่านั้น หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรวมไปถึงความปลอดภัยที่จะอภิปรายหรือถกเถียงกันในประเด็นที่อ่อนไหวเปราะบาง ซึ่งในบางแง่มุมก็เป็นเรื่องใจกลางของความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นอัตลักษณ์ทางการเมือง สิทธิในการกำหนดอนาคต และปัญหาความชอบธรรมในการปกครองนั่นเองซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง พลเรือน ทุกศาสนา ทุกชาติพันธุ์ให้ปลอดพ้นจากผลกระทบของปฏิบัติการทางทหาร รวมไปถึงต้องหนุนเสริมการสร้างพื้นที่สาธารณะปลอดภัยอย่างจริงจัง โดยต้องเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

2. ต้องทำให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขนั้นเปิดกว้าง เป็นที่ยอมรับต่อทุกฝ่าย และวางอยู่บนกติกาที่เป็นธรรมซึ่งปูทางไปสู่ผลลัพธ์ที่ได้ชัยชนะทุกฝ่าย

3. ควรสร้างบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ โดยให้ความสำคัญกับ “ความปลอดภัย” ที่มากไปกว่าการลดหรือยุติความรุนแรงทางตรง

4. รัฐบาลไทย (นี้และสมัยหน้า) ขบวนการต่อสู้ปาตานี องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งจะต้องดำเนินมาตรการที่หลากหลายเพื่อปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือปาตานี) ให้สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการถูกข่มขู่คุกคามจากทุกฝ่าย

5. รัฐบาล (นี้และสมัยหน้า) และหน่วยงานความมั่นคงจะต้องยืนหยัดในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม นิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน

สาม การสื่อสารที่ปลอดภัย

การสื่อสารที่ปลอดภัยเพื่อสร้าง รักษา และขยายพื้นที่ของการสื่อสารสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและเสริมอำนาจต่อรองของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างสันติภาพที่เปิดกว้างต่อผู้คนที่หลากหลาย

สี่ ศูนย์ประสานงานสันติภาพในระดับพื้นที่

จัดศูนย์ประสานงานในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกเริ่มต้นในการร่วมกันทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ กับภาคประชาสังคมและเป็นโซ่ข้อกลางกับประชาชน ในการสร้างสันติภาพในพื้นที่

หวังว่า ข้อเรียกร้องทั้งหลายของผู้หญิงชายแดนใต้จะส่งเสียงไปยังรัฐบาลปัจจุบัน (ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว) ทุกพรรคการเมืองที่นำข้อเสนอนี้สู่การปฏิบัติ รับรองจะได้เสียงจากสตรีที่มีคะแนนตุนมากกว่าผู้ชาย หรือแม้กระทั่งอาจมีผลต่อการลงคะแนนของพ่อบ้านและลูกๆ ก็เป็นได้

ท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากเครือข่ายสตรีชายแดนใต้ทำงานร่วมกับ “We Watch” ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระ (Free) ยุติธรรม (Fair) โดยสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้แต่จะต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ เพราะสถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระ ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่มีทั้ง “มาตรา 44” “ประกาศคณะ คสช.” และ “คำสั่งของหัวหน้า คสช.” คอยกำกับและชายแดนใต้ยังอยู่ใน#พื้นที่พิเศษภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ

1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ในพื้นที่จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จ.สงขลา รวมทั้ง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส